วันที่ 29 กันยายน ๒๕๖๔ นายประภัตร โพธสุธน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เป็นประธานและร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU)
โครงการส่งเสริม
และสนับสนุนการนำมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ.) ไปปฏิบัติใช้สำหรับตลาดกลาง ระหว่าง
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) และ
สมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย (TAWMA) โดยมี
นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และ
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ นายกสมาคมการค้าตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย เป็นผู้ลงนาม
ณ ห้องประชุม ๕๑๑ อาคาร ๕ ชั้น ๑ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านเกษตรกรรมของประเทศ
รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่มีส่วนช่วยสนับสนุนให้ ตลาดกลางสินค้าเกษตรไทย
ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบห่วงโซ่คุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าเกษตร
โดยเฉพาะการบริหารจัดการสินค้าเกษตรเข้าสู่ตลาด เพื่อให้สินค้าคงคุณภาพ
จนถึงปลายทางผู้บริโภค โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้
ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว
จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการผลิตและจัดการการค้าสินค้าเกษตรของประเทศ
ให้มีคุณภาพ ปลอดภัย ได้รับความเชื่อถือ และนำพาประเทศให้ก้าวสู่การเป็นตลาดชั้นนำที่มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล
นายพิศาลฯ เปิดเผยว่า
การลงนามในครั้งนี้เกิดขึ้นโดย มกอช.
ได้หารือร่วมกับสมาคมการค้าตลาดกลางสินค้าเกษตรไทย
ในการส่งเสริมและสนับสนุนการนำมาตรฐานสินค้าไปปฏิบัติใช้สำหรับตลาดกลาง
เริ่มตั้งแต่การคัดแยกคุณภาพ ตัดแต่ง บรรจุ ตลอดจนการขนส่ง เพื่อให้สินค้าคงคุณภาพ
ลดการสูญเสีย จนถึงปลายทางผู้บริโภค
การวางระบบมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตรสำหรับตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตรไทย
ถือเป็นกลไกสำคัญ ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้าเกษตร
ช่วยอำนวยความสะดวกในการค้า และสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพ ความปลอดภัย
รวมถึงสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตได้
ทั้งนี้ มีแผนการดำเนินงานแบ่งเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะ Quick win คือแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน โดย มกอช. และสมาคมฯ
ได้กำหนดให้มีการจัดพิธีลงนามในวันนี้ รวมถึงการอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ให้มีความรู้ ความเข้าใจ มาตรฐานสินค้าเกษตรและระบบการรับรอง รวมถึงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ
การดำเนินงานในระยะที่ 1
การจัดทำคู่มือปฏิบัติงานและพัฒนาต้นแบบการจัดการสินค้าเกษตร ตามมาตรฐาน โดยนำร่องที่ “ตลาดไท”
ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน
และมีความสำคัญมากต่อห่วงโซ่ของสินค้าเกษตรและอาหาร การดำเนินงานในระยะที่ 2 เป็นการจัดทำมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยและคุณภาพตลาดกลางสินค้าเกษตร
และการดำเนินงานในระยะที่ 3
เป็นการเตรียมความพร้อมระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานและจัดทำระบบ Supply
Chain จากนั้นจะนำต้นแบบจาก “ตลาดไท” ขยายผลไปยังตลาดกลางสินค้าเกษตรแห่งอื่นเพิ่มเติมในปีถัดไป
ด้านนายประดิษฐ์ฯ
กล่าวว่า สมาคมฯ
ให้ความสำคัญในการพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อใช้เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ผลิต
ผู้ซื้อ ผู้ขาย ให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพสินค้าเกษตร โดยสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับ
มกอช. ในการพัฒนาตลาดกลางต้นแบบด้านการจัดการความปลอดภัยและคุณภาพตลาดสินค้าเกษตร โดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน
เช่น ผู้ซื้อจะได้รับสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานตรงกับความต้องการ
ผู้ขายมีความมั่นใจในสินค้าเกษตร ส่งผลให้การซื้อขายมีความสะดวกรวดเร็ว
รวมทั้งตลาดมีพื้นที่จัดสรรและหมุนเวียนเพื่อการซื้อขายสินค้าเกษตรมากขึ้น
ภายใต้ความเป็นธรรมในการค้าขายสินค้าเกษตร
รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นทางด้านอาหารในช่วงสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิด-๑๙
อีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น