วันพุธที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563

มกอช. เผย Codex เตรียมประกาศมาตรฐานใหม่ ยกระดับการจัดการด้านสุขลักษณะและสารก่อภูมิแพ้ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร



นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า การประชุม Codex Alimentarius Commission (CAC) ครั้งที่ 43 เดิมมีการกำหนดจัดการประชุมระหว่างวันที่ 6-11 กรกฎาคม 2563 ณ กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทาง Mr. Guilherme da Costa ประธานคณะกรรมการธิการโคเด็กซ์ จึงได้พิจารณาประชุมคณะกรรมการบริหารโคเด็กซ์ (Executive Committee) ทางออนไลน์แทน ระหว่างวันที่ 13 – 20 กรกฎาคม 2563 เพื่อทบทวนการดำเนินงานของโคเด็กซ์และร่างมาตรฐานต่างๆ ที่อยู่ระหว่างรอเสนอ CAC ครั้งที่ 43 และจากการประชุมคณะกรรมการบริหารดังกล่าว โคเด็กซ์เล็งเห็นความเป็นไปได้ในการจัดประชุม CAC ครั้งที่ 43 ทางออนไลน์ เพื่อรับรองร่างมาตรฐานต่างๆ ที่คณะกรรมการโคเด็กซ์ทุกสาขาจัดทำ โดยเฉพาะอย่างร่างมาตรฐานที่อยู่ในขั้นตอนเสนอรับรองเพื่อประกาศใช้ โดยมีร่างมาตรฐานสำคัญและมีผลต่อประเทศไทย จำนวน 2 เรื่อง เรื่องแรก Codex ได้ทบทวนมาตรฐานหลักการทั่วไปสำหรับสุขลักษณะอาหาร (General Principles of Food Hygiene (CXC1-1969) and its HACCP Annex) เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหลักการทั่วไปด้านสุขลักษณะอาหารและการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตในธุรกิจอาหาร กำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร (Food Business Operators) ซึ่งครอบคลุมเกษตรกร ผู้ประกอบการผลิตอาหารตลอดห่วงโซ่ต้องเข้าใจและทราบถึงอันตรายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการที่ใช้เพื่อป้องกันและกำจัดอันตรายเหล่านั้น โดยแบ่งมาตรการเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.การควบคุมทั่วไปด้วยการปฏิบัติที่ดีทางสุขลักษณะ (Good Hygienic Practices GHP) 2.การควบคุมที่เฉพาะเจาะจงกับอันตราย ณ จุดวิกฤตที่ต้องควบคุม และ3.การควบคุมทั่วไปด้วย GHP แต่ขั้นตอนนี้มีความเสี่ยงมากกว่าจุดอื่น จึงอาจเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดหรือการทวนสอบ รวมทั้งได้ปรับประเด็นการใช้น้ำโดยให้ใช้น้ำที่เหมาะสม ตามวัตถุประสงค์การใช้ของแต่ละขั้นตอนการผลิตรวมถึงปรับแก้หลักการ HACCP เพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างการทดสอบความใช้ได้ (Validation) และการทวนสอบ (Verification)


มาตรฐานนี้หน่วยรับรองในประเทศได้มีการนำไปใช้ตรวจรับรอง และประเทศต่างๆ ได้นำไปใช้อ้างอิงเพื่อออกเป็นกฎหมายของประเทศตนเอง จึงมีผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตอาหาร ขณะเดียวกัน มกอช. ได้ทบทวนมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติ: หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร (มกษ. 9023-2550) และเรื่อง ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมและแนวทางในการนำไปใช้ (มกษ. 9024-2550) รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติที่ดีทางการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับสากล

เรื่องที่สอง Codex เตรียมประกาศมาตรฐานใหม่ เรื่อง หลักปฏิบัติสำหรับการจัดการสารก่อภูมิแพ้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร” (Code of Practice on Food Allergen Management for Food Business Operator) ซึ่งครอบคลุมการจัดการสารก่อภูมิแพ้ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ได้แก่ ผู้ผลิตขั้นต้น โรงงานแปรรูป ร้านค้าปลีก และร้านอาหาร เพื่อให้มีการป้องกันการปนเปื้อนของสารก่อภูมิแพ้จากเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้การทำความสะอาด โดยยังเน้นให้มีโปรแกรมการฝึกอบรมพนักงานให้เหมาะสมกับหน้าที่ที่รับผิดชอบ ซึ่งมาตรฐานนี้จะมีความสำคัญมากในอนาคต และต่อการค้าระหว่างประเทศ ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ และเรื่องที่สาม Codex เตรียมรับรองให้ใช้วัตถุเจือปนอาหาร Xanthan Gum (INS415) และ Pectins (INS440) เป็นสารให้ความข้นเหนียว (Thickener) ในอาหารสำหรับทารกและอาหารทางการแพทย์สำหรับทารกที่ระดับ 0.19 และ 0.2 g ในผลิตภัณฑ์ 100 ml ตามลำดับ ซึ่งจะมีผลต่อผู้ประกอบการที่ต้องควบคุมปริมาณการใช้สารดังกล่าว อย่างไรก็ตาม Codex อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุเจือปนอาหาร ในกรอบการพิจารณาเหตุผลทางเทคโนโลยีการผลิต เพื่อทบทวนการใช้วัตถุเจือปนอาหารเพิ่มเติมอีก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตอาหารดังกล่าวในอนาคต

ฉะนั้น มกอช. ในฐานะหน่วยงานกลางด้านมาตรฐาน ซึ่งเป็นผู้แทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุม Codex จะประสานผู้ประกอบการเตรียมข้อมูล เหตุผลความจำเป็นทางด้านเทคโนโลยีการผลิต เพื่อเสนอต่อ Codex รวมทั้งมีการแจ้งเตือนหาก Codex พิจารณายกเลิกรายการวัตถุเจือปนอาหารที่เคยอนุญาตให้ใช้ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้ตระหนัก พร้อมศึกษาและปรับตัวตามมาตรฐานหลักการทั่วไปสำหรับสุขลักษณะอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับ GMP และ HACCP และมาตรฐานหลักปฏิบัติสำหรับการจัดการสารก่อภูมิแพ้สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เพื่อไม่ให้กระทบการส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอนาคตเลขาธิการ มกอช. กล่าว


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...