เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 พฤษภาคม 2563 ณ ห้องประชุม หมายเลข 2205 อาคารสุขประพฤติ คณะอนุกรรมาธิการด้านการผลิต ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์
วุฒิสภาโดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการได้ดำเนินการประชุมในประเด็นแนวทางการดำเนินการในภาวะ
COVID-19 และข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติตามสถานการณ์
โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแผนย่อยเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP และเกษตรเชิงพื้นที่ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค
COVID-19 ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรในทางอ้อม
โดยเฉพาะด้านรายได้ของเกษตรกรที่ลดลงเนื่องจากการขาดความสะดวกในการกระจายสินค้าเกษตรสำหรับจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ
ซึ่งเป็นผลมาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร
โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง
ดังนั้น การแก้ไขปัญหาผลกระทบของภาคเกษตรในสถานการณ์การแพร่ระบาดของของโรค
COVID-19 จึงต้องอาศัยการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งจากภาครัฐ
ภาคมหาวิทยาลัย ภาคเอกชน และภาคประชาชนในการส่งเสริมพัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป
การจำหน่าย และต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตเกษตรที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร
ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร โดยมุ่งสร้างเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (smart
famer) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับคุณภาพซึ่งได้รับการรับรองความปลอดภัยของสินค้าเกษตรตามมาตรฐาน
GAP ตลอดจนการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าเกษตรทั้งพืชประมง
ปศุสัตว์ และสินค้าเกษตรที่ไม่ใช่อาหาร โดยการพัฒนา Platform เพื่อส่งเสริมการตลาดสินค้าผ่านช่องทาง E - Commerce มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้
จะต้องมีการประสานความร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรในการกำหนดมาตรการให้ความช่วยเหลือด้านภาระหนี้สินของเกษตรกรควบคู่กับนโยบายการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรของรัฐบาล
และมีการส่งเสริมสนับสนุนการวางแผนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ยึดหลักการดำเนินการเชิงพื้นที่โดยมีชุมชนเป็นตัวตั้ง
และการกำหนดแผนงานหรือโครงการต่างๆ ในระดับชุมชนที่เน้นการพัฒนาแบบยั่งยืนมาปรับใช้ร่วมกับแนวพระราชดำริด้านเกษตรทฤษฎีใหม่
เพื่อพัฒนาภาคการเกษตรในเชิงโครงสร้างการผลิต แก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร
ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเอง มีอาหารพอเพียงสำหรับเลี้ยงตนเองและเป็นรายได้ให้ครอบครัว
และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรอาศัยวิกฤติที่เกิดขึ้น
เร่งสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์
เพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคงอาหารในระดับชุมชนที่จะนำไปสู่ความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
และมีการขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ซึ่งมีข้อมูลเชิงลึกถึงระดับชุมชน
สามารถวางแผนงานให้ตอบสนองความต้องการของชุมชนและแก้ปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็วมากขึ้น
รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการในภาวะวิกฤตในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่เชื่อมโยงกับการตลาดและแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรในพื้นที่
ตลอดจนการส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตรเข้ามามีบทบาทในการดูแล รวบรวม
และจำหน่ายผลผลิตสินค้าเกษตร โดยมีการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับผู้จัดการสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์
และจะต้องมีการพัฒนาระบบ Big Data และเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น