จากกรณีที่มีสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าว
นายกสมาคมการประมงจังหวัดพังงา เปิดเผยถึงผลการประชุมของสมาคมประมงแห่งประเทศไทย
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563
โดยระบุว่า ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงไม่ยุติธรรมเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง
และขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการทำประมง พร้อมขอความชัดเจนภายใน 7
วัน ในประเด็นดังต่อไปนี้ 1.หยุดกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงทั้งหมด
2.แก้ไขกฎหมายประมง 3.เร่งซื้อเรือออกนอกระบบ
4.ยกเลิกการบังคับติด VMS ในเรือที่ต่ำกว่า
30 ตันกรอส และ 5.ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางกฎหมายประมงที่ผ่านมา
นายมีศักดิ์ ภักดีคง
อธิบดีกรมประมง ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า ภาครัฐได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ
เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงทั้งระบบที่สั่งสมมาช้านานในทุกขั้นตอนกระบวนการอย่างถี่ถ้วน
เพื่อให้เกิดความเหมาะสมและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชาวประมงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งท่าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้การใช้ประโยชน์ของทรัพยากรประมงในประเทศเกิดความยั่งยืน
และต้องคำนึงถึงวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของชาวประมงเป็นสำคัญ ซึ่งมีรายละเอียดในการดำเนินการ ดังนี้
1. การผ่อนคลายกฎ
ระเบียบ คำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพของชาวประมง ซึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ
ตามที่สมาคมเรียกร้องนั้น คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติได้มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมง
เพื่อพิจารณากลั่นกรองการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ
และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานประมง
ซึ่งขณะนี้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบให้เกิดความเหมาะสมเพื่อผ่อนปรนและช่วยเหลือชาวประมงแล้วกว่า
12 เรื่อง อาทิ การปรับปรุงกฎกระทรวง
การขออนุญาตและการอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ พ.ศ. 2562
เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีการทำประมงของชาวประมง ยืดหยุ่นให้สามารถแก้ไขใบอนุญาตได้
อาทิ การแก้ไขรายการให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ปรากฏในหลักฐานทางทะเบียนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขรายการเครื่องมือทำการประมง
การแก้ไขรายการพื้นที่ทำการประมง
เป็นต้น อีกทั้งยังให้สามารถออกหนังสือคนประจำเรือ
2 รอบ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมง
ยกเว้นค่าธรรมเนียมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
อนุญาตให้เรืออวนล้อม อวนครอบ
และปั่นไฟสามารถเปลี่ยนพื้นที่ทำการประมงได้ระหว่างลมมรสุม ผ่อนปรนให้ทำการประมง อวนครอบหมึก
อวนจับแมงกะพรุน ในเขตทะเลชายฝั่ง ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องชาวประมง
อาทิ การพัฒนาปรับปรุง VMS ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพในการทำงาน และไม่แตกต่างกันทั้ง VMS รุ่น 1 และรุ่น 2
ซึ่งชาวประมงสามารถเลือกใช้รุ่นใดรุ่นหนึ่งก็ได้
การลดความยุ่งยากในขั้นตอนการแจ้งเข้า -
แจ้งออกของเรือประมงที่อยู่ในร่องน้ำเดียวกัน เป็นต้น ฯลฯ
2. การเสนอแก้ไขพระราชกำหนดการประมง
มีการเสนอให้แก้ไขใน 18 มาตรา ประกอบด้วย
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับประมงพื้นบ้าน 3 มาตรา และประมงพาณิชย์
15 มาตรา ซึ่งในกระบวนการการแก้ไขกฎหมายนั้น
ต้องเป็นไปตามกลไกการนำเสนอกฎหมายตามขั้นตอนในรัฐธรรมนูญ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการประมวลและรวบรวมเพื่อนำเสนอให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับภาคประมงและแรงงานในภาคประมงพิจารณาแก้ไขปรับปรุงและเสนอคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติพิจารณาต่อไป
3. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการซื้อเรือประมงออกนอกระบบคืนโดยเร็ว
มาตรการในการนำเรือออกนอกระบบที่ชาวประมงได้ยื่นแจ้งความประสงค์ แบ่งได้เป็น 2 ระยะ ดังนี้
3.1 ระยะที่ 1 (ระยะเร่งด่วน) มีจำนวน 568 ลำ
(1) ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว
จำนวน 305 ลำ
-
ระยะที่ 1 ช่วงที่ 1
จำนวน 252 ลำ วงเงินเยียวยา 469,603,900 บาท และกรมประมงได้จ่ายชดเชยเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ 13 มีนาคม 2563
-
ระยะที่ 1 ช่วงที่ 2
จำนวน 53 ลำ วงเงินเยียวยา 294,850,200
บาท ได้จ่ายเงินงวดแรก 30 % ไปแล้ว
และเมื่อเจ้าของเรือทำลายเรือเรียบร้อยแล้วจะจ่ายส่วนที่เหลืออีก 70 % คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคม 2563
(2) ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลให้นำเรือออกนอกระบบในส่วนที่เหลืออีก
263 ลำ
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการเยียวยาตามมาตรการลดจำนวนเรือประมงเพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืนของคณะทำงาน
ตรวจสอบประวัติความถูกต้อง
คุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือซึ่งจะเสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2563
และนำเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายพิจารณาให้ความเห็นชอบภายในเดือนกันยายน
2563 เพื่อเสนอของบประมาณต่อรัฐบาลต่อไป
3.2 ระยะที่ 2 เป็นกลุ่มที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมง
แต่เจ้าของเรือมีความประสงค์นำออกนอกระบบ จำนวน 2,505 ลำ
ขณะนี้อยู่ระหว่างกรมประมงพิจารณาหลักเกณฑ์ในการนำออกนอกระบบให้สอดคล้องกับความสามารถในการทำการประมงของเรือประมง
โดยคำนึงถึงปริมาณสัตว์น้ำที่จะทำการประมงได้อย่างยั่งยืนและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมงในแต่ละกลุ่มทั้งผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่
เพื่อนำเสนอรัฐบาลพิจารณาต่อไป
4. ยกเลิกระบบติดตามเรือ หรือ VMS
ปัจจุบันการติดตั้ง VMS สำหรับเรือต่ำกว่า 30 ตันกรอส ภาครัฐยังไม่มีนโยบายในการกำหนดให้มีการติดตั้ง อย่างไรก็ตาม เพื่อพัฒนาและปรับปรุงระบบติดตามเรือที่มีความเหมาะสมทั้งในด้านการควบคุม
เฝ้าระวัง ต้นทุน และเพื่อเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากร
จึงได้จัดทำการทดสอบระบบติดตามเรือกับเรือ 3 กลุ่ม ได้แก่
เรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 10 ลำ เรือขนาดตันกรอส 10-29.99 จำนวน 30 ลำ และเรือขนาดตันกรอส ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป จำนวน 10 ลำ
5. มาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามกฎหมาย
กรมประมงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้พี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย
ได้แก่
(1) โครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง วงเงินงบประมาณ 10,300
ล้านบาทซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการเปิดรับสมัครผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ
ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563
ผลการดำเนินการถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2563 มีผู้ประกอบการประมงที่ประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 2,824 ราย จำนวนเรือประมง 3,363 ลำ
รวมวงเงินสินเชื่อที่ต้องการประมาณ 4,517 ล้านบาท
(2) ร่างพระราชบัญญัติกองทุนการประมงแห่งชาติ
พ.ศ. ....
ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดแล้ว
อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงหรือดำเนินการทางกฎหมายด้านการประมง
(3) ร่างพระราชบัญญัติสภาประมงแห่งประเทศไทย
พ.ศ.
...อยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงหรือดำเนินการทางกฎหมายด้านการประมง
(4) การยกเว้นค่าธรรมเนียมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำฯ
ปัจจุบันอยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจร่าง
เมื่อแล้วเสร็จจะเสนอ กรทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามออกกฎกระทรวงต่อไป
(5) มีการช่วยเหลือเยียวยาจากผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
โควิด-19 รายละ 15,000 บาท
ทั้งประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน และแรงงานในเรือประมง รวมมากกว่า 200,000 ราย
อธิบดีกล่าวในตอนท้ายว่า
กรมประมงเข้าใจ เห็นใจ และไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง
แต่ในทุกการปรับเปลี่ยนนั้น
ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบเป็นไปตามกติกาสากลเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรประมง
ควบคู่ไปกับวิถีความเป็นอยู่และอาชีพของพี่น้องชาวประมงที่มั่นคงผู้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น