วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563

CP FreshMart ฉลองเปิดสาขาแรก "รวมพลความสด คุณภาพดี" เสิร์ฟชาวเชียงใหม่


 


นายวีระพันธ์ ดีอ่อน ปลัดจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชลากร อัศวอิทธิฤทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด ดูแลร้านซีพี เฟรชมาร์ท ในพื้นที่เขตภาคเหนือตอนบน ร่วมเปิดร้านซีพี เฟรชมาร์ท สาขาหางดง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นร้านรูปแบบใหม่สาขาแรกของจังหวัด ที่มีความทันสมัยตอบรับวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal ด้วยแนวคิด "สดทุกวัน ส่งถึงคุณ" รวมพลความสด คุณภาพดี ในราคาเป็นกันเอง พร้อมให้บริการส่งถึงบ้าน เพิ่มความสะดวกในทุกมื้อดีๆ ของทุกๆ วัน



ในวิถีปกติใหม่คนนิยมที่ปรุงอาหารทานที่บ้านมากขึ้น และยังต้องการความสะดวกและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพ สด สะอาด ปลอดภัย CP FreshMart ซึ่งเป็นมินิซูเปอร์มาร์เก็ตที่อยู่ใกล้ชุมชน ได้นำสินค้าสดที่หลากหลาย ด้วยแนวคิดสดทุกวัน ส่งถึงคุณ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้ ตอบสนองมาตรการระยะห่างทางสังคมและลดโอกาสการแพร่เชื้อ โดยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้ทยอยเปิดสาขาอย่างต่อเนื่องในหลายจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน และกำลังจะเปิดในตัวเมืองแพร่เร็วๆ นี้ ตั้งเป้า 30 สาขาภายในสิ้นปีนี้นายชลากร กล่าว



ร้าน CP FreshMart โฉมใหม่ มินิซูเปอร์มาร์เก็ตที่รวมอาหารสด สะอาด ปลอดภัย คุณภาพดี ทั้งหมูสด ไก่สด เนื้อโคขุนและกุ้งสดพรีเมียม ที่ส่งตรงจากฟาร์มทุกวัน พร้อมเสิร์ฟสถานีชาบู-หมูกระทะ ที่มีทั้งเนื้อหมู-เนื้อไก่ปรุงรส ลูกชิ้นหลากหลายประเภท และยังมีอาหารทะเลด้วย โดยสินค้าจะเก็บรักษาคุณภาพด้วยตู้แช่เย็น เทคโนโลยีใหม่ระบบ Double Cooling ที่มีการกระจายความเย็นได้ทั้งด้านบนและด้านล่างควบคู่กัน ช่วยรักษาคงความสดใหม่ของสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญยังเป็นระบบ Eco friendly ใช้พลังงานน้อย ขณะเดียวกัน ยังมีผักและผลไม้สดนานาชนิด อาหารพร้อมปรุง อาหารพร้อมทาน และอาหารแห้ง รวมถึงเครื่องปรุงต่างๆ และเครื่องดื่มอย่างครบครัน เพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในปัจจุบันกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว



สำหรับ CP FreshMart สาขาหางดง เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 6.00-21.00 น. พร้อมจัดโปรโมชั่นและสินค้าราคาพิเศษมากมาย นอกจากนี้ ยังให้บริการสั่งซื้อผ่านโทรศัพท์ 095-371-4364 โดยร้านจะจัดส่งอาหารในรัศมี 5 กิโลเมตร ให้ถึงมือผู้รับภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเป็นการตอบโจทย์วิถีปกติใหม่ได้อย่างลงตัว

วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ซีพีเอฟ มอบน้ำดื่มบรรเทาความเดือดร้อนแก่ชาวสุโขทัยผู้ประสบภัยน้ำท่วม


 


นายมนตรี พร้อมวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจง รับมอบน้ำดื่มซีพีและไข่ไก่สด จาก นายกฤษณพงษ์ ทิพโสต ผู้แทน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เพื่อนำไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน ให้กับประชาชนชาวสุโขทัยที่ประสบภัยน้ำท่วมจากอิทธิพลของพายุฮีโกส ทำให้แม่น้ำยมน้ำเอ่อล้นตลิ่งเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลคลองกระจง หมู่ 7 ต.คลองกระจง อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย จากนั้นชาวซีพีเอฟจิตอาสาได้ร่วมกันลงพื้นที่มอบน้ำดื่ม แก่ชาวชุมชนบ้านหนองปลาหมอ ต.คลองกระจง เพื่อเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องประชาชนผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน



วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2563

ซีพีเอฟ โชว์ “กุ้งซีพี แปซิฟิก” คุณภาพสูง ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมสร้างความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมกุ้งและเกษตรกรไทย


 

   

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ซีพีเอฟ เดินหน้าขับเคลื่อน ความยั่งยืนมุ่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพได้มาตรฐานปลอดภัย ด้วยความรับผิดชอบตลอดห่วงโซ่อุปทาน นำ "กุ้งซีพี แปซิฟิกผลิตภัณฑ์อาหารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในคุณภาพของสินค้าและสุขอนามัยที่ดี จากระบบการเลี้ยงที่ช่วยรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมในระยะยาว   


   

นายสัตวแพทย์สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นส่งเสริมกระบวนการผลิตกุ้งบนพื้นฐานของความยั่งยืน ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนำเทคโนโลยีขั้นสูงและนำนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้ง 3 สะอาด ระบบหมุนเวียนน้ำและระบบไบโอซีเคียวริตี้มาเชื่อมโยงกันในกระบวนการเลี้ยงกุ้ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ลดความเสี่ยงจากโรคของกุ้ง โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ระบบการเลี้ยงกุ้งของซีพีเอฟ ให้ความสำคัญต่อการดูแลห่วงโซ่อุปทานอย่างรอบด้าน เริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการใช้วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ สู่ฟาร์มเลี้ยงตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพันธุ์กุ้งที่โตไวด้วยเทคโนโลยีการผลิตลูกพันธุ์กุ้งที่ทันสมัย ได้ลูกพันธุ์ที่โตไว สะอาด แข็งแรง ต้านทานโรค ไร้สารตกค้าง และวิธีการเลี้ยงอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการตามมาตรฐานสากล เพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยงจากวิกฤตของโรคระบาดต่างๆ สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อความยั่งยืนของอุตสาหกรรมกุ้ง ตลอดจนการจ้างแรงงานถูกกฎหมาย



ในสภาวะที่การแข่งขันในตลาดโลกทวีความรุนแรงมากขึ้นและสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพ สะอาด ปลอดภัย ผ่านกระบวนการผลิตอาหารที่ได้มาตรฐานสากลจากผู้ผลิตที่ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิตและรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นใจอาหารปลอดภัยจากฟาร์มถึงโต๊ะอาหารอย่างยั่งยืน ซึ่งกุ้งซีพี แปซิฟิก ตอบทุกโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ทั้งความสด รสหวาน เนื้อแน่น อร่อย และเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลกน.สพ.สุจินต์ กล่าว



สำหรับหลักการเลี้ยงกุ้ง 3 สะอาด ประกอบด้วย การใช้ลูกพันธุ์กุ้งที่สะอาด ปลอดโรค น้ำที่ใช้เลี้ยงกุ้งสะอาดปราศจากเชื้อก่อโรค และมีการบำบัดเพื่อลดปริมาณสารอินทรีย์ก่อนนำมาใช้ รวมทั้งการจัดการบ่อเลี้ยงให้สะอาด และมีระบบการจัดการพื้นบ่อที่ดีไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อก่อโรค นอกจากนี้ ระบบหมุนเวียนน้ำหรือการรีไซเคิลน้ำมาใช้ในฟาร์มเลี้ยงกุ้ง ช่วยลดการพึ่งพาน้ำจากภายนอก ลดความเสี่ยงของโรคที่มาจากแหล่งน้ำ ซึ่งเป็นระบบที่ไม่ปล่อยของเสียจากการเลี้ยงออกไปสู่สิ่งแวดล้อม

น.สพ.สุจินต์ ยังได้กล่าวถึง ภาพรวมการผลิตในอุตสาหกรรมกุ้งของไทยปีนี้  ใกล้เคียงกับปีที่แล้วอยู่ที่  2.8 แสนตัน ขณะที่การผลิตทั่วโลกอยู่ที่  3 ล้านตัน ในส่วนของซีพีเอฟปีนี้ผลิตได้ดีกว่าปีที่แล้ว  เพราะเราสามารถบริหารจัดการเรื่องโรคได้เป็นอย่างดี  

ซีพีเอฟ ยังคงมุ่งมั่นผลิตอาหารคุณภาพปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เพียงพอต่อการบริโภคทั้งในประเทศและประชากรโลก และรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน.

มกอช.เปิดสัมมนา จนท.ประจำด่านตรวจพืช เติมความรู้ระบบกำกับดูแลนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับอย่างมีประสิทธิภาพ

         เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้มอบหมายนายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการกำกับดูแลการนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจพืช และผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 64 คน เข้าร่วมสัมมนา ณ สวนนงนุชพัทยา จ.ชลบุรี



           นายครรชิต สุขเสถียร รองเลขาธิการ มกอช. กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานตรวจสอบการส่งออก นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับระหว่างกองควบคุมมาตรฐาน และเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจพืชได้มีการสรุปผลการปฏิบัติงาน รวมทั้งศึกษาดูงานการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรในอนาคตกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้รับเกียรติจากนาวาเอกพิทักษ์ เทพทา หัวหน้าฝ่ายอำนวยการการท่าอากาศยานอู่ตะเภา ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ เพื่อสามารถนำไปปรับใช้เป็นแนวทางให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินการต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2563

มกอช.มอบสติ๊กเกอร์เครื่องหมาย​ Q​ แก่เกษตรกร​ สร้างความตระหนักในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน

           ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานพิธีเปิดโครงการเสริมสร้างความตระหนักในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) และระบบตรวจสอบรหัสรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรกลุ่มเป้าหมาย สามารถเข้าถึงการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผ่านทางออนไลน์​ พร้อมทั้งมอบสติ๊กเกอร์แสดงเครื่องหมาย ให้แก่เกษตรกรที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน​ ณ โรงแรมคลาสสิก คามิโอ อยุธยา 



          ดร.จูอะดี เปิดเผยว่า มกอช. ได้ออกกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้สินค้าเกษตรเป็นมาตรฐานบังคับ จำนวน 7 มาตรฐาน และออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดมาตรฐานทั่วไปสำหรับสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับ             การผลิตพืชอาหาร คือ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) เพื่อยกระดับสินค้าเกษตรที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ                 ทั้งนี้​ ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ได้กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ ต้องแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ รวมถึงผู้ผลิตสินค้าเกษตรตามมาตรฐานทั่วไปที่มีความต้องการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไป จะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ลักษณะของเครื่องหมาย การใช้เครื่องหมายและการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานกับสินค้าเกษตร แต่ในปัจจุบันมีผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ และผู้ผลิตตามมาตรฐานทั่วไปที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรตามกฎกระทรวงดังกล่าว



          มกอช. จึงจัดทำโครงการเสริมสร้างความตระหนักในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน และระบบตรวจสอบรหัสรับรองมาตรฐาน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรกลุ่มเป้าหมาย ให้สามารถเข้าถึงการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผ่านทางออนไลน์ และสร้างแรงจูงใจในการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้คัดเลือกเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย โดยต้องเป็นผู้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) และได้รับการตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรจากห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 รวมทั้งได้สนับสนุนวัสดุนำร่องสำหรับใช้แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน เพื่อเป็นการสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพได้มาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

          “มกอช.ได้เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานให้เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ โดยการขยายทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ ดีจีทีฟาร์ม(DGT Farm) ซึ่งผู้บริโภคสามารถตามสอบแหล่งที่มาของสินค้าได้โดยการสแกนคิวอาร์โค้ด ระบบตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace) โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายจากหลายจังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการ จำนวนทั้งสิ้น 70 ราย​ โดยประกอบด้วยสินค้าเกษตรหลายชนิด เช่น เมล่อน ส้มโอ สับปะรด มังคุด อินทผาลัม กล้วยน้ำว้า กล้วยหอมเขียว แตงโม มะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น” ดร.จูอะดี กล่าว



 

          นอกจากนี้ เลขาธิการ มกอช. พร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมแปลง นาวิต้าเมล่อนฟาร์ม ตำบลบ้านเพลง อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการคัดเลือกให้เป็นแปลงต้นแบบในการปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) และมีผลตรวจสารพิษตกค้างในสินค้าเกษตรปลอดภัยตามที่มาตรฐานกำหนด รวมทั้งสามารถแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) ได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยนาวิต้าเมล่อนฟาร์มเน้นการผลิตเมล่อนคุณภาพสูง​ มีการใช้ Sensors และ​ Controller ในการควบคุมการให้น้ำ​และวัดค่าต่างๆ​ ในการปลูกเพื่อความแม่นยำ​ โดยจำหน่ายให้กับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ส่งออก และจำหน่ายแบบออนไลน์ให้ลูกค้าจองก่อนเก็บเกี่ยวจากต้น ทำให้ลูกค้าได้เมล่อนจากต้นที่สมบูรณ์ที่สุดส่งตรงจากเกษตรกรถึงผู้บริโภคโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง


 

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563

นักวิจัย ม. เกษตร ศรีราชา ผลิต ‘เรือไฟฟ้า KU GREEN 2’ รูปแบบทันสมัย ให้บริการนักท่องเที่ยวตลาดน้ำคลองลัดมะยม


 


           การท่องเที่ยวทางน้ำโดยการใช้เรือล่องชมวิถีชาวบ้าน ความสวยงามของสถาปัตยกรรม และธรรมชาติรายรอบทางเป็นที่นิยมและชื่นชมของนักท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สำหรับกรุงเทพมหานครมีกิจกรรมการท่องเที่ยวทางน้ำที่ได้รับความนิยม โดยมีแหล่งทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลาย แต่ยังคงมีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเรือท่องเที่ยวที่ขับเร็วและเสียงดังเกินไป รวมถึงการทำลายตลิ่ง เนื่องจากคลื่นที่เกิดจากความเร็วของเรือ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเรือไฟฟ้าพลังงานสะอาดขนาดเล็กที่มีความจุประมาณ 5 - 6 คน เพื่อให้สามารถใช้งานในลำคลอง และแม่น้ำในกรุงเทพมหานครได้อย่างสะดวก สามารถขจัดปัญหาด้านเสียงและควันไอเสียของเครื่องยนต์ ภายใต้บรรยากาศที่เงียบสงบภายในเรือ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกสบายและสัมผัสกับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

          เรือไฟฟ้า KU GREEN 2’ หรือ เรือไฟฟ้าต้นแบบ 6 ที่นั่งตอบโจทย์การท่องเที่ยวทางน้ำเชิงอนุรักษ์              การท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการเที่ยวชมวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง ผลงานวิจัยและพัฒนาของ รศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น ภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ และ ผศ.ดร.เกวลิน มะลิ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้ศึกษาและออกแบบการสร้างเรือไฟฟ้า  6 ที่นั่งขึ้น พร้อมกับศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และความเป็นไปได้ในการนำเรือไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ในอุตสาหกรรมขนส่งและบริการ รวมถึงการให้บริการผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวแบบเช่าเหมาลำ ครั้งละประมาณ 1 ชั่วโมง ณ ตลาดน้ำคลองลัดมะยม แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพฯ โดยรับทุนสนับสนุนจาก โครงการวิจัยทุนอุดหนุนวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปีงบประมาณ 2561



          รศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงการออกแบบสร้างเรือไฟฟ้า KU GREEN 2 ว่า เป็นเรือท่องเที่ยวทางน้ำความจุ 6 ที่นั่ง มีความยาวประมาณ 6 เมตร และออกแบบระบบไฟฟ้าที่สามารถใช้งานได้ต่อเนื่อง 6 ชั่วโมง ที่ความเร็วเรือ หรือความเร็วเฉลี่ย 12 km/h โดยกำหนดรูปแบบเรือที่เหมาะสมสำหรับการใช้งานในพื้นที่ ดังนี้คือ ท้องเรือมีลักษณะโคลงน้อย เพื่อความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยว รูปลักษณ์ของเรือควรให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม คนขับควรจะอยู่บริเวณด้านหน้า เพื่อทัศนะวิสัยที่ดีขณะขับเรือ ที่นั่งของนักท่องเที่ยวควรหันไปทางด้านหน้าหัวเรือ มีความเหมาะสมกว่านั่งแบบลักษณะสองแถว หลังคากันแดดควรเป็นลักษณะปรับระดับความสูงได้ เพื่อหลีกเลี่ยงสภาพปัญหาสะพานเตี้ยไม่สามารถลอดผ่านได้ มีวิธีแก้ไขปัญหาขยะติดใบจักรเรือ และความเร็วใช้งานไม่จำเป็นจะต้องมีความเร็วมาก จากนั้น จึงทำการออกแบบรูปทรงเรือ ด้วยโปรแกรมออกแบบ 3 มิติ พร้อมการออกแบบอุปกรณ์ และส่วนประกอบที่สำคัญของเรือไฟฟ้าตามรูปแบบที่กำหนด ดังนี้ รูปทรงเรือ กำหนดให้เรือมีขนาดความยาว 5.6 เมตร ความกว้าง 1.75 เมตร ระยะกินน้ำลึกเท่ากับ 0.4 เมตร สามารถบรรทุกน้ำหนักรวมทั้งหมดประมาณ 2,600 กิโลกรัม หลังจากได้รูปทรงเรือแล้ว จะมีการจำลองทางพลศาสตร์ของไหล (Computational Fluid Dynamics, CFD) เป็นโปรแกรมที่ใช้วิเคราะห์พลศาสตร์ของไหลด้วยวิธีทางคณิตศาสตร์ สามารถทำการวิเคราะห์พลศาสตร์ของไหลได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ทำให้กระบวนการออกแบบมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ใบจักรเรือ กำหนดขนาดเท่ากับ 260 มิลิเมตร มีความเร็วรอบประมาณ 1,500 rmp จำนวน 5 ใบพัด โดยการ ใช้ (CED) คำนวณค่าแรงผลัก แรงบิด และประสิทธิภาพ รวมถึงการทำความเร็วได้ตามที่กำหนด มอเตอร์ กำหนดขนาด 5 kW จำนวนขั้วแม่เหล็ก 4 โพล 1,500 รอบต่อนาที โดยเลือกใช้มอเตอร์อินดักชัน ซึ่งสะดวกในการบำรุงรักษา และสามารถออกแบบให้เหมาะสมกับความเร็วรอบของใบจักรเรือที่ไม่ต้องใช้ชุดเกียร์ทดรอบ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบขับเคลื่อนในเรือ



          ระบบแบตเตอรี่ไฟฟ้า ใช้ขนาดแรงดัน 48 V ความจุ 150 Ah ชุดแบตเตอรี่ขนาด 7.2 kWhประกอบด้วย แบตเตอรี่ จำนวน 2 โมดู ฟิวส์ (Fuse) รีเลย์ (Relay) เซ็นเซอร์วัดกระแส (Current Sensor) ปลั๊กต่อระบบจัดการแบตเตอรี่ (Battery Management System Connector Plug; BMS Connector Plug) และส่วนประกอบทางไฟฟ้าอื่น ๆ ระบบไฟฟ้าและชุดขับเคลื่อนเรือไฟฟ้า การออกแบบจะเน้นระบบไฟฟ้า และระบบควบคุมที่ง่ายต่อการใช้งาน ที่เหมาะกับชาวบ้าน หรือบุคคลทั่วไป ที่จะสามารถนำเรือไปใช้งานได้ด้วยตนเอง

          รศ.ดร.ยอดชาย กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากขั้นตอนการจำลอง CFD เมื่อได้รูปทรงเรือที่เหมาะสมและ        มีแรงต้านทานน้อยที่สุด และจัดทำอุปกรณ์ประกอบเรือไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว จะทำการออกแบบ รายละเอียดเรือไฟฟ้า  การจัดวางอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามแนวทางรายละเอียดการใช้งาน โดยคำนึงถึงการจัดวางโครงสร้างเพื่อความแข็งแรงของเรือเป็นหลัก ก็จะได้เรือไฟฟ้า KU GREEN 2 ที่ดำเนินการสร้างเสร็จเรียบร้อย



           ทางด้าน ผศ.ดร.เกวลิน มะลิ กล่าวว่า การวิจัยในครั้งนี้ได้เลือกพื้นที่ให้บริการนักท่องเที่ยว ณ ตลาดน้ำคลอง ลัดมะยม ซึ่งมีความเหมาะสมในการให้บริการเรือไฟฟ้า เนื่องจากมีท่าเรือที่สะดวกเข้าถึงง่ายห่างจากตลาดน้ำคลองลัดมะยมประมาณ 200 เมตร มีพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวนั่งพักผ่อนริมน้ำและรอเรือ มีเส้นทางคลองที่เชื่อมต่อไปยังคลองอื่น ๆ และมีความร่มรื่น ทัศนียภาพโดยรวมสวยงาม สองฝั่งคลองสามารถชมวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำได้ตลอดเส้นทาง และมีสถานที่จอดเรือที่ปลอดภัย ดังนั้นในทางกายภาพจึงมีความเหมาะสมที่จะสามารถนำเรือไฟฟ้ามาให้บริการนักท่องเที่ยวได้ โดยเส้นทางที่เหมาะสมสำหรับล่องเรือ KU GREEN2 ได้แก่ ท่าเรือสายลมจอย สวนแก้วมังกร สวนกล้วยไม้ โดยมีระยะเวลาการล่องเรือประมาณ 1 – 1.5 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้ลงพื้นที่เพื่อทำงานร่วมกับชุมชน มีการสำรวจเส้นทางร่วมกัน รวมถึงมีการถ่ายทอดความรู้ เรื่องวิธีการใช้งาน การขับเรือ และการบำรุงรักษาเรืออย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้เผยแพร่ผลการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และรูปแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน เส้นทางท่องเที่ยวที่เหมาะสม การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย การตั้งราคา เป็นต้น ซึ่งโดยภาพรวมแล้วพบว่า พื้นที่มีความพร้อมที่จะนำเรือไฟฟ้าใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นเรือเพื่อการท่องเที่ยว หรือเรือสำหรับขนส่งผู้โดยสาร เนื่องจากการใช้บริการเรือดังกล่าวไม่ทำให้เกิดคลื่นที่ทำลายชายฝั่ง ไม่ก่อมลภาวะทางเสียง ไม่มีการเผาไหม้และเขม่าควันไอเสียจากน้ำมัน ซึ่งการใช้เรือไฟฟ้าจะช่วยให้ประหยัดการใช้พลังงานในภาพรวม และช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีกด้วย



          จุดเด่นของ เรือ KU GREEN 2’ ที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ คือ เสียงเรือที่เงียบ ไม่มีกลิ่นควันจากน้ำมัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชุนริมน้ำ เก้าอี้นั่งหมุนได้ ใช้งานบนเรือได้หลายรูปแบบ มีหลังคากันแดดกันฝน และรูปลักษณ์ของเรือมีความทันสมัย ผู้ประกอบการ และกลุ่มชุมชน ที่สนใจเรือไฟฟ้า KU GREEN 2 สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.ยอดชาย เตียเปิ้น ภาควิชาวิศวกรรมทางทะเล คณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โทรศัพท์ 038 354 580 – 4 ต่อ 665511

กรมปศุสัตว์ดันเลี้ยงไข่ไก่ Cage Free ยกความสำเร็จซีพีเอฟเป็นโมเดล ชี้ NGOs ผลิตคลิปบิดเบือนใช้ภาพการเลี้ยงโบราณ กระทบอุตสาหกรรม


 


กรมปศุสัตว์ ยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มไก่ไข่ เปิดขอบข่ายการรับรองใหม่สำหรับมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage free) เพื่อพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ไทย ดันสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้กับคนไทย เพิ่มทางเลือกแก่ผู้บริโภค ยกฟาร์มไข่ไก่วังสมบูรณ์ของซีพีเอฟ เป็นฟาร์มต้นแบบถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรที่สนใจ เผย NGOs ผลิตคลิปบิดเบือน กระทบอุตสาหกรรมไก่ไข่



นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า กรมปศุสัตว์เดินหน้าสร้างมาตรฐานใหม่ในการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง หรือ Cage Free ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่กําลังเป็นที่นิยมและตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ให้ความสําคัญกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) โดยสนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเลี้ยงไก่นอกกรงตับ ภายใต้ระบบการปฏิบัติที่ดีทางการเกษตรสําหรับฟาร์มเลี้ยงสัตว์ (GAP) ที่จะทําให้ไก่ไข่ปราศจากความเครียด มีสุขภาพที่แข็งแรง และมีแนวโน้มช่วยลดการใช้ยาปฏิชีวนะหรือสารเคมีอื่นๆ ภายในฟาร์ม เนื่องจากสัตว์สามารถเคลื่ยนไหวได้อย่างอิสระและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ 5 ประการ ได้แก่ อิสระจากความหิวกระหาย อิสระจากความไม่สบายกาย อิสระจากความเจ็บปวดและโรคภัย อิสระจากความกลัวและไม่พึงพอใจ และอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

กรมปศุสัตว์สนับสนุนการเปิดขอบข่ายการรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง แก่เกษตรกรที่สนใจ เป็นการต่อยอดจากมาตรฐานฟาร์มฯ GAP ที่กรมฯดำเนินการอย่างต่อเนื่องอยู่ก่อนแล้ว และยกระดับมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ในประเทศไทย นำไปสู่มาตรฐานอาหารปลอดภัยให้กับคนไทย และถือเป็นการผลักดันการพัฒนาสินค้าปศุสัตว์ ทําให้ Cage Free egg เป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภคนายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ได้ร่วมสนับสนุนนโยบายดังกล่าว และดำเนินการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง จนประสบความสำเร็จแล้วคือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ที่มีฟาร์มไข่ไก่วังสมบูรณ์ เป็นฟาร์มต้นแบบการพัฒนาการผลิตไข่ไก่จาก Cage Free Farm พร้อมแบ่งปันการเรียนรู้การผลิตสินค้าปศุสัตว์ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์แก่เกษตรกรที่สนใจ และที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ร่วมกับซีพีเอฟในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อใช้ในการยกร่างมาตรฐานทั่วไปให้เกษตรกร  ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการไก่ไข่ทั้งบริษัท และเกษตรกรรายย่อยให้ความสนใจปรับการเลี้ยง ให้เข้าสู่มาตรฐานนี้ และขอรับการรับรองหลายราย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ต่างให้ความร่วมมือในการจําหน่ายสินค้าไข่ไก่ที่ไม่ใช้กรง สำหรับผู้บริโภคที่สนใจเลือกซื้อ Cage Free egg สามารถซื้อได้ตามสถานที่จําหน่ายไข่ไก่ทั่วไป ในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ หรือสถานที่จําหน่ายไข่สดที่มีสัญลักษณ์ ปศุสัตว์ OK”



ทั้งนี้ ปัจจุบันมี NGOs บางกลุ่มกำลังมีความพยายามบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ ด้วยการผลิตวีดีทัศน์โดยใช้ภาพประกอบเป็นไก่ไข่ที่แออัดในกรงแคบๆ ภาพไก่ที่อ่อนแอ หรือมีปัญหาสุขภาพ รวมถึงภาพกระบวนการเลี้ยงที่โบราณไม่ต่ำกว่า 20-30 ปี แล้วแชร์ต่อๆกัน จนอาจสร้างความเข้าใจผิดแก่สังคม และส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมไก่ไข่ได้ ซึ่งการผลิตไข่ไก่ของไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ มุ่งเน้นระบบมาตรฐานฟาร์มอย่างเข้มงวด รวมถึงการรับรองมาตรฐาน GMP HACCP และ DLD Certificate เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า ไข่ไก่ทุกฟองมีมาตรฐานความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการ

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมมาตรฐานดังกล่าว สามารถขอข้อมูลการรับรองได้ที่กลุ่มรับรองด้านการปศุสัตว์ สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์ โทรศัพท์ 02-653-4444 ต่อ 3133

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สศช. เผย ผลการศึกษากรณีตัวอย่างการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะสู่การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฐานชีวภาพ

          สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ซึ่งเป็นประเด็นการพัฒนาสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560– 2565) ให้บรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้วิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ ประกอบด้วย นิยามของเกษตรอัจฉริยะไม่ชัดเจนทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะอย่างเป็นองค์รวมและครบวงจร


         ทั้งนี้ เพื่อตรวจสอบยืนยันข้อค้นพบจากการศึกษาวิเคราะห์ข้างต้น ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สศช.ได้คัดเลือก เรื่อง“การขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในมันสำปะหลังในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” มาเป็นกรณีศึกษาเนื่องจากพิจารณาควบคู่กับเป้าหมายการพัฒนาเชิงพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่มุ่งส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่สู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจฐานชีวภาพหลักของประเทศ (Bio-Based Hub) เพื่อให้เป็นฐานรายได้ใหม่ที่สำคัญของประเทศซึ่งเกษตรอัจฉริยะจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันทั้ง 2 ภาคไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้เหตุผลที่เลือกเจาะลึกในเกษตรอัจฉริยะของพืชมันสำปะหลัง เนื่องจากทั้ง 2 ภาคมีพื้นที่การเพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด เป็นพืชหลักในการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ ของประเทศ และยังไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพดูแลการพัฒนาทั้งระบบ ซึ่ง สศช. ได้ลงพื้นที่จัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (FocusGroup) ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อระดมความเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานและภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้


         “ทิศทางการพัฒนาภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐบาลจะมุ่งไปสู่การเป็นBio-hub  ซึ่งวัตถุดิบสำคัญของการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพต่างๆ คือ อ้อยและมันสำปะหลัง แต่เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกัน การผลิตอ้อยมีระบบการบริหารจัดการที่ดี เป็นไปตาม พ.ร.บ. อ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 และมีเจ้าภาพการพัฒนาที่ชัดเจนแล้ว  ในขณะที่การผลิตมันสำปะหลังยังไม่มีการบริหารจัดการทั้งระบบและไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพชัดเจน นอกจากนี้ ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศ มีพื้นที่การปลูกมากกว่าร้อยละ 80 ของพื้นที่ปลูกทั้งประเทศ ดังนั้น หากสามารถส่งเสริมการใช้เกษตรอัจฉริยะในการผลิตมันสำปะหลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ก็จะสามารถผลักดันให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็น Bio-hub ของประเทศได้ตามนโยบายที่วางไว้”เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าว

        การจัดประชุมระดมความเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกรและสถาบันการศึกษา จัดขึ้นรวม 2 ครั้ง ณ จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดนครราชสีมาในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากการรับฟังความคิดเห็นของที่ประชุม หน่วยงานและภาคีที่เข้าร่วมเห็นไปในทิศทางเดียวกับผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของ สศช. ว่า ความไม่ชัดเจนของนิยาม การขับเคลื่อนที่ขาดการบูรณาการและการขาดหน่วยงานเจ้าภาพในการดูแลนโยบายเกษตรอัจฉริยะคือปัญหาสำคัญและเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องเร่งหาทางแก้ไข


             นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสะท้อนปัญหาการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะในระดับพื้นที่เพิ่มเติม อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเกษตร เช่น ดิน แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ยังไม่ดีพอ ทั้งในด้านคุณภาพและความทั่วถึง อีกทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลการผลิตและการตลาดยังกระจัดกระจาย ทำให้การคาดการณ์แนวโน้มการผลิตและความต้องการของตลาดยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสนับสนุนการตัดสินใจด้านการผลิตของเกษตรกรนอกจากนี้ แหล่งเงินทุนที่สนับสนุนการใช้เกษตรอัจฉริยะก็ยังมีข้อจำกัดและเกษตรกรยังเข้าถึงได้ยาก  รวมถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เรื่องการใช้เทคโนโลยีและการแปรรูปผลผลิต บางรายยังไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการผลิตเนื่องจากไม่มั่นใจในผลที่จะเกิดขึ้นและความต้องการของตลาดที่จะรองรับผลผลิต

           เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้ข้อค้นพบจากเวทีระดมความเห็นมีน้ำหนักและตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ สศช. ยังได้นำความเห็นที่ได้จากการจัดประชุม Focus group มาประมวลและจัดทำเป็นแบบสอบถามความคิดเห็นจัดส่งไปยังภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานรัฐ ผู้ประกอบการเอกชน สถาบันการศึกษาที่ทำการศึกษา วิจัยและพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งเกษตรกร ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 800 ราย ได้รับกลับคืนมา 400 กว่าราย ซึ่งผลการประมวลแบบสอบถามก็ยืนยันความเห็นของที่ประชุม Focus Group ข้างต้น

         “ในขั้นตอนต่อไป สศช. จะพยายามศึกษาเจาะลึกในรายละเอียดและทำงานกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเพื่อออกแบบแนวทางและวิธีการในการขับเคลื่อนบางประเด็นที่สำคัญสำหรับการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ประเด็นที่หนึ่ง การกำหนดขอบเขตและนิยามของเกษตรอัจฉริยะที่ชัดเจน และสร้างความเข้าใจที่ตรงกันให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งเกษตรกรด้วย  และประเด็นที่สองคือ หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหน่วยงานหรือกลไกหลักที่เป็นเจ้าภาพในการขับเคลื่อนเกษตรอัจฉริยะอย่างครบวงจร และผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้มีการวางระบบการพัฒนา การเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้และทักษะของเกษตรกร การพัฒนาเทคโนโลยีและการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนแหล่งเงินทุน การประสานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม  การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการผลิตและการตลาดอย่างเป็นระบบและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการผลิตของเกษตรกร  รวมทั้งการประสานการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ”เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวสรุป

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2563

กรมประมง...แจง รัฐเร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องของพี่น้องชาวประมง

 


            จากกรณีที่มีสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าว นายกสมาคมการประมงจังหวัดพังงา เปิดเผยถึงผลการประชุมของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 โดยระบุว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงไม่ยุติธรรมเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง และขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง  พร้อมขอความชัดเจนภายใน 7 วัน ในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.หยุดกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงทั้งหมด 2.แก้ไขกฎหมายประมง 3.เร่งซื้อเรือออกนอกระบบ 4.ยกเลิกการบังคับติด VMS ในเรือที่ต่ำกว่า 30 ตันกรอส  และ 5.ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางกฎหมายประมงที่ผ่านมา

            นายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงทั้งระบบที่สั่งสมมาช้านานในทุกขั้นตอนกระบวนการอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวประมงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  ซึ่งท่าน ดร.เฉลิมชัย  ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้การใช้ประโยชน์ของทรัพยากรประมงในประเทศเกิดความยั่งยืน และต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวประมงเป็นสำคัญ  ซึ่งมีรายละเอียดในการดำเนินการ ดังนี้

            1. การผ่อนคลายกฎ ระเบียบ คำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง  ซึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ตามที่สมาคมเรียกร้องนั้น คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง เพื่อพิจารณากลั่นกรองการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานประมง ซึ่งขณะนี้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เกิดความเหมาะสมเพื่อผ่อนปรนและช่วยเหลือชาวประมงแล้วกว่า 12 เรื่อง อาทิ การปรับปรุงกฎกระทรวง การขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการทำประมงของชาวประมง ยืดหยุ่นให้สามารถแก้ไขใบอนุญาตได้ อาทิ การแก้ไขรายการให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  การแก้ไขรายการเครื่องมือทำการประมง การแก้ไขรายการพื้นที่ทำการประมง  เป็นต้น  อีกทั้งยังให้สามารถออกหนังสือคนประจำเรือ 2 รอบ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมง  ยกเว้นค่าธรรมเนียมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน อนุญาตให้เรืออวนล้อม อวนครอบ และปั่นไฟสามารถเปลี่ยนพื้นที่ทำการประมงได้ระหว่างลมมรสุม  ผ่อนปรนให้ทำการประมง อวนครอบหมึก อวนจับแมงกะพรุน ในเขตทะเลชายฝั่ง ฯลฯ  นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องชาวประมง อาทิ การพัฒนาปรับปรุง VMS ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการทำงาน  และไม่แตกต่างกันทั้ง VMS รุ่น 1 และรุ่น 2 ซึ่งชาวประมงสามารถเลือกใช้รุ่นใดรุ่นหนึ่งก็ได้ การลดความยุ่งยากในขั้นตอนการแจ้งเข้า - แจ้งออกของเรือประมงที่อยู่ในร่องน้ำเดียวกัน เป็นต้น ฯลฯ


            2. การเสนอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง มีการเสนอให้แก้ไขใน 18 มาตรา ประกอบด้วย ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน 3 มาตรา และประมงพาณิชย์ 15 มาตรา ซึ่งในกระบวนการการแก้ไขกฎหมายนั้น ต้องเป็นไปตามกลไกการนำเสนอกฎหมายตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการประมวลและรวบรวมเพื่อนำเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมงพิจารณาแก้ไขปรับปรุงและเสนอคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติพิจารณาต่อไป

            3. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว มาตรการในการนำเรือออกนอกระบบที่ชาวประมงได้ยื่นแจ้งความประสงค์ แบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้

                 3.1 ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) มีจำนวน 568 ลำ

                        (1) ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 305 ลำ

                                    - ระยะที่ 1 ช่วงที่ 1 จำนวน 252 ลำ วงเงินเยียวยา 469,603,900 บาท และกรมประมงได้จ่ายชดเชยเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ 13 มีนาคม 2563

                                    - ระยะที่ 1 ช่วงที่ 2 จำนวน 53 ลำ วงเงินเยียวยา 294,850,200 บาท ได้จ่ายเงินงวดแรก 30 % ไปแล้ว และเมื่อเจ้าของเรือทำลายเรือเรียบร้อยแล้วจะจ่ายส่วนที่เหลืออีก 70 % คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2563

                        (2) ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลให้นำเรือออกนอกระบบในส่วนที่เหลืออีก 263 ลำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาตามมาตรการลดจำนวนเรือประมงเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนของคณะทำงาน ตรวจสอบประวัติความถูกต้อง คุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2563 และนำเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนกันยายน 2563 เพื่อเสนอของบประมาณต่อรัฐบาลต่อไป

                 3.2 ระยะที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์นำออกนอกระบบ จำนวน 2,505 ลำ ขณะนี้อยู่ระหว่างกรมประมงพิจารณาหลักเกณฑ์ในการนำออกนอกระบบให้สอดคล้องกับความสามารถในการทำการประมงของเรือประมง โดยคำนึงถึงปริมาณสัตว์น้ำที่จะทำการประมงได้อย่างยั่งยืนและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงในแต่ละกลุ่มทั้งผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่ เพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป

4. ยกเลิกระบบติดตามเรือ หรือ VMS ปัจจุบันการติดตั้ง VMS สำหรับเรือต่ำกว่า 30 ตันกรอส ภาครัฐยังไม่มีนโยบายในการกำหนดให้มีการติดตั้ง  อย่างไรก็ตาม เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบติดตามเรือที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านการควบคุม เฝ้าระวัง ต้นทุน และเพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากร จึงได้จัดทำการทดสอบระบบติดตามเรือกับเรือ 3 กลุ่ม ได้แก่ เรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 10 ลำ เรือขนาดตันกรอส 10-29.99 จำนวน 30 ลำ และเรือขนาดตันกรอส ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป จำนวน 10 ลำ


             5. มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามกฎหมาย กรมประมงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ได้แก่

 (1) โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง  วงเงินงบประมาณ 10,300 ล้านบาทซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการเปิดรับสมัครผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ผลการดำเนินการถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2563 มีผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2,824 ราย จำนวนเรือประมง 3,363 ลำ รวมวงเงินสินเชื่อที่ต้องการประมาณ 4,517 ล้านบาท

(2) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการประมงแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดแล้ว อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงหรือดำเนินการทางกฎหมายด้านการประมง

(3) ร่างพระราชบัญญัติสภาประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. ...อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงหรือดำเนินการทางกฎหมายด้านการประมง

(4) การยกเว้นค่าธรรมเนียมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ  ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอ กรทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามออกกฎกระทรวงต่อไป

(5) มีการช่วยเหลือเยียวยาจากผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 รายละ 15,000 บาท ทั้งประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน และแรงงานในเรือประมง รวมมากกว่า 200,000 ราย

อธิบดีกล่าวในตอนท้ายว่า กรมประมงเข้าใจ เห็นใจ และไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง แต่ในทุกการปรับเปลี่ยนนั้น ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบเป็นไปตามกติกาสากลเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมง ควบคู่ไปกับวิถีความเป็นอยู่และอาชีพของพี่น้องชาวประมงที่มั่นคงผู้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

มกอช. มอบป้ายเครื่องหมาย​ Q​ แก่ผู้ประกอบการ​ มุ่งส่งเสริมการใช้และแสดงเครื่องหมาย​ได้อย่างถูกต้อง


 


สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โดยกองควบคุมมาตรฐาน จัดโครงการสัมมนาเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (เครื่องหมาย Q) ปี 2563 เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานทั่วไป ได้รับความรู้ความเข้าใจในการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งจัดพิธีมอบป้ายเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานทั่วไป จำนวน​ 24 ราย ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานในพิธีเปิด


ดร.จูอะดี เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. ได้กำหนดมาตรฐานทั่วไปที่เกี่ยวกับโรงคัดบรรจุของผักและผลไม้สด จำนวน 4​ มาตรฐาน ประกอบด้วย 1. หลักเกณฑ์การปฏิบัติ : หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร (มกษ. 9023-2550) 2. การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ. 9023-2553) 3. การปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตผักและผลไม้สดตัดแต่งพร้อมบริโภค (มกษ. 9039-2556) และ 4. การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงรวบรวมผักและผลไม้สด (มกษ. 9047-2560) ซึ่งผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าว จะสามารถใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานได้

ทั้งนี้ เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) มีวัตถุประสงค์ในการใช้และการแสดง เพื่อเป็นการรับรองเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ส่วนประกอบ วิธีการผลิต คุณภาพ หรือคุณลักษณะอื่นใดของสินค้าเกษตร ซึ่งมีความสำคัญในการสื่อสารข้อมูลไปยังผู้บริโภคหรือผู้ซื้อ เพื่อให้เกิดการยอมรับ เชื่อมั่นและเชื่อถือต่อสินค้าเกษตรว่ามีมาตรฐาน คุณภาพและความปลอดภัย ซึ่งในการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน​จำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเพื่อที่จะปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น มกอช. จึงจัดการสัมมนาเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (เครื่องหมาย Q) ปี 2563 ขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานดังกล่าวแล้ว สามารถใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรได้อย่างถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ตลอดจนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง​ รวมทั้งยังได้จัดให้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ (DGT-Farm) และระบบการตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace) พร้อมทั้งจัดทำป้ายเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน (เครื่องหมาย Q) ให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรอง เพื่อนำไปแสดง ณ สถานประกอบการด้วย


นอกจากนี้​ มกอช.​ ยังได้จัดกิจกรรมการเยี่ยมชมการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน​ (เครื่องหมาย​ Q)​ ณ​ บริษัท​ กรีนเดลี​ ฟู้ดส์​ จำกัด​ อำเภอคลองหลวง​ จังหวัดปทุมธานี​ ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าเกษตร​ โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน​ GAP​ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Traceability) ด้วยระบบ QR-Code​ โดยบริษัทจะนำผักและผลไม้ที่ได้จากฟาร์มมาแปรรูปตามคำสั่งซื้อของลูกค้า (made to order) ในรูปผักผลไม้แช่เย็นและแช่เยือกแข็ง ด้วยระบบ IQF ภายใต้ยี่ห้อ Brand Name "greendeli" ซึ่งโรงงานได้รับมาตรฐานการผลิต FSSC2200:V5 , ISO22000:2018 , GMP , HALAL , KOSHER , มกษ.9023 , มกษ.9024 , มกษ.9046​ ทั้งนี้บริษัท กรีนเดลี่ ฟูดส์ฯ​  มุ่งเน้นที่จะผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อเป็นผู้ผลิตสินค้าวัตถุดิบ (Supplies Chain) ให้กับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพื่อการส่งออกต่อไป

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...