เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายประภัตร โพธสุธน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นประธานเปิดการอบรมส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีด ครั้งที่ 1
ภายใต้โครงการส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร แก้วิกฤตโควิด-19 ซึ่ง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จัดขึ้น โดยมีนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ มกอช. นายอาชว์
ชัยชาญ อธิบดีกรมการข้าว นายพิทักษ์ ชายสม ผู้อำนวยการกลุ่มมาตรฐานสุขอนามัยสัตว์
และนายชนวัฒน์ สิทธิธูรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มนโยบายระหว่างประเทศ
กองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ปศุสัตว์จังหวัด
หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมต้อนรับ ณ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย
อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
นายประภัตร โพธสุธน กล่าวว่า
รัฐบาลได้ตระหนักและมีความเป็นห่วงเกษตรกร และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ
และผลกระทบจากภัยพิบัติ
ทั้งอุทกภัยและภัยแล้งตลอดจนผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงมีนโยบายเร่งด่วนเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชน
ให้สามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้ ซึ่งวันนี้อาชีพหนึ่งที่น่าส่งเสริมมากที่สุด
คือ การเลี้ยงจิ้งหรีด เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว
และมีคุณประโยชน์ทางด้านโปรตีน ใช้ต้นทุนเพียง 4,500-5,000
บาท และปัจจุบันนจิ้งหรีดเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ได้แก่ สหรัฐฯ เม็กซิโก
นิวซีแลนด์ และประเทศในยุโรป
ดังนั้น จึงได้มีการจัดอบรมเกษตรกรผู้สนใจเลี้ยงจิ้งหรีด
เป็นอาชีพเสริม ในพื้นที่ 4 อำเภอ
ของจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ อำเภอวังน้ำทรัพย์ อำเภอวังยาง อำเภอดอนเจดีย์
และอำเภอสามชุก จำนวน 300 คน
พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์ในการเลี้ยงฟรี อาทิ ลังเลี้ยงจิ้งหรีด ไข่จิ้งหรีด รวมทั้งเปิดรับซื้อจิ้งหรีดคืนจากเกษตรกรกิโลกรัมละ
80 บาท นอกจากนี้ มีการสร้างโรงงานแปรรูปจิ้งหรีดผง
เพื่อส่งออกจำหน่ายให้กับตลาดต่างประเทศ
ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรเชื่อมั่นว่าเลี้ยงแล้วมีตลาดรองรับที่แน่นอน
ด้านนายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการ
มกอช. กล่าวว่า การส่งออกจิ้งหรีดไปยังประเทศต่างๆ
ฟาร์มจิ้งหรีดจะต้องได้การรับรองมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย
มกอช. ได้ประกาศมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เป็นมาตรฐานทั่วไป เพื่อสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อความปลอดภัยของผลิตผลจากจิ้งหรีด
โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรอง ดังนั้น
เกษตรกรที่เลี้ยงจิ้งหรีดจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน
และสามารถยื่นขอการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีด GAP ได้ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด
เมื่อผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วก็สามารถส่งจิ้งหรีดไปยังโรงงานแปรรูป
ทำให้กระบวนการส่งออกง่ายขึ้น เพราะดำเนินการตามเกณฑ์คู่ค้าต้องการ
รวมทั้งเป็นการขยายตลาดจิ้งหรีดของไทยไปทั่วโลก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น