วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2564

มาตรฐานใหม่ “มกษ.7436-2563” เสริมความมั่นใจสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค กรมประมงพร้อมเปิดรับรองพร้อมกันทั่วประเทศ ต.ค.นี้


 

            จากกระแสเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารต้องมีการปรับตัวอยู่อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในช่วงปีที่ผ่านมาทั่วโลกต่างต้องเจอกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น 

              มาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตอาหารสัตว์น้ำจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการระบบการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยอาหารให้กับผู้บริโภค สอดคล้องกับนโยบายด้านการผลิตสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมประมงมีเป้าหมายที่จะผลักดันให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทยได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการผลิตที่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคและครอบคลุมมิติอื่นๆ ในระดับสากล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ด้านส่งเสริมความยั่งยืนให้สินค้าประมงไทยเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก ตลอดจนพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรไทย



            ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมงตอบสนองนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในเรื่องของมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food Safety) ของผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน กรมประมงเปิดขอบข่ายให้การรับรองมาตรฐานเพิ่มอีก 2 มาตรฐาน มาตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาเพื่อเปลี่ยนผ่านมาตรฐาน GAP ของกรมประมง เป็นGAP มกษ. ได้แก่ 1.มกษ. 74212561 การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับฟาร์มเพาะและอนุบาลสัตว์น้ำจืด 2.มกษ. 74342562 การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี สำหรับฟาร์มสาหร่ายทะเล และในปี พ.ศ. 2563 คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรขึ้น คือ มกษ.7436-2563 การปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค เป็นมาตรฐานทั่วไป หรือมาตรฐานสมัครใจ ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐาน GAP มกษ. ขั้นพื้นฐาน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ประกาศกำหนดขึ้น



สำหรับมกษ. 74362563 สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภค มีขอบข่ายครอบคลุมกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์น้ำ ทั้งการเลี้ยงในบ่อและการเลี้ยงในแหล่งน้ำสาธารณะ ตั้งแต่การเลี้ยง การจับ จนถึงหลังการจับก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม แต่ไม่ครอบคลุมสัตว์น้ำ 3 ชนิด ได้แก่ จระเข้ สาหร่ายทะเล และกุ้งเครย์ฟิช โดยประกอบด้วยข้อกำหนด 9 ข้อสำคัญ ดังนี้ 1.สถานที่ 2.การจัดการเลี้ยง 3. การจัดการคุณภาพสัตว์น้ำ 4. การใช้ยาสัตว์ สารเคมี และผลิตภัณฑ์จุลชีพ 5.สุขลักษณะภายในฟาร์ม 6.การจัดการน้ำทิ้ง 7.การจับและการปฏิบัติหลังการจับก่อนการขนส่งออกจากฟาร์ม 8.ผู้ปฏิบัติงาน และ 9.การเก็บหลักฐานและการบันทึกข้อมูล ซึ่งหากปฏิบัติตามและได้รับการรับรองมาตรฐานจะช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าผลผลิตสัตว์น้ำที่ได้มีคุณภาพและปลอดภัยต่อการบริโภค อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าเพื่อปิดช่องว่างการกีดกันทางการค้าจากประเทศคู่ค้าอื่นๆ ในด้านการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไทย



รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า เนื่องจากมาตรฐานนี้เป็นมาตรฐานสมัครใจ กรมประมงขอเชิญชวนเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่สนใจ ยื่นคำขอรับการตรวจรับรองมาตรฐาน มกษ. 7436-2563 สำหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการบริโภคได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ณ สำนักงานประมงจังหวัดหรือศูนย์ฯ ทุกแห่งในพื้นที่ที่ฟาร์มตั้งอยู่ หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น (กมป.) อาคารเชิดชาย อมาตยกุล ชั้น 5 กรมประมง เกษตรกลาง แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทรศัพท์ 0-2579-7738 02-558-0189  อีเมล : fcstd03@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...