ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
เปิดเผยว่า การเลี้ยงสุกร
เป็นกิจกรรมด้านการปศุสัตว์ที่ได้รับความนิยมจากเกษตรกรไทยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
และมีความแพร่หลายในทั่วทุกภูมิภาค ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เลี้ยงสุกรจำนวนมากกว่า 180,000 ราย ทั้งที่เลี้ยงไว้เพื่อการบริโภคหรือเพื่อการค้า
โดยมีสุกรพ่อแม่พันธุ์และสุกรขุน จำนวนมากกว่า 12 ล้านตัว
หมุนเวียนอยู่ในห่วงโซ่อุปทานด้านอาหารของประเทศ
การเลี้ยงสุกรของไทยได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านการพัฒนาสายพันธุ์
ระบบการเลี้ยง การจัดการ อาหารสัตว์ สุขอนามัย และการสุขาภิบาล
จนมีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาชาติ
ซึ่งการส่งเสริมฟาร์มสุกรให้ได้มาตรฐานจะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์จากสุกร
ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหากลิ่นเหม็นและน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากฟาร์ม
รวมทั้งป้องกันปัญหาสุขภาพสุกรและการเกิดโรคระบาดที่สำคัญซึ่งอาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเกษตรกรผู้เลี้ยง
และส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรโดยรวมของไทยได้
ทั้งนี้ ในปี 2552 มกอช. ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง
การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร และมีการนำมาตรฐานดังกล่าวไปปฏิบัติใช้
ต่อมาในปี 2558
ได้มีการทบทวนมาตรฐานดังกล่าวให้มีความชัดเจนและเหมาะสมยิ่งขึ้น
แต่ด้วยปัจจุบันสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (COVID-19) ทำให้มีความต้องการในการบริโภคอาหารที่สูงขึ้น
ประกอบกับการแพร่ระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever :
ASF) ในประเทศเพื่อนบ้านและประเทศผู้นำเข้าสินค้าปศุสัตว์รายใหญ่
ทำให้เกิดการขาดแคลนเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด
จึงนับเป็นโอกาสดีของประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพในการจัดการฟาร์มเลี้ยงสุกรได้อย่างมีมาตรฐานและมีบทบาทในการเป็นผู้นำของธุรกิจการเลี้ยงสุกรในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย
รวมทั้งปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
ผู้บริโภคได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านความปลอดภัยอาหารของสินค้าปศุสัตว์มากขึ้น
อีกทั้งยังมีความจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มงวดของมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในฟาร์มสุกร
เพื่อลดความเสี่ยงของการสูญเสียจากโรคระบาดสุกรที่อาจแพร่กระจายเข้ามาจากประเทศข้างเคียง
จึงเห็นควรให้มีการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย
โดยการทบทวนมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกรให้มีความเป็นปัจจุบัน
โดยมาตรฐานฉบับทบทวนนี้ ถูกร่างขึ้นโดยมีความสอดคล้องกับมาตรฐานระดับภูมิภาคของอาเซียน
มีการแสดงหลักการและข้อกำหนดของการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีตามรูปแบบมาตรฐานสากล
รวมทั้งได้รับการปรับปรุงและปรับประยุกต์เนื้อหาเพื่อให้เหมาะสมกับการนำไปปฏิบัติในประเทศไทย
ดังนั้น มกอช. จึงได้จัดการประชุมสัมมนาระดมความเห็นต่อร่างมาตรฐานสินค้าเกษตร
เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร
เพื่อรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีต่อร่างมาตรฐานดังกล่าว
ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิชาการพิจารณามาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง
ฟาร์มสุกร แล้ว รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนความรู้
ประสบการณ์และปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร
“อย่างไรก็ดี
ความคิดเห็นที่ได้รับในการสัมมนาครั้งนี้
จะนำไปใช้ประกอบการพิจารณาแก้ไขร่างมาตรฐานฯ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อันนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแท้จริง
ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนการกำหนดมาตรฐานของ มกอช. ต่อไป”เลขาธิการ
มกอช. กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น