วันจันทร์ที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

สวทช. หนุน “ทรอปิก้า คิงส์” ต่อยอดธุรกิจด้วย Startup Voucher แปรรูปสินค้าเกษตรไทย สู่นวัตกรรม “มะม่วงน้ำดอกไม้พร้อมปั่นแบบซอง”



สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์แบรนด์ Tropica King (ทรอปิก้า คิงส์) ในโครงการ Startup Voucher (โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรม) ประจำปี 2561 ช่วยต่อยอดธุรกิจด้านการตลาด เพิ่มโอกาสเข้าถึงและขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงบริการของหน่วยงานต่างๆ ผู้ประกอบการชี้ ธุรกิจนวัตกรรมนี้มีส่วนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ที่สินค้าล้นตลาดหรือขายไม่ทันช่วง COVID-19 เป็น มะม่วงน้ำดอกไม้พร้อมปั่นแบบซองนวัตกรรมคนไทย 100%


นายสุรวิชญ์ ทิพยารมณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอลพาร์ทเนอร์อินเตอร์ฟู้ด จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้เข้าร่วมโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ หรือ Startup Voucher ประจำปี 2561 ของ สวทช. ซึ่งผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ภายใต้แบรนด์ Tropica King (ทรอปิก้า คิงส์) ได้นำเทคโนโลยีการแปรรูปใหม่ๆ เข้าไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าทั้งคนไทยและต่างประเทศ ทำให้สามารถกระจายสินค้าไปถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้หลากหลาย และได้รับการตอบรับที่ดี แต่เดิมบริษัทฯ มีเฉพาะผลิตภัณฑ์ท็อปปิ้งมะม่วงน้ำดอกไม้พร้อมใช้บรรจุกระป๋องเท่านั้น แล้วได้ต่อยอดผลิตภัณฑ์เป็น มะม่วงน้ำดอกไม้พร้อมปั่นแบบซอง ที่เพียงแค่ฉีกซองปั่นกับน้ำแข็ง สามารถเสิร์ฟเป็นเมนูสมูทตี้มะม่วงน้ำดอกไม้ได้ทันที ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มร้านคาเฟ่ ร้านอาหาร โรงแรม หรือธุรกิจฟู้ดเซอร์วิส ทำให้ลูกค้ามีเมนูมะม่วงปั่นไว้เสิร์ฟตลอดปี ใช้งานง่าย สะดวก ไม่ต้องแช่เย็น ยืดอายุเก็บรักษาได้นาน 4 เดือน ช่วยแก้ปัญหามะม่วงสดเน่าเสียหายได้เป็นอย่างดี


โดยบริษัทฯ ได้ดำเนินธุรกิจที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ไทยและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 บริษัทฯ ได้ช่วยรับซื้อมะม่วงน้ำดอกไม้สดจากเกษตรกรมากกว่า 20 ตันเข้ามาแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่ม ยืดอายุ ทำให้เกษตรกรเพิ่มโอกาสการขายมะม่วงได้มากกว่าการขายแบบผลสด นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน ยังส่งผลกระทบในด้านอุปสงค์ของตลาดกลุ่มเป้าหมายที่ลดลงอย่างกะทันหันทั้งในและต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ ต้องปรับแผนระยะสั้นและระยะกลางเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ ผลไม้ไทยพร้อมปั่นเพื่อมุ่งเน้นเจาะตลาดในประเทศ ระหว่างที่รอให้สถานการณ์คลี่คลาย ขณะที่แผนระยะยาวที่บริษัทฯ ตั้งใจไว้ คือการนำผลิตภัณฑ์ผลไม้ไทยแปรรูปภายใต้แบรนด์ Tropica King ไปสร้างชื่อเสียงให้กับผลไม้ไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกได้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำรายได้กลับเข้าสู่ประเทศไทยต่อไป สำหรับผู้สนใจผลิตภัณฑ์ของบริษัท สามารถสอบถามได้ที่เว็บไซต์ https://www.tropicaking.com/
นายสุรวิชญ์ กล่าวต่อว่า โครงการ Startup Voucher ของ สวทช. เป็นโครงการจากภาครัฐที่มีประโยชน์ และช่วยส่งเสริมได้ตรงจุดในแง่ของการเร่งการเติบโตให้กับธุรกิจเกิดใหม่ หรือ Startup ให้เติบโตรอดพ้นจากช่วงเริ่มต้นกิจการ ที่ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของธุรกิจ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด การสื่อสาร และช่วยต่อยอดให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำในเรื่องการบริหารแผนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งการบริหารงบประมาณ การตลาด และการช่วยเหลือในเรื่องการจัดหาช่องทางการขายใหม่ ๆ เช่น พาไปออกงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์อาหารในงาน THAIFEX เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ โครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ (Startup Voucher) เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดย ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ของ สวทช. ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เพื่อมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่มีลักษณะใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในกระบวนการผลิตหรือให้บริการ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หรือบริการออกสู่ตลาดและมียอดขายแล้ว และมีศักยภาพในการเติบโต รวมถึงมีแผนกิจกรรมและค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและแผนรายได้ที่มีความสอดคล้องและมีความเป็นไปได้ในการสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท ในระยะเวลา 8 เดือน ตลอดจนมีความพร้อมของบุคลากรที่จะดำเนินงานให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายของโครงการ โดยโครงการจะสนับสนุนในรูปแบบเงินทุนด้านการตลาดในอัตราร้อยละ 75 ของมูลค่าโครงการ (ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงก่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่ไม่เกิน 800,000 บาท ต่อโครงการต่อราย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงและขยายตลาดได้ รวมถึงมีโอกาสรับบริการของหน่วยงานต่างๆ อาทิ การศึกษาตลาด การพาออกตลาดทั้งในและต่างประเทศ การได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและธุรกิจ การจ้างงานพัฒนาเทคโนโลยี และการทำเนื้อหาการประชาสัมพันธ์การตลาด เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...