การยกระดับอาหารพื้นถิ่น
ผลิตภัณฑ์ชุมชนและโอทอป
ให้ได้มาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค
โดยเฉพาะการขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้เอง
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ จึงได้มีแนวทางในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ได้เข้าถึงเทคโนโลยีการฉายรังสีในอาหารพื้นถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม
เปิดโอกาสในการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญกว่านั้น คือ
การสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่น ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต
วันนี้
พามารู้จักผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน
ผู้ผลิตอาหารพื้นถิ่นที่ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ Product Champion ของ
สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สทน. ได้แก่ น้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง ของ “นางสาวชลิตา วิจิตรสุข” กลุ่มวิสาหกิจชุมชน
ผู้ผลิตน้ำพริกจังหวัดอุทัยธานี หลังจากได้มีแผนที่จะขยายตลาด
จากน้ำพริกแบบผัดที่ทำสดๆ ซึ่งขายน้ำพริกได้เฉพาะในพื้นที่
ไม่สามารถยืดอายุการเก็บรักษา หรือขยายไปยังพื้นที่อื่นๆได้
ประกอบกับไม่สามารถตอบโจทย์ตลาดคนรุ่นใหม่
ด้วยเหตุนี้ ทาง “คุณชลิตา” จึงได้นำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการผลิตจากน้ำพริกแบบผัด
จนได้ออกมาเป็น “น้ำพริกผงอบแห้ง” ใช้เครื่องจักรเข้ามาช่วยในการทำ
ไม่ว่าจะเป็นการสลัดน้ำมันออกและไปผ่านกรรมวิธีการอบให้แห้งอีกครั้ง
ได้ออกมาเป็นน้ำพริกผง ที่ช่วยการกินน้ำพริกง่ายขึ้น บรรจุภัณฑ์ขวดที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้ง่าย
เวลากินก็แค่เพียง โรยลงบนอาหาร ก็สามารถรับประทานได้เลย
ซึ่งผลิตภัณฑ์ตัวแรกของทางกลุ่ม คือ น้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง
ผลตอบรับออกมาดีเกินคาด ได้กลุ่มลูกค้าพนักงานออฟฟิศ
และคนรุ่นใหม่ไม่มีเวลาเข้าครัว
อย่างไรก็ตาม
หลังจากได้น้ำพริกผงอบแห้งที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่แล้ว แผนต่อไปของเรา คือ
ต้องการขยายตลาดส่งออกต่างประเทศ
โดยต้องการที่จะนำสินค้าเข้าไปวางขายในแพลตฟอร์มของอาลีบาบา
ซึ่งการทำตลาดส่งออกสิ่งสำคัญ คือ ผลิตภัณฑ์อาหารของเราต้องปลอดภัย
ไม่มีสารปนเปื้อนใดๆ ดังนั้น เราจึงได้นำผลิตภัณฑ์ น้ำพริกปลาร้าทรงเครื่องมาฉายรังสีกับทาง
สทน. ในฆ่าเชื้อโรคและสารปนเปื้อนในน้ำพริก เพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาออกไปเป็น
1 ปี ถึง 2 ปี
อีกทั้งช่วยสร้างมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารให้กับ “น้ำพริกปลาร้าทรงเครื่อง”
เพราะการส่งออกไปขายในต่างประเทศ ด่านแรกคือ มาตรฐานความปลอดภัย
และในสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลกเช่นนี้
ยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการอาหารต้องให้ความสำคัญมาเป็นอันดับหนึ่ง
ปลาวงอบแห้ง เป็นการแปรรูปปลากระเบน
โดยการนำปลามาแหล่ และตากแห้งออกมาเป็นวงกลม ผลิตภัณฑ์ปลาวงอบแห้ง รายนี้ เป็นของ “นายนพดล แก้วช่วง” ผลิตภัณฑ์ปลาวงอบแห้ง
จากจังหวัดนนทบุรี ซึ่งสินค้าปลาวงอบแห้งของ “นพดล” วางขายในห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำหลายแห่ง
โดยเค้าได้นำนวัตกรรมการอบโอโซน และการบรรจุแพคสุญญากาศ เข้ามาใช้ในการยืดอายุ
และฆ่าเชื้อโรค เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาปลาวงอบแห้ง ให้สามารถวางจำหน่ายในซุปเปอร์มาร์เก็ตได้นาน
และปลอดภัย
นายนพดล เล่าว่า หลังจากนั้น
ได้มีการนำสินค้าไปร่วมออกบูทในงานแสดงสินค้าอาหาร ThaiFex
ของกระทรวงพาณิชย์ มีผู้ส่งออกหลายราย สนใจ
ผลิตภัณฑ์ปลาวงอบแห้งของเรา แต่ติดปัญหาเรื่องการผลิตได้มาตรฐาน
ปลอดภัยจากสารปนเปื้อน เพราะแค่การอบโอโซน ไม่สามารถการันตีด้านมาตรฐานการส่งออกได้
เนื่องจากการอบโอโซนฆ่าได้เฉพาะสารปนเปื้อน
แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้
ซึ่งต้องอาศัยเทคโนโลยีการฉายรังสีเข้ามาช่วย เราจึงได้มาร่วมกับทาง สทน.
เพื่อนำปลาวงอบแห้ง มาฉายรังสีในการฆ่าเชื้อโรค
และยังสามารถยืดอายุการเก็บรักษาเพิ่มได้เป็น 12 เดือน และ 18 เดือน ทำให้ได้ปลาวงอบแห้งที่มีคุณภาพ และเก็บได้นานขึ้น
รองรับการส่งออกปลาวงอบแห้ง ที่มีแผนจะส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป
และอเมริกาในอนาคตอันใกล้นี้
ครั้งแรกคนไทยรู้จัก “กบแดดเดียว”
นวัตกรรมอาหารพื้นถิ่น
ผลิตภัณฑ์ แปรรูปปลาหมอ และกบแดดเดียว
กลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดลพบุรี โดยประธานกลุ่ม “นายวัชระ หินดี” เล่าถึง ผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาหมอ
และกบแดดเดียว ว่า ที่มาของการรวมกลุ่มทำปลาหมอ และกบแดดเดียว แบรนด์
คิดฮอตในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจาก ในพื้นที่ชาวบ้าน เลี้ยงกบ และเลี้ยงปลาหมอ
กันเป็นจำนวนมาก ก็เลยเกิดความคิดว่า
ถ้าอย่างนั้นเรามารวมกลุ่มกันสร้างมูลค่าเพิ่ม ด้วยการแปรรูปกบและปลาหมอ
เพื่อขยายตลาดให้กว้างขึ้นทั้งในประเทศ และส่งออกต่างประเทศ
ทำให้กลุ่มของเราเป็นรายแรกที่นำกบมาทำเป็นกบแดดเดียว
ที่ได้มาตรฐานซึ่งยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน
หลังจากได้กบและปลาหมอแดดเดียว
เรามีปัญหาเรื่องการจัดเก็บ ที่ไม่สามารถเก็บได้นาน
เราจึงได้นำผลิตภัณฑ์ของเราเข้าร่วมในโครงการ สทน.
เพื่อนำกบและปลาหมอแปรรูปของเรามาฉายรังสี ฆ่าเชื้อและสารปนเปื้อน
เป็นนวัตกรรมในการถนอมอาหารให้มีอายุการเก็บรักษาได้ยาวนานขึ้น เพื่อให้เราสามารถส่งออกกบและปลาหมอแดดเดียวที่ได้คุณภาพ
และมาตรฐานไปต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องติดปัญหาเรื่องการเก็บรักษา
และมาตรฐานการส่งออก และสุดท้าย คือ การที่เราได้ช่วยเหลือเครือข่ายชุมชน
ผู้เลี้ยงกบ และปลาหมอ ให้มีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืนต่อไป
อาหารหมักดองเพื่อสุขภาพ สูตรลดโซเดียม ลดน้ำตาล
นายฉลาด สมบุณยะวิโรจน์
เจ้าของผลิตภัณฑ์ อาหารหมักดอง สูตรลดโซเดียมและน้ำตาลต่ำ
เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัล โครงการ Product Champion ในครั้งนี้ ได้มาเล่าถึง
ผลิตภัณฑ์อาหารหมักดอง สูตรลดโซเดียมและน้ำตาลต่ำ ว่าเป็นนวัตกรรมอาหารหมักดอง
เพื่อสุขภาพที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน และเรายังได้จดอนุสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว
โดยต้องการที่เจาะกลุ่มตลาดคนรักสุขภาพที่ปัจจุบันมีเพิ่มมากขึ้น ทั่วโลก
โดยแนวทางของเราต้องการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ แต่ติดปัญหาในเรื่องของอายุการเก็บรักษา
และถ้าต้องยืดอายุ ด้วยการใส่สารกันบูด
ซึ่งจะไม่ตรงกับคอนเซ็ปต์ของเราในการเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ
ก็เลยเลือกนำผลิตภัณฑ์ของเรา มาผ่านการฉายรังสี
เพราะหลังจากได้ศึกษาถึงความปลอดภัย เทคโนโลยีการฉายรังสี ยิ่งทำให้เรามั่นใจว่า
การฉายรังสี ช่วยตอบโจทย์ด้านการส่งออกของเราได้อย่างแน่นอน
สทน. จัดประกวด Product
Champion ยกระดับอาหารพื้นถิ่น
ด้วยการฉายรังสี
โดยทางสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ
สทน. ได้จัดกิจกรรม โครงการ Product
Champion ขึ้น เริ่มจากในพื้นที่ภาคกลาง ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) ประกอบด้วยมรภ.พระนครศรีอยุธยา มรภ.ธนบุรี
และมรภ.ราชนครินทร์
ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างมูลค่าให้กับอาหารพื้นถิ่น
ด้วยการฉายรังสีอาหารประจำปี 2564
โดยมีการเปิดรับสมัครผลิตภัณฑ์ “อาหารพื้นถิ่น” ในพื้นที่ภาคกลาง 20 จังหวัด เข้าร่วมประกวดโครงการ “Product
Champion” ตั้งแต่เดือนเมษายนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 179 ผลิตภัณฑ์ / 156 ผู้ประกอบการ โดยมีเกณฑ์พิจารณาที่สำคัญ คือ
เป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ชุมชน และสามารถใช้รังสีในการยกระดับคุณภาพหรือมูลค่า
เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
ด้าน รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์
ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ประธานในพิธีมอบรางวัล Product Champion กล่าวว่า การจัดประกวดในครั้งนี้
มีผู้ผ่านการคัดเลือก ให้ได้รับรางวัลจำนวน 9 ราย
แบ่งตามจุดดำเนินการ ดังนี้ จุดดำเนินการที่ 1
มรภ.พระนครศรีอยุธยา รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวชลิตา วิจิตรสุข ผลิตภัณฑ์
ปลาร้าทรงเครื่อง จ.อุทัยธานี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1
ได้แก่ นายวัชระ หินดี ผลิตภัณฑ์ กบแดดเดียว จ.ลพบุรี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ นางเพ็ญ วิเศษศักดิ์ ผลิตภัณฑ์ ปลาช่อนแดดเดียว จ.สิงห์บุรี
จุดดำเนินการที่ 2 มรภ.ธนบุรี รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นายฉลาด
สมบุณยะวิโรจน์ ผลิตภัณฑ์ "อาหารหมักดอง สูตรลดโซเดียมและน้ำตาลต่ำ"
กทม. รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ นายนพดล แก้วช่วง
ผลิตภัณฑ์ ปลาวงอบแห้ง จ.นนทบุรี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2
ได้แก่ นางธัญภัทร โพธิ์ร่มไทร ผลิตภัณฑ์ กะปิ จ.สมุทรสาคร จุดดำเนินการที่ 3 มรภ.ราชนครินทร์ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวกนกวรรณ ธนพัฒนากุล
ผลิตภัณฑ์ ชากระวาน จ.จันทบุรี รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1
ได้แก่ นางสาวสุราวรรณ วงศ์ฟัก ผลิตภัณฑ์ ปลาสลิดแดดเดียว จ.ฉะเชิงเทรา
รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ นายปกรณ์ ตั้งพาณิชย์
ผลิตภัณฑ์ ข้าวตัง จ.เพชรบุรี
สำหรับผู้ชนะเลิศในแต่ละจุดดำเนินการ
จะได้รับเงินรางวัล มูลค่า 10,000 บาท นอกจากนี้ ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับที่ 1
และ 2 จะได้รับโล่และใบประกาศ
พร้อมสิทธิพิเศษจาก สทน.ในโครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมฉายรังสี
หรือเรียกว่า คูปองSMEs Free 20,000 บาท ด้วย ซึ่งหลังจากนี้
นักวิจัยของสทน. จะได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการที่ชนะเลิศ
เพื่อวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพมาตรฐาน ด้วยเทคโนโลยีการฉายรังสีต่อไป