นายชัฐพล
สายะพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 ชลบุรี
(สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า
ปัจจุบันไม้ดอกไม้ประดับมีความสำคัญในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง ยารักษาโรค
รวมถึงธุรกิจด้านการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ไม้ดอก
ไม้ประดับบางชนิดยังสามารถดูดซับสารพิษในอากาศได้เป็นอย่างดี
ซึ่งไม้ดอกไม้ประดับที่มีระดับการดูดสารพิษมากและมีการปลูกมากในประเทศไทย ได้แก่
ต้นหนวดปลาหมึก ยางอินเดีย บอสตันเฟิร์น พลูด่าง หมากเหลือง กล้วยไม้พันธุ์หวาย
เป็นต้น นับว่าเป็นสินค้าทางเลือกที่มีอนาคต ตลาดมีความต้องการสูง
และเป็นสินค้าทางเลือกหนึ่งที่มีศักยภาพในการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
ปัจจุบันมีการปลูกไม้ดอกไม้ประดับอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ
ซึ่งจังหวัดนครนายกเป็นแหล่งผลิตไม้ดอกไม้ประดับที่สำคัญอันดับ 9
ของประเทศประกอบกับจังหวัดนครนายกมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยวรวมถึงอยู่ติดกับกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าและประชาชนมีกำลังซื้อสูง
โดยมีพื้นที่ปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร (ข้อมูล ณ
วันที่ 1 กันยายน 2564) จำนวน 766 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูก 377 ราย
เกษตรกรมีการปลูกทั้งแบบรายเดี่ยวและ การรวมกลุ่มผลิตในรูปของกลุ่มเกษตรกร
สศท.6
ได้ดำเนินการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนไม้ประดับดูดสารพิษ จังหวัดนครนายก
กรณีศึกษาต้นหนวดปลาหมึก
ซึ่งเป็นไม้ดอกไม้ประดับที่มีคุณสมบัติในการดูดสารพิษในระดับมากและเกษตรกรในจังหวัดนครนายกมีการผลิตมาก
โดยจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ราย
ผลการศึกษาเบื้องต้น พบว่า มีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 124,450
บาท/ไร่/รอบการผลิต (แบ่งเป็นต้นทุนการเพาะปลูก 73,990 บาท
และต้นทุนการจำหน่าย 50,460 บาท) ในระยะเวลา 1 ปี สามารถปลูกได้ 2 รอบการผลิต
เกษตรกรนิยมปลูกในถุงดำขนาด 5 นิ้ว ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 10,000 ต้น
โดยเกษตรกรใช้กิ่งพันธุ์จากต้นแม่พันธุ์ของตนเองนำมาปักชำ ใช้ระยะเวลาการปลูก 2
– 6 เดือน เกษตรกร จะเริ่มจำหน่ายเมื่อมีอายุต้น 2 เดือน และบางส่วนจะนำมาเปลี่ยนขนาดถุงเป็น 8 นิ้ว
และดูแลต่อเนื่องจนมีอายุ 6 เดือน จึงจะจำหน่าย
ราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ เดือนสิงหาคม 2564 ขนาดถุงดำ 5 นิ้ว อยู่ที่ 9 บาท/ต้น และขนาดถุงดำ 8 นิ้ว อยู่ที่ 32 บาท/ต้น
เกษตรกรได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 196,122 บาท/ไร่/รอบการผลิต
ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 71,672 บาท/ไร่/รอบการผลิต
ทั้งนี้ การจำหน่ายไม้ดอก ไม้ประดับขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด เกษตรกรจึงมีการผลิตไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดและปริมาณการผลิตไม้ดอก
ไม้ประดับแต่ละชนิดในจำนวนไม่มาก
ด้านสถานการณ์ตลาด พบว่า
ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 50
จำหน่ายให้กับผู้ซื้อรายย่อยที่นำไปจัดสวนของตนเอง รองลงมา ร้อยละ 30 จำหน่ายให้กับนักจัดสวนและบริษัทรับจัดสวน และร้อยละ 20 จำหน่ายให้พ่อค้าจังหวัดใกล้เคียงและต่างจังหวัด
ซึ่งมารับซื้อเพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย
นอกจากนี้เกษตรกรบางรายมีการจำหน่ายทางออนไลน์ผ่าน Facebook ของของตนเอง
และจัดส่งผ่านบริษัทขนส่งเอกชนในพื้นที่
ผู้อำนวยการ สศท.6
กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดนครนายกได้มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาไม้ดอกไม้ประดับ โดยมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต
(พันธุ์พืช การผลิต การดูแลรักษา) ลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรกร
การบริหารจัดการผลผลิต รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีการตลาดและระบบขนส่ง
เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด และการเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างผู้ค้าและผู้ผลิต
ทั้งนี้ เกษตรกรควรระมัดระวังในเรื่องวัสดุปลูก คือ ขี้เถ้าแกลบ
ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในการผลิต
โดยขี้เถ้าแกลบที่ไม่ได้คุณภาพหรือมีการปนเปื้อนทำให้ต้นกล้าไม้ตายหรือเจริญเติบโตไม่ดี
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าว
สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการปรับเปลี่ยนการผลิต
หรือเพิ่มชนิดสินค้าในการผลิตสำหรับเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกร
หากท่านใดสนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.6
โทร 0 3835 1261 หรืออีเมล zone6@oae.go.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น