วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

CEO ซีพีเอฟ ลงพื้นที่บางพลัด นำ CPF Food Truck เสิร์ฟอาหารอุ่นร้อนพร้อมทาน


         นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พร้อมด้วย ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน และพนักงาน CPF จิตอาสา ร่วมส่งมอบอาหารอุ่นร้อนพร้อมทาน จาก CPF Food Truck ให้แก่ ชาวชุมชนเขตบางพลัด ครั้งที่ 11 ในโครงการ "อาหารปลอดภัย จากใจ...สู่ชุมชน” เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านอาหารหลังได้ผลกระทบจากโควิด-19 โดยมี นางสาวปัญชพัฒน์ หลักดี ผู้อำนวยการเขตบางพลัด ร่วมด้วย ณ ศูนย์ฝึกอาชีพบางพลัด กรุงเทพฯ


          “โครงการ อาหารปลอดภัย จากใจ...สู่ชุมชน” ที่ชาวซีพีเอฟจิตอาสานำรถ CPF Food Truck เคลื่อนที่ไปมอบความสุข ในทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ ในเขตบางกอกน้อย บางพลัด ห้วยขวาง บางขุนเทียน บางบอน และหนองแขม รวม 6 เขต นอกจากโครงการในกรุงเทพแล้ว ในอนาคตมีแผนขยายไปต่างจังหวัดเพิ่มเติม ส่วนในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ บริษัทจะร่วมกับสมาคมตำรวจ และสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ มอบอาหารให้พี่น้องแท็กซี่ เพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป”


         สำหรับอาหารกล่องพร้อมทาน มีให้เลือก 6 เมนู ได้แก่ ข้าวอกไก่ซอสจิ้มแจ่ว, ข้าวผัดไก่ย่างซอสเกาหลี, ข้าวไก่สไปซี่, ข้าวอกไก่ย่างซอสเกาหลี, ข้าวตับกระเทียม และข้าวไข่เจียว พร้อมทั้งไข่ต้มและน้ำดื่ม CP นอกจากนี้ ยังร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ โอสถสภา นำเครื่องดื่ม และ Mc ยีนส์ นำหน้ากากผ้า มาร่วมมอบด้วย
          นอกจากนี้ ยังชื่นชมคนไทยที่ร่วมกันปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาลป้องกันตนเอง สวมใส่หน้ากาก เว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ พร้อมขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยดูแลเรื่องโควิดเป็นอย่างดี จึงขอเชิญชวนให้ช่วยกันดูแลตนเอง การ์ดอย่าตก รักษามาตรฐานนี้ไว้เพื่อก้าวผ่านวิกฤตโควิดไปด้วยกัน

“จุรินทร์” ตอกหน้า “มิ่งขวัญ” เกษตรกรได้ราคาผลไม้ดีเป็นหน้าที่ ด้านพาณิชย์เน้นสร้างสมดุล


          เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2563 เวลา 16:45 น. ที่อาคารรัฐสภา นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์   หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์   รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ตอบข้ออภิปรายของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ  กรณีว่าทำไมจึงไม่ทำให้คนไทยได้กินทุเรียน และมะม่วงถูก แต่กลับนำไปส่งออกให้พ่อค้าคนกลางรวยว่า ภารกิจของกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน คือสร้างความสมดุล ระหว่างผู้บริโภคสามารถบริโภคผลไม้ราคาถูกได้ และให้เกษตรกรชาวสวนสามารถขายผลไม้ในราคาที่แพงได้  พร้อมทั้งกระจายผลไม้ไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศให้ได้มากที่สุด  กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการทั้ง 2 ส่วน ทั้งการช่วยชาวสวนผลไม้ระบายผลไม้ในตลาดภายในประเทศ และการส่งออกเพราะลำพังตลาดภายในประเทศไม่เพียงพอที่จะรองรับผลผลิตของเกษตรกรไทยได้  ในที่สุดก็จะนำไปสู่ราคาตกต่ำเช่นเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์ จึงจำเป็นต้องทำทั้ง 2 ส่วน โดยมุ่งเน้นและพยายามที่จะตัดคนกลางออกไป โดยใช้ระบบออฟไลน์และออนไลน์ เข้ามาช่วย ในส่วนตลาดออฟไลน์นั้น กระทรวงพาณิชย์พยายามที่จะช่วยให้ชาวสวนผลไม้สามารถส่งผลไม้มายังตลาดขายส่ง ด้วยทางลัดที่สุด เช่น การส่งมาที่ ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และส่งไปยังตลาดต่างจังหวัด รวมทั้งส่งไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรงจากเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่รวมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ รูปแบบกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกผลไม้  ให้สามารถขายตรงถึงมือผู้บริโภคได้โดยตรง


         นอกจากนั้น ตนได้สั่งการเป็นนโยบายให้พาณิชย์จังหวัด ทุกจังหวัด ดำเนินการสำรวจความต้องการผลไม้ และพืชเกษตรตัวอื่นๆ ในจังหวัดของตัวเอง แล้วให้ร่วมมือกับภาคเอกชน โดยพาณิชย์จังหวัดจะต้องทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนจังหวัด เพื่อที่จะนำผลผลิตเกษตรและผลไม้ในจังหวัดตัวเองขายให้กับพาณิชย์จังหวัด และเอกชนในจังหวัดอื่น และจับคู่ทำสัญญาซื้อขายระหว่างกันในรูปแบบที่เรียกว่า จับคู่ธุรกิจ (Business Matching) หรือ ที่เรียกว่า เคาน์เตอร์เทรด  (Counter Trade) ทั้งในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนและในรูปแบบของการชำระเป็นตัวเงิน  ถ้าสินค้าที่แลกเปลี่ยนกันมีส่วนเหลื่อมของราคาก็ให้ชำระส่วนต่างเป็นเงินสดได้ และเรื่องนี้ไม่ใช่แค่นโยบายหรือความฝัน ณ วันนี้ได้มีการดำเนินการในเรื่องนี้ มีความก้าวหน้าไปแล้วปรากฏว่าขณะนี้ทีมเซลส์แมนจังหวัดคือพาณิชย์จังหวัดทั้ง 76 จังหวัด สามารถแลกเปลี่ยนสินค้า และซื้อขายสินค้า และผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งผลไม้ระหว่างกัน รวมมูลค่า 1,000 ล้านบาทและจะดำเนินการต่อไป
         “อันนี้คือรูปแบบในการตัดคนกลางออกไป เพื่อให้สามารถซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ผลิต หรือเกษตรกรชาวสวน ให้ถึงมือผู้บริโภคโดยตรง เพื่อโดยตัดขั้นตอนลงให้ได้มากที่สุด” รมว.พาณิชย์ กล่าว
         รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า  ส่วนของตลาดออนไลน์ ก็มีความชัดเจนอยู่แล้วว่า นอกจากจะส่งออกไปยังต่างประเทศแล้วก็ยังมีการทำตลาดออนไลน์ในประเทศด้วย เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคคนไทยสามารถที่จะซื้อผลไม้จากชาวสวนผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง  แต่สามารถซื้อได้จากกลุ่มสหกรณ์การเกษตร  กลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้โดยตรงที่โพสขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และในช่วงที่ผ่านมาได้มีแพลตฟอร์มออนไลน์จำนวนมากที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และกลุ่มสหกรณ์ผู้ผลิตผลไม้เปิดโอกาสให้เกษตรกรสามารถเข้าไปขายและผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้โดยตรงได้ ยกตัวอย่าง เช่น ลาซาด้า Shopee JD Central Thaipostmart ของไปรษณีย์ไทย เป็นต้น
          “กดหน้าจอสามารถสั่งซื้อผลไม้โดยตรงจากกลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์ได้ โดยไปรษณีย์ไทยจะเป็นบริษัทกลางในการที่จะดำเนินการนำผลไม้จากจุดรวมศูนย์ของกลุ่มสหกรณ์และจัดส่งให้กับท่านโดยตรง”  รมว.พาณิชย์ กล่าว
          รมว.พาณิชย์  กล่าวทิ้งท้ายว่า  ภารกิจของกระทรวงพาณิชย์คือทำอย่างไรที่จะให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้สามารถขายผลไม้ได้ราคาดีที่สุด และขณะเดียวกันผลไม้ไม่ตกค้างอยู่ในตลาด เพราะบริโภคเฉพาะตลาดในประเทศไม่พอ เราสามารถส่งออกไปได้ด้วย และขณะเดียวกันทำอย่างไรให้ผู้บริโภคไทยสามารถบริโภคผลไม้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหลายทอดในราคาที่ยุติธรรมและเกรดพรีเมียมมากขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน

วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ขอให้เกษตรกร “ปรับเพื่อรอด”


         นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวในการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง 'NEW Normal Agriculture accelerated by the COVID-19 ฐานวิถีชีวิตเกษตรใหม่ จากตัวเร่งภายหลังสถานการณ์ COVID-19' ซึ่งจัดโดย สำนักงานบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ ห้องประชุมกำพล อดุลวิทย์ ชั้น 2 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ว่า ก่อนหน้าสถานการณ์ไวรัสโคโรนา สภาเกษตรกรแห่งชาติได้มีการเตรียมการมุ่งเน้นให้เกษตรกรปรับตัวมาโดยตลอด เพราะเกษตรกรได้รับผลกระทบจากเรื่อง ภาวะโลกร้อน นโยบายจากภาครัฐที่เปลี่ยนทุกรัฐมนตรี กรอบการค้าเสรี แต่ในทุกสถานการณ์มีผลกระทบไม่รุนแรงและกว้างขวางเท่ากับวิกฤตการณ์ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาด แต่ภายใต้สถานการณ์นั้นมีทั้งวิกฤตและโอกาส ในมุมของสภาเกษตรกรฯเกษตรกรที่ข้อมูลไม่พอ ปรับตัวไม่ทันเป็นวิกฤตโดยตรงเลย อาทิ กลุ่ม non Food เช่น ยางพารา จีดีพีทั้งโลกหดตัวลงการบริโภคสินค้าเหล่านี้ลดลงทันที รถขายไม่ออกยางก็ขายไม่ออกไปด้วยมีผลกระทบโดยตรงรายได้หดตัวลงและต่อเนื่องยาวนาน  ปาล์มน้ำมัน ถึงแม้เป็น food Product แต่บางส่วนก็นำไปทำเป็นพลังงาน พอเศรษฐกิจโลกหดตัวลงการใช้พลังงานลดลง ราคาน้ำมันดิบของโลกปรับตัวลดลงจนติดลบก็มี ส่งผลกระทบถึงราคาปาล์มน้ำมันโดยตรง เป็นต้น  


           ส่วนที่เป็นโอกาส ถ้าเกษตรกรปรับตัวทันในสินค้าเกษตรบางตัว เช่น ข้าว หลายประเทศสำรองข้าวเป็นความมั่นคงด้านอาหารไม่ส่งออก ในขณะที่เป็นคู่แข่งกับไทยแต่ก็เก็บสำรองข้าวไว้บริโภคเอง ซัพพลายในโลกก็หาย ประเทศไทยจึงขายข้าวได้มากขึ้น มันสำปะหลัง ถึงแม้จะตีเป็นอาหารสัตว์ แต่ยามนี้สำคัญมากเพราะประเทศจีนสั่งซื้อเพื่อไปหมักทำแอลกอฮอล์ด้วยสถานการณ์ไวรัสแพร่ระบาดทำให้แอลกอฮอล์ขาดตลาดมาก แต่ก็ต้องศึกษาว่าจะผันแปรได้มากน้อยขนาดไหน ด้านภาคปศุสัตว์นับเป็นโอกาสมาก สังเกตจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดหมูแอฟริกาส่งผลให้ราคาสุกรในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาก คาดการณ์ว่าราคาไก่ส่งออกก็น่าจะดีขึ้นตามไปด้วยน่าจะฉุดให้ราคาภาคปศุสัตว์เชื่อมโยงต่อๆกันไป ยกเว้นบาง Sector ที่มีผลกระทบมาก เช่น ประมง โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาในกระชัง  การเลี้ยงกุ้ง ด้วยตลาดส่งออกถูกปิดเพราะติดปัญหาเรื่องเคอร์ฟิว ระบบขนส่ง  ที่เป็นปัญหาน้อยลงคือ ไม้ผล จะสังเกตเห็นว่าราคาทุเรียนยังดีต่อเนื่องด้วยสภาเกษตรกรฯผลักดันการเจรจาให้เกิดช่องทางในการขนส่งที่มากขึ้นและเร็วขึ้น ส่วนไม้ผลที่มีปัญหาเนื่องจากอายุเก็บรักษาสั้นตอนนี้ เช่น ลิ้นจี่ ลองกอง เป็นต้น
           “ประเทศไทยยังมีศักยภาพของการผลิตเพิ่มในพื้นที่ด้านการเกษตรสูงมากที่ยังขาดการพัฒนาหรือพัฒนาไม่ถูกทางยังมีอีกเยอะ ภายใต้ช่วงท้ายสถานการณ์ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดเกษตรกรจะต้องปรับปรุงการผลิต หากครั้งนี้ท่านไม่ปรับปรุงไม่เปลี่ยนแปลงจะช้าหรือเร็วท่านต้องยกเลิกอาชีพ “เกษตรกร” เพราะว่าท่านสู้เขาไม่ได้แน่ ต้องปรับตัวอย่างเดียว ถึงจะอยู่รอดได้ ปรับเพื่อรอด ปรับเพื่อการเพิ่มรายได้”  ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าว

เกษตรฯ โชว์เทคโนโลยีกำจัดจุดอ่อนเงาะเปลี่ยนสี ผลเน่าไว หวังดันยอดส่งออกเงาะพุ่ง



                  กรมวิชาการเกษตร โชว์เทคโนโลยีลดการสูญเสียระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษาเงาะพันธุ์โรงเรียน  แก้ปัญหาเปลือกและขนเงาะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล  ผลเน่าเร็ว  หนุนใช้ชีวภัณฑ์แบคทีเรียคุมโรคเน่าแทนสารเคมี   ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นาน  ปลอดภัยต่อผู้บริโภค   แนะเกษตรกรเก็บเกี่ยวเงาะระยะ 3 สี   ตัดขั้วผลด้วยกรรไกรช่วยลดการทำลายเชื้อราต้นเหตุโรคผลเน่า


                  นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  เปิดเผยว่า เงาะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจหลักชนิดหนึ่งของประเทศไทย ในปี 2562 มีปริมาณผลผลิตเงาะรวมทั้งประเทศ 280,166 ตัน แต่ที่ผ่านมาการส่งออกเงาะสดไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศมีไม่ถึง 5 เปอร์เซ็นต์ของผลผลิตที่ผลิตได้  โดยพบปัญหาสำคัญคือการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกและขนเงาะรวมทั้งการเกิดอาการผลเน่าอย่างรวดเร็ว   ซึ่งมีสาเหตุมาจากภายหลังการเก็บเกี่ยวผลเงาะมีการสูญเสียน้ำอย่างรวดเร็ว  เนื่องจากบริเวณขนเงาะมีปากใบจำนวนมากและที่ปลายขนยังมีขนเล็ก ๆ ทำให้เพิ่มพื้นที่ผิวในการคายน้ำ และภายใต้อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ทั่วไป เปลือกเงาะจะเปลี่ยนแปลงเป็นสีน้ำตาลและเหี่ยวแห้งได้ภายในระยะเวลา 3 - 4 วัน


                  กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร  กรมวิชาการเกษตร  ได้ศึกษาวิจัยหาเทคโนโลยีชะลอปัญหาการเกิดสีน้ำตาลของเปลือกและขนเงาะพันธุ์โรงเรียน เพื่อแก้ปัญหาให้สามารถส่งออกผลเงาะสดไปยังต่างประเทศได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพและอายุการเก็บรักษา  และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการขนส่งและการเก็บรักษาสามารถช่วยควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษาให้คงที่และลดการสูญเสียน้ำทำให้ชะลอการเปลี่ยนแปลงสีเปลือกและสีขนของเงาะได้ 


นอกจากนี้ ผลจากการวิจัยยังพบสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ผลิตผลเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็วมาจากการเข้าทำลายของเชื้อราที่ก่อให้เกิดอาการผลเน่าจึงจำเป็นต้องใช้สารป้องกันและกำจัดโรคพืชหลังการเก็บเกี่ยว  อย่างไรก็ตามการใช้สารเคมีนั้นต้องคำนึงถึงคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญ  ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงได้นำชีวภัณฑ์แบคทีเรียเพื่อควบคุมโรคผลเน่ามาใช้ทดแทนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา   เพื่อเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีการยืดอายุการเก็บรักษาเงาะสดให้นานขึ้นและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า  ผลงานวิจัยนี้ทำให้ได้วิธีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อลดการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของเงาะพันธุ์โรงเรียน   โดยพบว่าระยะการเก็บเกี่ยวเงาะที่เหมาะสมคือในระยะสามสีที่เปลือกยังเป็นสีแดงอ่อนและขนเงาะยังเป็นสีเขียว ซึ่งเป็นระยะที่ทำให้สามารถเก็บผลเงาะได้นานขึ้น  และการตัดขั้วผลเงาะให้ชิดผลด้วยกรรไกรแทนการปลิดด้วยมือ สามารถลดการเข้าทำลายของเชื้อราซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคผลเน่าหลังการเก็บเกี่ยวได้  รวมทั้งการล้างผลเงาะด้วยน้ำสะอาดและแช่ในชีวภัณฑ์แบคทีเรีย Bacillus amyloliquefaciens  DL9 อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร  นาน 5 นาที สามารถลดการเกิดโรคผลเน่าของเงาะในระหว่างการเก็บรักษาได้และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค


ส่วนการยืดอายุผลเงาะให้มีความสดใหม่ให้ใช้วิธีบรรจุผลเงาะในถุงพลาสติกชนิด LDPE ความหนา 25 ไมครอน และมีอัตราการซึมผ่านก๊าซออกซิเจน 10,000-12,000 ลูกบาศก์เซนติเมตร/ตารางเมตร/วัน   จะช่วยลดการคายน้ำของผลเงาะและลดอาการเปลือกสีน้ำตาลของเปลือกและขนเงาะได้ดี  ทำให้สามารถเก็บรักษาผลเงาะให้มีความสดใหม่ได้นานขึ้น   โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาหรือขนส่งเงาะคืออุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 90-95 เปอร์เซ็นต์
 การพัฒนางานวิจัยเพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกเงาะสดไปยังประเทศคู่ค้าของไทยถือเป็นเรื่องที่สำคัญ  แม้ไทยจะมีความได้ปรียบในด้านศักยภาพการผลิตเงาะที่มีคุณภาพและเส้นทางการส่งออกที่สะดวกกว่าแต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนหลายประเทศที่มีพื้นที่ปลูกเงาะพยายามผลักดันการส่งออกเงาะสดไปจำหน่ายยังประเทศต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องพัฒนาด้านการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อยืดอายุการขนส่งและการเก็บรักษาเงาะสดให้ได้นานขึ้น  รวมทั้งยังต้องเป็นวิธีการที่คำนึงถึงความปลอดภัยด้านสุขอนามัยของผู้บริโภคด้วย 


กรมวิชาการเกษตรพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อลดการสูญเสียระหว่างการขนส่งและการเก็บรักษาเงาะพันธุ์โรงเรียน ให้เกษตรกร  ผู้ประกอบการส่งออก  และผู้ที่สนใจได้นำไปใช้ประโยชน์และขยายผลต่อไป  โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตผลเกษตร  โทรศัพท์ 0-2579-5582 และ 0-2579-6008
           

กตส.จัดประชุมพิจารณาร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. ... ผ่านทาง Web Conference



            เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. ... รวมทั้งการพิจารณา เรื่อง ข้อเสนอความเห็นจากคณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบของร่างระเบียบดังกล่าว โดยประชุมผ่านทาง Web Conference ไปยังสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 1-10 เพื่อรับฟังความคิดเห็น พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะอันจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงระเบียบให้สามารถถือปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ณ ห้องประชุม 404 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์






วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

กระทรวงกลาโหมประสานกรมส่งเสริมสหกรณ์อุ้มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ตะวันออก สั่งมังคุดคุณภาพจากสหกรณ์ 200.39 ตัน



กระทรวงกลาโหมประสานกรมส่งเสริมสหกรณ์ช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ระบายผลผลิต สั่งมังคุดคุณภาพจากสหกรณ์ภาคตะวันออก 200.39 ตัน มูลค่ากว่า 4.71 ล้านบาท ก่อนกระจายไปยังกำลังพลและครอบครัวได้บริโภค พร้อมส่งมอบมังคุด 17 ตันให้กับรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่กองบัญชาการกองทัพไทยในวันนี้ 
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมด้วยตัวแทนสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออก นำมังคุดจากคุณภาพจากสหกรณ์นิคมวังไทร จำกัด จังหวัดระยอง จำนวน 17 ตัน ส่งมอบให้กับพลเอก ชูชาติ บัวขาว รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้แทนส่วนราชการในกองบัญชาการกองทัพไทย (บก.ทท.) ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร เนื่องจากทางกระทรวงกลาโหมได้มีนโยบายให้หน่วยงานที่ขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพรับซื้อผลไม้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นช่วงที่มีผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลทำให้   ผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ นอกจากนี้ เกษตรกรยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด – 19 ทำให้ตลาดต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อ ขณะที่ตลาดในประเทศได้หยุดชะงักเนื่องจากไม่สามารถขนส่งสินค้าได้สะดวกเหมือนช่วงสถานการณ์ปกติ กระทรวงกลาโหมจึงได้ประสานมายังกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อวางแผนช่วยเหลือเกษตรกรโดยการรับซื้อผลผลิตมังคุดที่มีคุณภาพจากสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 200.36 ตัน มูลค่า 4.71 ล้านบาท เพื่อกระจายไปยังหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองทัพอากาศ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม หน่วยขึ้นตรงกองทัพบก และกองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับกำลังพล และส่วนหนึ่งได้นำไปมอบให้ชาวบ้านในชุมชนที่อยู่โดยรอบได้บริโภคด้วย


ขณะนี้ ทางกระทรวงกลาโหมได้รับซื้อผลไม้ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดระยองและตราดแล้ว จำนวน 113.78 ตัน มูลค่ากว่า 2.67 ล้านบาท และได้กระจายไปยังหน่วยงานของกองทัพทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 49 จังหวัดทั่วประเทศ แบ่งเป็นหน่วยงานในส่วนกลาง 52.94 ตัน มูลค่า 1.24 ล้านบาท ส่วนภูมิภาค 60.84 ตัน มูลค่า 1.43 ล้านบาท และยังมีปริมาณคงเหลือที่รอทยอยจัดส่งให้อีกจำนวน 86.61 ตัน 


ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบกลางปี 2563 วงเงิน 45 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการกระจายผลไม้ของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด–19 เป็นค่าดำเนินการและชดเชยค่าขนส่งให้กับสหกรณ์ต้นทางและปลายทาง ที่รวบรวมและกระจายมังคุดและลำไย รวมถึงให้สหกรณ์นำไปจัดซื้อตะกร้าสำหรับขนส่งผลไม้ด้วย สำหรับสถานการณ์การผลิตมังคุดของสหกรณ์ในภาคตะวันออก คาดว่าระหว่างวันที่ 15-30 พฤษภาคม นี้ จะมีปริมาณผลผลิตออกมาพร้อมกันจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลการรวบรวมและกระจายมังคุดของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 มีจำนวน 13 แห่ง รวบรวมผลผลิตไปแล้ว 148.932 ตัน มูลค่ากว่า 3.72 ล้านบาท และกระจายสู่สหกรณ์ปลายทาง 59 แห่งทั่วประเทศ นอกจากนี้ ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ยังได้จัดสรรเงินกู้จากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 190 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ขณะนี้มีสหกรณ์ขอกู้เงินดังกล่าวแล้ว 87 ล้านบาท สำหรับนำเป็นทุนหมุนเวียนรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกตลอดช่วงฤดูกาลผลิตปีนี้ เพื่อให้การกระจายผลไม้สู่ตลาดเป็นไปอย่างรวดเร็ว ไม่เกิดการกระจุกตัว  ซึ่งจะทำให้การจำหน่ายผลผลิตไปสู่ผู้บริโภคนั้น เกิดประสิทธิภาพ และสามารถกำหนดราคาซื้อขายที่เป็นธรรมกับทั้งตัวเกษตรกร และผู้บริโภคปลายทางด้วย

มกอช. พลิกวิกฤติโควิด-19 ปรับโฉมองค์ความรู้สู่ดิจิทัล



มกอช. พลิกวิกฤติโควิด-19 ปรับโฉมองค์ความรู้สู่ดิจิทัล หวังให้ผู้เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งผู้บริโภค ได้รับรู้ข่าวสารด้านมาตรฐานอย่างทั่วถึง สะดวก ฉับไหว ลดค่าใช้จ่าย  และที่สำคัญช่วยกัน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ      
ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้ดำเนินการจัดทำองค์ความรู้สื่อดิจิตอลออนไลน์ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภคได้รับรู้ข่าวสารด้านมาตรฐาน ในรูปแบบ e-book โดยในปี 2562 ได้จัดทำองค์ความรู้ จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.แผ่นพับเข้าใจใหม่เข้าใจใหม่ เกษตรอินทรีย์ และ GAP  2.สินค้าเกษตรปลอดภัย มั่นใจเครื่องหมาย Q  3.คู่มือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่ มกษ.6909-2562  4. คู่มือการเตรียมความพร้อมสำหรับการรับรองฟาร์มมาตรฐาน รวมทั้งจดหมายข่าวประจำเดือน ที่อัดแน่นไปด้วยสารความรู้ในเรื่องมาตรฐานต่างๆ และข่าวสาร กิจกรรม ความเคลื่อนไหวของหน่วยงาน มกอช. นอกจากนี้ยังได้ผลิตสื่อ Infomotion จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) ขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน 2.มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) 3.เลือกเครื่องหมาย Q และ Organic Thailand เทรนด์ใหม่น่าไลก์สำหรับคนใส่ใจสุขภาพ


ขณะที่ ปี 2563 มีการจัดทำ e-book ไปแล้ว 2 เรื่อง ได้แก่  1. คู่มือการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว โรงปรับปรุงคุณภาพและโรงบรรจุขนาดเล็กเพื่อการผลิตข้าวสาร Q  และ 2. คู่มือ Q อาสา ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2563 และจัดทำวีดิทัศน์ จำนวน 3 เรื่อง ได้แก่  เรื่อง DGTFarm.com  ตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย ผู้บริโภคเข้าถึงง่าย สินค้าเกษตรได้มาตรฐาน เรื่อง QR Trace on Cloud ระบบตามสอบสินค้าเกษตรบนระบบคลาวด์  และเรื่องการตรวจยาฆ่าแมลงตกค้างด้วยชุดทดสอบยาฆ่าแมลง/สารตกค้าง จีที (GT Test Kit)
นอกจากนี้ ยังจัดทำ Infomotion จำนวน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.ช้อปอย่างไร? ให้ได้สินค้าเกษตรปลอดภัยในช่วงวิกฤต COVID-19  2.หลักปฏิบัติผู้ปฏิบัติงานในโรงรวบรวมผักผลไม้สดในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19  3.หลักปฏิบัติของผู้ปฏิบัติงานในฟาร์มปศุสัตว์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 และ 4.เครื่องหมาย Q ดีอย่างไร?


ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มกอช. ได้รูปแบบการนำเสนอ e-book องค์ความรู้ด้านมาตรฐานผ่านระบบออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เกี่ยวข้องตลอดสายการผลิตสินค้าเกษตรกร อาทิ เกษตรกร ผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้บริโภค ได้รับรู้ข่าวสารด้านมาตรฐานอย่างทั่วถึง สะดวก ทุกที่ทุกเวลา และลดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญช่วยลดการแพร่เชื้อ COVID-19 อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ e-book จำนวน 5 เรื่อง ได้แก่ 1.คู่มือเกษตรอินทรีย์ Organic 2.คู่มือเตรียมความพร้อมการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับการทำนาเกลือทะเล (มกษ.9055-2562) 3.คู่มือการพิจารณาเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน เพื่อขอรับรองมาตรฐานระบบการผลิต GAP และ Organic ฉบับทบทวน ปี 2563 4.การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงคัดบรรจุผักและผลไม้สด (มกษ. 9035-2553) (ฉบับปรับปรุงใหม่) 5.สินค้าเกษตรปลอดภัย มั่นใจเครื่องหมาย Q (ฉบับปรับปรุงใหม่)


โดยเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค สามารถติดตามข่าวสารด้านมาตรฐาน ผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ที่  LINE : มาตรฐานเกษตรน่ารู้ Facebook : มาตรฐานเกษตรน่ารู้ โดย มกอช. และเว็บไซต์สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ https://www.acfs.go.th ซึ่งนอกจากจะได้รับความรู้อันเป็นประโยชน์เรื่องมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัยแล้ว ยังช่วยสามารถช่วยกันอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติได้อีกด้วยเลขาธิการ มกอช. กล่าว

สตส.หนองบัวลำภู พิสูจน์ความมีอยู่จริงของยอดหนี้ เงินรับฝากและทุนเรือนหุ้น ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรนากลาง จำกัด



วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 นางรัชนก เพ็ชรน้อย นักวิชาการตรวจสอบบัญชีชำนาญการ (ผู้สอบบัญชี) และผู้ช่วยผู้สอบบัญชี ลงพื้นที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของยอดหนี้ เงินรับฝากและทุนเรือนหุ้น ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรนากลาง จำกัด สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 ณ พื้นที่อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบ ข้อบังคับ และคำแนะนำของนายทะเบียนสหกรณ์ อย่างถูกต้องครบถ้วน พิสูจน์ได้ อีกทั้งได้ให้คำแนะนำแก่สมาชิกในการทำธุรกรรมทางด้านการเงินกับสหกรณ์ด้วย





วันพุธที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ค.ร.ม.ไฟเขียวงบหมื่นกว่าล้าน หนุนโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านและพาณิชย์


ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 เห็นชอบโครงการ สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง กรอบวงเงิน 10,300 ล้านบาท ตามที่รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ด้วยการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำให้ชาวประมงสามารถกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้ง จากการปฏิรูปภาคการประมงไทยด้วยการประกาศใช้พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชกำหนดการประมง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงรับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการปรับปรุงเรือ เครื่องมือ และอุปกรณ์ทำการประมง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการประมงประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินขาดเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพและบางรายอาจต้องใช้สินเชื่อนอกระบบเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการทำการประมง ดังนั้น ในระยะเร่งด่วน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายให้กรมประมงหาแนวทางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพด้วยการจัดหาแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 


            นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตามที่นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย ผลักดันโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง สำหรับช่วยบรรเทาภาระของชาวประมงด้วยการสนับสนุนแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งทุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับใช้ในการปรับปรุงเรือประมง ปรับเปลี่ยนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ทำการประมง ตลอดจนมีเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ซึ่งกรมประมงได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการประมง เพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมประมง ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนเรือประมงไทยที่มีทะเบียนเรือ รวม 61,601 ลำ ประกอบด้วย เรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 51,209 ลำ และ เรือประมงพาณิชย์ จำนวน 10,392 ลำ ซึ่งจากการสำรวจของสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยในเบื้องต้นมีผู้ประกอบการประมงต้องการสินเชื่อเป็นจำนวนมากในด้านการจัดหาสินเชื่อเพื่อสนับสนุนให้แก่ผู้ประกอบการประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์
ภายใต้โครงการดังกล่าวจะสนับสนุนวงเงินสินเชื่อรวม 10,300 ล้านบาทโดยธนาคารของรัฐเข้าร่วมจำนวน 2 แห่ง ประกอบด้วย 1. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) ปล่อยสินเชื่อสนับสนุนเรือประมงขนาดต่ำกว่า 60 ตันกรอส โดยสนับสนุนรายละไม่เกิน 5 ล้านบาท 2. ธนาคารออมสิน ปล่อยสินเชื่อสนับสนุนเรือประมงขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปวงเงินสินเชื่อจำนวน 5,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนรายละไม่เกิน 10 ล้านบาท โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 8 ปีนับจากวันที่ ครม.มีมติอนุมัติโครงการ โดยทั้งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. จะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านกู้เงินทุนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี กล่าวคือ รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปีและ ผู้ประกอบการประมงจะต้องจ่ายสมทบอีกร้อยละ 4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 7 ปีนับตั้งแต่วันที่กู้ 


ทั้งนี้ในส่วนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ธนาคารออมสินได้ดำเนินโครงการสินเชื่อส่งเสริมศักยภาพเรือประมงนอกน่านไทย โดยวงเงินกู้สูงสุดไม่เกินลำละ 20 ล้านบาท สูงสุดไม่เกินรายละ 3 ลำ วงเงินโครงการ 500 ล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 
            อธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า การปฏิรูปภาคการประมงไทยมีเป้าหมายหลักเพื่อการบริหารจัดการด้านการประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำ ปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพการประมงทุกภาคส่วนอย่างมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร การใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องขอบคุณรัฐบาลและท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ให้ความสำคัญในการสนับสนุนพี่น้องชาวประมงที่ต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ  ให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพประมงได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน อย่างสง่างามภายใต้การทำประมงอย่างรับผิดชอบ โครงการดังกล่าวนี้จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สะท้อนให้เห็นว่าถึงแม้ภาครัฐจะมีการออกมาตรการต่างๆ มาบังคับใช้ แต่ก็ได้ให้ความสำคัญกับการหาแนวทางการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมงควบคู่ไปด้วยเช่นกัน ต้องขอขอบคุณทุกความร่วมมือที่ร่วมจับมือกันก้าวเดินไปข้างหน้าเพื่อร่วมสร้างความยั่งยืนด้วยวิถีการทำประมงที่เกื้อกูลกันมากยิ่งขึ้นพร้อมส่งต่อทรัพยากรสัตว์น้ำของประเทศให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเราช่วยกันดูแลต่อไป สำหรับชาวประมงผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมประมง โทร.02-562-0600-15 หรือสำนักงานประมงจังหวัดใกล้บ้านท่าน

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ประมงสุพรรณบุรี โชว์โมเดลความสำเร็จในการระบายผลผลิตสัตว์น้ำ พร้อมผลักดันสร้างต้นแบบ “ตลาดกุ้งก้ามกราม” ประจำจังหวัด


         กรมประมง โดยสำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี ร่วมกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ ชมรมผู้เพาะเลี้ยงกุ้งคุณภาพจังหวัดสุพรรณบุรี และภาคเอกชน ระดมพลช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่ได้รับผลกระทบจากโรค COVID - 19 เปิด “ตลาดกุ้งก้ามกรามสุพรรณบุรี” เพื่อเป็นช่องทางกระจายผลผลิต ทำให้เกษตรกรได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสจนสามารถระบายกุ้งก้ามกรามค้างบ่อได้ถึง 50 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท


         นายเดชา รอดระรัง ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นในการวางแนวทางการตลาดให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าโดยตรงไปยังผู้บริโภค เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีไม่สามารถระบายผลผลิตกุ้งก้ามกรามได้ตามปกติทั้งที่อยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์    ทางจังหวัดสุพรรณบุรีโดย สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุพรรณบุรี สำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณบุรี ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งคุณภาพจังหวัดสุพรรณบุรี และภาคเอกชน จึงได้ร่วมหารือเพื่อหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม โดยจัดให้มีการเปิดจุดจำหน่ายกุ้งก้ามกรามให้กับเกษตรกร และได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าแจ้งความประสงค์ในการจำหน่ายพร้อมปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ส่วนราชการกำหนด โดยในระยะแรกได้นำร่องเปิดจุดจำหน่ายกุ้งก้ามกรามให้เกษตรกร จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ 1. ศาลากลางจังหวัด 2. สำนักงานสหกรณ์จังหวัด 3. สหกรณ์การเกษตรศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ 4. ที่ว่าการอำเภอเดิมบางนางบวช 5. ด้านหน้าห้างเทสโก้โลตัส อำเภอสามชุก และ 6. บริเวณบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตรงข้ามศาลหลักเมือง ซึ่งปรากฏว่าได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี ผู้บริโภคและประชาชนในพื้นที่มีความต้องการซื้อกุ้งก้ามกรามเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่เข้าร่วมจำหน่าย สามารถระบายผลผลิตได้กว่า 50.9 ตัน คิดเป็นมูลค่า 10,188,500 บาท (ระยะเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 27 มีนาคม 2563 – 21 พฤษภาคม 2563)


            นับว่าเป็นความสำเร็จของจังหวัดที่สามารถทำให้เกษตรกรหลุดพ้นจากสภาวะการเลี้ยงขาดทุน ทางจังหวัดจึงได้มีแนวคิดในการเปิด “ตลาดกุ้งก้ามกรามสุพรรณบุรี” เพื่อกระจายสินค้าอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทำให้เกษตรกรได้เห็นถึงศักยภาพของตลาดภายในจังหวัดสุพรรณบุรีว่าผลผลิตสามารถจำหน่ายได้แน่นอน เนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคกุ้งก้ามกรามอยู่เป็นจำนวนมาก และพร้อมที่จะผลักดันตลาดดังกล่าวเพื่อเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป


            สำหรับ “ตลาดกุ้งก้ามกรามสุพรรณบุรี” ปัจจุบันเปิดให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตกุ้งก้ามกราม ณ ตลาดพอเพียง บริเวณบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตรงข้ามศาลหลักเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจะเปิดให้จำหน่ายทุกวัน ในเวลา 09.00 - 18.00 น. ซึ่งเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้จำหน่ายกุ้งก้ามกรามในราคาที่สูงกว่าที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อ แต่ราคาถูกกว่าร้านค้าปลีกทั่วไป ทำให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตไปสู่ผู้บริโภคโดยตรง อีกทั้งเกษตรกรยังได้รับรู้ถึงความต้องการของตลาดและนำไปปรับใช้ในการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในตลาดมากขึ้น
            นายสรชัด สุจิตต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกรามในจังหวัดว่ากำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก            ไม่สามารถระบายผลผลิตของตนเองได้และมีกุ้งตกค้างในบ่ออยู่เป็นจำนวนมาก ในฐานะที่เป็นผู้แทนประชาชนของจังหวัดสุพรรณบุรี จึงได้มีการหารือกับทางประมงจังหวัดและหน่วยงานราชการในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร และรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการเป็นผู้ประสานงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเกษตรกร ในการขอใช้สถานที่เพื่อเปิดจุดจำหน่ายกุ้งก้ามกรามจนก่อให้เกิด “ตลาดกุ้งก้ามกรามสุพรรณบุรี” ในปัจจุบัน และมีความคาดหวังให้เกษตรในพื้นที่สามารถปรับตัวจากเดิมที่รอการรับซื้อจากพ่อค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว ให้หันมาขายของผ่านช่องทางตลาดเพื่อให้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนมุมมองในการจำหน่ายผลผลิตของตนเอง รู้ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น


           ประมงจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวเพิ่มเติมในตอนท้ายว่า ในอนาคตทางจังหวัดสุพรรณบุรีได้วางแผนเพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาตลาดของจังหวัดให้เป็นตลาดค้าส่งและค้าปลีกที่ได้มาตรฐานต่อไป ฉะนั้นเกษตรกรที่ต้องการจำหน่ายกุ้งก้ามกรามผ่านช่องทางการตลาดจะต้องทำตามกติกาที่ทางจังหวัดกำหนดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยในการขายและจะต้องช่วยกันรักษามาตรฐานในเรื่องของคุณภาพกุ้งก้ามกราม ให้มีขนาด น้ำหนัก และราคาที่เหมาะสมตามที่ส่วนราชการกำหนด เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ทำให้มั่นใจได้ว่าการซื้อกุ้งก้ามกรามในตลาดกุ้งสุพรรณบุรี จะได้รับสินค้าที่ดีมีมาตรฐาน สดใหม่อย่างแน่นอน

รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่ตลาดขายกุ้งก้ามกราม สุพรรณบุรี


         ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อพบปะพูดคุยให้กำลังใจและเยี่ยมชมบรรยากาศตลาดขายกุ้งก้ามกราม จ.สุพรรณบุรีจากการส่งเสริมของสำนักงานประมงจังหวัดสุพรรณฯ และมานิตย์ฟาร์ม ฟาร์มเลี้ยงกุ้งก้ามกรามที่เข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกรมประมง พร้อมสอบถามปัญหาอุปสรรคและเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือกับทางกรมประมง ตลอดจนให้คำแนะนำในการเพาะเลี้ยงเลี้ยงกุ้งก้ามกรามแก่เกษตรกร เพื่อให้ปรับตัวกับช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID – 19)




วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

วิสาหกิจชุมชนเกาะทวดฯ จับมือ แม็คโคร ฝ่าโควิด-19 ส่งผักปลอดภัย ส้มโอดัง จากชาวสวนและโรงเรียนในพื้นที่ ขึ้นห้าง



ไม่มีใครคาดคิดว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบรุนแรงและยาวนาน ไม่เว้นแม้แต่ชุมชนเข้มแข็งอย่าง วิสาหกิจชุมชนเทศบาลตำบลเกาะทวดจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งมีรายได้หลักจากการส่งออก ส้มโอทับทิมสยาม ส้มโอทองดี ไปขายยังประเทศจีน และส่งผักปลอดภัย ผักพื้นบ้าน ขายในประเทศ ที่โดนแรงสั่นสะเทือน ทำให้ผลผลิตในพื้นที่ต้องการตลาดเพื่อระบาย หารายได้ทดแทนการส่งออกที่หายไป นั่นทำให้ บุญรวย คงเกาะทวด ประธานวิสาหกิจชุมชนเทศบาลตำบลเกาะทวด ได้พบกับ แม็คโคร


เมื่อก่อนเกษตรกรที่นี่ปลูกผลผลิตตามกระแส ใครบอกว่า ปาล์มขายดีก็แห่ปลูกกัน พอผลผลิตออกมาก็ล้น ราคาก็ต่ำ ผมจึงเสนอแนวคิดให้เกษตรกรปลูกพืชสร้างรายได้ เป็นที่ต้องการ อย่าง ส้มโอทับทิมสยาม ส้มโอทองดี นอกจากนี้ยังมีคนสนใจเรื่องสุขภาพก็มารวมกลุ่มกัน ปลูกผักปลอดภัย ผักอินทรีย์ ไปด้วยเลยบุญรวย บอกเล่า
เกษตรกรหลายร้อยครัวเรือน จึงมารวมตัวกัน ใช้พื้นที่เพาะปลูกมากกว่า 500-600 ไร่ ลงมือลงแรงแปลงเป็นสวนส้มโอทับทิบสยาม  ส้มโอทองดี ผักอินทรีย์ ผักปลอดภัย ต่างๆ ส่งผลผลิตขายในนาม วิสาหกิจชุมชนเทศบาลตำบลเกาะทวดจนส้มโอเลื่องชื่อ ตลาดส่วนใหญ่ส่งออกไปขายยังประเทศจีน ส่วนผักกระจายไปยังตลาดสด ร้านอาหาร โรงแรม ใกล้เคียง


ผักจากวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจ เพราะส่วนหนึ่งมาจากแปลงปลูกของโรงเรียน 4 แห่ง ฝีมือเกษตรกรรุ่นเยาว์ ระดับประถมศึกษา  3 แห่ง ระดับมัธยมศึกษา 1 แห่ง ที่เป็นความหวังของชาวบ้าน และหนึ่งในนั้นมี โรงเรียนนครศรีธรรมราชปัญญานุกูล ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ก็มีผลผลิตส่งมาขายด้วยเช่นกัน


หลังจากวิสาหกิจเริ่มอยู่ตัว เราก็หันมาปลูกฝังเรื่องการปลูกผักปลอดภัย และเศรษฐกิจพอเพียงในเยาวชนกลุ่มนักเรียน เริ่มจากระดับประถมศึกษา  เน้นผักปลูกง่าย เช่น ผักบุ้ง ผักโขมแดง ดูแลไม่ยาก  ระดับมัธยมศึกษาก็ปลูกพืชที่ยากขึ้นมาอีกนิด คือ แตงร้าน ฟักทอง ฟักเขียว มะระ  ผลผลิตที่ได้ส่วนหนึ่งนำไปทำเป็นอาหารกลางวัน ส่วนที่เหลือนำมาขายผ่านวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ ส่งเสริมการบริโภคผักปลอดภัย


วิด-19 พ่นพิษ ได้แม็คโครช่วยคิด
บุญรวย ยอมรับว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผลผลิตขายไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน ยอดขายหายไปราว 60 เปอร์เซนต์ วิสาหกิจชุมชนต้องปรับตัว มองหาตลาดภายในประเทศ จนได้มาเจอกับ แม็คโคร ที่เข้ามาช่วยแนะนำในเรื่องการตลาด ช่องทางจำหน่าย และวางแผนการผลิต ซี่งเป็นสิ่งจำเป็นของเกษตรกรในพื้นที่ ที่ส่วนใหญ่...ปลูกเป็นแต่ขายไม่เป็น
ผักแบ่งปัน
บุญรวยบอกอีกว่า ในช่วงโควิด-19 เช่นนี้ ยังมีผลผลิตผักส่วนหนึ่งที่ขายไม่ได้ สมาชิกจึงตกลงกันว่า จะนำผักเหล่านี้ไปมอบให้กับเทศบาล เป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร จัดส่งไปยังวัดวาอารามที่ตั้งโรงทานแจกจ่ายให้กับประชาชนที่กำลังลำบาก
เราโชคดี ที่ดินในพื้นที่เกาะทวดมีความอุดมสมบูรณ์ เหลือกินก็ขาย ขายไม่ได้ก็แบ่งปัน   ช่วงนี้ถ้าจะขาดแคลนจริงๆ ก็พวกอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาด อย่างเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค หน้ากากอนามัย  ซึ่งตรงนี้วิสาหกิจชุมชนก็ปันกำไร  3-4 % ซื้อหามาแจกจ่าย สร้างภูมิคุ้มกันให้คนในชุมชนแข็งแรง


ด้าน นายภควัฏ ฉินทกานันท์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายจัดซื้ออาหารสด  บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)  กล่าวว่า ทางแม็คโครได้เข้าไปช่วยเหลือ รับซื้อผลผลิตจากวิสาหกิจชุมชนเทศบาลตำบลเกาะทวด  ประกอบด้วย ส้มโอทองดี ผักสลัดคอส ผักพื้นบ้าน อาทิ ผักเหลียง โดยเริ่มวางขายในแม็คโครสาขาโซนภาคใต้ ก่อน ซึ่งเราได้วางแผนการรับซื้อผัก ผลไม้ปลอดภัยเพิ่มเติมอีกกว่า 17 รายการ นำไปวางขายในแม็คโครสาขาภาคใต้ และขยายสู่สาขาอื่นๆ ต่อไป
แม็คโครไม่เพียงรับซื้อผลผลิตในช่วงวิกฤตเท่านั้น แต่ยังร่วมวางแผนการเพาะปลูก ทำงานใกล้ชิดกับวิสาหกิจชุมชนฯ โดยให้ความรู้ด้านการตลาด  มาตรฐานความปลอดภัย ตลอดจนการจัดการบริหารผลผลิตที่ตลาดมีความต้องการ
ในช่วงวิกฤตเช่นนี้ แม็คโครเข้าใจดีว่า เกษตรกรรายย่อยมีความยากลำบากในการกระจายผลผลิต  เราจึงไม่นิ่งนอนใจที่จะเข้ามาช่วยเหลือ  โดยยังคงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยอย่างเข้มข้น และสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตผักปลอดภัย อันเป็นนโยบายหลัก เราเชื่อว่า หากสามารถช่วยให้เกษตรกรขายผลผลิตได้มากๆแล้ว การสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มั่นคงยั่งยืนก็จะเกิดขึ้นตามมา
เสน่ห์ของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้จึงไม่ได้เลื่องชื่อแค่ผักผลไม้ที่มีคุณภาพดี  แต่ยังได้ชื่อว่า เป็นชุมชนแห่งไมตรีจิต ที่มีความเห็นอกเห็นใจ  ดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างแข็งแกร่งยิ่ง

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...