กรมประมง คัดเลือก 4
ชุมชนประมงชายฝั่งอ่าวไทย - อันดามัน : ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ชุมชนประมงต้นแบบบ้านไหนหนัง จังหวัดกระบี่
ชุมชนบ้านโคกไคร และ ชุมชนบ้านบางพัฒน์ จังหวัดพังงา นำร่องเข้าโครงการ Fisherman’s Village
Resort โชว์ของดีของวิถีประมงท้องถิ่น ดึงเสน่ห์ความเป็นชุมชนประมง
ทั้งวัฒนธรรมความเป็นอยู่ การทำอาชีพประมงพื้นบ้าน อาหารทะเลสดๆ
หวังกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้
ส่งเสริมคุณภาพชีวิตพี่น้องชาวประมงให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
และจะปั้นเป็นโมเดลแหล่งเกษตรท่องเที่ยวในอนาคต
นายบัญชา
สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า
จากนโยบาย ดร.เฉลิมชัย
ศรีอ่อนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ที่เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินภารกิจต่างๆ
เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย
โดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ได้มีดำริให้กรมประมงส่งเสริมกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านให้มีอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้น
ในรูปแบบของการนำผลผลิตสัตว์น้ำที่จับมาได้มาสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวพักผ่อนในแหล่งชุมชนประมงพื้นบ้าน
กรมประมงจึงได้จัดทำโครงการ Fisherman ‘s Village Resort ขึ้น
เพื่อดึงเอาศักยภาพของชุมชนประมงพื้นบ้านใน 22
จังหวัดชายทะเล และชุมชนประมงในแหล่งน้ำจืด ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติอยู่ใกล้ตัว
ทั้งอาหารทะเลที่สดใหม่ แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ วิถีการทำประมง
รวมไปถึงวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่น
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเสน่ห์ที่ผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวอยากสัมผัสทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้ซื้อหาและรับประทานอาหารทะเลสดๆ ราคาถูกไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
อีกทั้งยังช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกจากรายได้จากการทำประมงเพียงอย่างเดียวด้วย
โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวประมงในชุมชน
บนฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่ ซึ่งถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจระดับฐานราก
สร้างธุรกิจชุมชน จากการจำหน่ายอาหารทะเลให้แก่นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น
ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวจะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานสร้างอาชีพในชุมชนเกิดการกระจายรายได้
อีกทั้งยังจะสร้างให้เป็นศูนย์เรียนรู้โมเดลเกษตรท่องเที่ยว (Agricultural
Tour) แก่ชุมชนประมงแห่งอื่นๆ ต่อไป
และอาจมีส่วนช่วยให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนมีงานทำในถิ่นฐานของตน
ไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิด อย่างไรก็ตาม
โครงการฯ ดังกล่าว
ได้วางกรอบแนวทางการดำเนินงานไว้ว่าจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนด้วย
โดยขณะนี้
กรมประมงได้คัดเลือกหมู่บ้านชุมชนชาวประมงชายฝั่งทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และ ฝั่งทะเลอันดามัน
รวมจำนวน 4 แห่ง นำร่องเข้าร่วมโครงการ Fisherman’s
Village Resort แล้ว ประกอบด้วย
1. ชุมชนประมงชายฝั่งทะเลอ่าวไทย
จากจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 1 แห่ง คือ
ชุมชนประมงพื้นบ้านอ่าวปากพนัง ซึ่งประกอบด้วย บริเวณบ้านปากพูน บ้านท่าซัก (ปากพญา) อำเภอเมือง และ
บ้านแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง
ซึ่งชุมชนทั้งหมดนี้ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวปากพนัง
จึงมีจุดเด่นในวิถีการทำประมงแบบยั่งยืน
ชาวประมงในชุมชนอนุรักษ์และดูแลพื้นที่ประมงหน้าบ้าน มีแพลอยน้ำเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย
ทำให้บริเวณดังกล่าวมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ อีกทั้ง
ยังมีแหล่งอนุรักษ์หอยแครง ธนาคารปูม้า
ซึ่งนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม มีกิจกรรมมากมายให้ได้สัมผัส เช่น
การหาหอยจุ๊บแจง เดินชมอุโมงค์อเมซอนในป่าชายเลน
(Walk Way) และฝูงหิ่งห้อยที่ส่องแสงสว่างไปทั่วคุ้งน้ำ
นอกจากนี้ ที่บ้านแหลมตะลุมพุก ยังมี Story เรื่องราวของแหลมตะลุมพุกที่โดนพายุแฮเรียตพัดขึ้นฝั่งจนสร้างความเสียหายประชาชนล้มตายจำนวนมากในเวลาไม่กี่
และมีจุด check in แหลมตะลุมพุก
ที่สามารถไปปักธงชาติที่ปลายแหลม เป็นไฮไลท์ของชุมชนแห่งนี้อีกด้วย ทั้งนี้
นักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ภายใน 1 วัน หรือ จะพักค้างแรมก็มีโฮมสเตย์บริการ
และหากอยากซื้อของฝากก็มีผลิตภัณฑ์จากกลุ่มแม่บ้านแปรรูป และอาหารทะเลสดๆ
จำหน่ายอีกด้วย
2. ชุมชนประมงชายฝั่งทะเลอันดามัน
จากจังหวัดกระบี่ และ พังงา จำนวน 3 แห่ง ดังนี้
2.1 ชุมชนประมงต้นแบบบ้านไหนหนัง หมู่ที่ 3 ตำบลเขาคราม
อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน
มีสัตว์น้ำและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์
ทำให้ชาวประมงต่างรักและหวงแหนทรัพยากรในพื้นถิ่น
ประกอบกับกรมประมงได้เข้าไปส่งเสริมในเรื่องของการบริหารจัดการทรัพยากร
ทั้งในเรื่องของการใช้เครื่องมือที่ถูกกฎหมาย
มีการรณรงค์ให้มีการยกเลิกใช้เครื่องประมงที่มีประสิทธิภาพ
คนในชุมชนจึงได้ร่วมใจกันหยุดทำการประมงด้วยเครื่องมือทำลายล้างสูง นอกจากนี้
ยังมีการฟื้นฟูทรัพยากรประมง เช่น การทำประมงด้วยเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น
การทอดแห การใช้เบ็ดตกปลา การจัดทำเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูหอยชักตีน หอยจุ๊บแจง หอยแครง ปูทะเล
การจัดตั้งธนาคารปูม้าไข่ ธนาคารบ้านปลา
และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำ ฯลฯ
ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นวิถีการทำประมง ที่น่าเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัส
นอกจากนี้ ที่ชุมชนบ้านไหนหนัง ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น
หุบผาปีศาจ ภาพเขียนโบราณ
หน้าต่างมนุษย์โบราณ ณ เขากาโรส
แหล่งแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง แหล่งวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงผึ้ง ไร่นาสวนผสม ฯลฯ ที่น่าสนใจอีกด้วย
2.2 ชุมชนบ้านโคกไคร หมู่ที่
1 ตำบลมะรุ่ย อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา
ซึ่งวิถีชีวิตของชุมชนชาวประมง บ้านโคกไคร จะมีการทำประมงเพื่อยังชีพ
มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมง และการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในอ่าวพังงาด้วย
โดยชาวประมงบ้านโคกไคร มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเกษตรกรชั้นนำศูนย์กลางการแปรรูปสัตว์น้ำและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
โดยมีการจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรนำภูมิปัญญาและของดีในท้องถิ่นมาแปรรูปสร้างรายได้ให้กับชุมชน
มีผลิตภัณฑ์เด่น คือ "กุ้งย่าง" ซึ่งถือเป็นสินค้าโอทอปของจังหวัดพังงา
มีวิถีประมงเชิงอนุรักษ์ ด้วยการทำธนาคารปูม้า และ ธนาคารหอยนางรม
ซึ่งพื้นที่บ้านโคกไคร เป็นแหล่งเลี้ยงหอยนางรมที่สำคัญของประเทศไทย และมีวิถีธรรมชาติ "ปูมดแดง"
บริเวณบนหาดตั้งเลน สปาโคลน คลองมะซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกด้วย
2.3
ชุมชนบ้านบางพัฒน์ หมู่ที่ 8 ตำบลบางเตย อำเภอเมือง
จังหวัดพังงา เป็นชุมชนบนเกาะในอ่าวพังงา
ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ มีร้านและแหล่งอาหารทะเลสด
วิถีการทำประมงที่เก่าแก่ กิจกรรมทางการประมง เช่น ปล่อยปู (ธนาคารปู)
การตกปลา เดินหาหอย ปลูกป่าชายเลน ฯลฯ
และมีโฮมสเตย์สำหรับบริการให้แก่นักท่องเที่ยวที่นิยมชมชอบท่องเที่ยวในเชิงอนุรักษ์อีกด้วย
โดยจากนี้
กรมประมงเข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการชุมชนประมงที่เข้าร่วมโครงการ
Fisherman’s Village Resort เพื่อให้ชุมชนได้สามารถนำไปพัฒนาชุมชนให้มีระบบและมีการจัดการชุมชนที่เข้มแข็ง
เพื่อให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนประมงที่มีศักยภาพที่สมบูรณ์และกลายเป็นแหล่งสร้างอาชีพและรายได้
พัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2564 จะดึงศักยภาพของชุมชนประมงท้องถิ่นที่มีอยู่และนำมาพัฒนาให้สามารถเข้าร่วมโครงการฯ
ได้ในทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล
และจะขยายไปยังชุมชนประมงน้ำจืดอีก 4 แห่ง ด้วยในอนาคต