บริษัท
ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่นจัดพิธีมอบรางวัล“สุดยอดนวัตกรรมช่างชุมชน”
พร้อมเปิดตัว 10 ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาชุมชน
เพื่อรับทุนพัฒนาสิ่งประดิษฐ์มูลค่ารวมกว่า 600,000 บาท
พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและโอกาสขอรับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้
ยังมีกิจกรรมเวิร์ค
ช็อปการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมช่างชุมชน แบบ 4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด)
เพื่อยกระดับศักยภาพสู่การเป็น “นวัตกรช่างชุมชน” และขยายผลสู่ระดับประเทศ นับเป็นโครงการความร่วมมือครั้งแรกของประเทศไทยระหว่างหน่วยงานภาครัฐ
ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น
เพื่อส่งเสริมช่างชุมชนอย่างเป็นรูปธรรมและครบวงจร บนแนวคิดของการแก้ไขปัญหาทางสังคมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ
(Design Thinking) โดยนำเอาต้นแบบสิ่งประดิษฐ์ของช่างชุมชนมาต่อยอด
ผ่านการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและโอกาสเข้าถึงทรัพยากรในด้านต่างๆ ทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์
เทคนิคทางวิศวกรรม การบริหารจัดการธุรกิจ และการเชื่อมโยงความร่วมมือเพื่อพัฒนานวัตกรรมกับหน่วยงานภาครัฐ
ดร.สุภามาส
ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง
จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ช.การช่าง มีความภูมิใจที่ได้เห็นการดำเนิน “โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน”
ร่วมกับพันธมิตรอย่างสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
และสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น ได้เดินหน้าอย่างแข็งแกร่งมาจนถึงวันนี้
ซึ่งเราได้เห็นผลงานต่างๆ จากความคิดสร้างสรรค์และความสามารถคนไทยในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ
ที่มีทั้งศักยภาพและมีโอกาสที่จะนำมาต่อยอด ขยายขีดสามารถจากการใช้แก้ปัญหาของพื้นที่ในแต่ละท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น
เราพร้อมอย่างยิ่งที่จะมีส่วนร่วมในการสนับสนุนเงินทุนและการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิคต่างๆ
โดยเฉพาะในด้านวิศวกรรมให้แก่ช่างชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่ก่อให้เกิดคุณค่าต่อสังคม
ชุมชน เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับพันธกิจของ ช. การช่าง
ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนและพัฒนาประเทศผ่าน โครงสร้างพื้นฐานและการคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก
และมีความมุ่งมั่นเดินหน้าสานต่อโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไปอย่างต่อเนื่องในอนาคต”
ด้าน
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ
(องค์การมหาชน)หรือ NIA กล่าวว่า “การจัด ‘โครงการส่งเสริมนวัตกรรมช่างชุมชน’ เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยในท้องถิ่นทั่วประเทศล้วนมีทักษะในด้านนวัตกรรมและกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่มีศักยภาพ
สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนได้ ด้วยจำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนมาก
หลายผลงานมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรมซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนไทยส่วนใหญ่ในท้องถิ่นเช่นเครื่องจักรกลเกษตร
ระบบชลประทานการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่หาได้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย แต่สามารถนำมาพัฒนาเพื่อนำไปใช้งานในบริบทที่กว้างขึ้น
กลายเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยในวงกว้างหากมีโอกาสได้เข้าถึงการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ
และเอกชน ทั้งในด้านทรัพยากร องค์ความรู้ และแหล่งทุนอย่างเป็นรูปธรรม”
สำหรับผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกทั้ง
10 ทีม ประกอบด้วย เครื่องเจาะดินนิวบอร์น
โดยมีนวัตกรช่างชุมชนคือ คุณปรีชา
บุญส่งศรี 28 หมู่ 6 ต.โคกตูม
อ.เมือง จ.ลพบุรี โทร.086-618-2302 ซึ่งมีแนวคิดในการพัฒนาจากความต้องการที่จะปลูกกล้วยนับพันต้น
แต่พบว่าการขุดหลุมปลูกทีละต้นทั้งเหนื่อยและใช้เวลามาก เครื่องเจาะดินที่หาซื้อได้ก็ไม่ทนทาน
ใช้งานยากและก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย จึงพยายามคิดค้นเครื่องขุดดินตั้งแต่เสียมขนาดใหญ่ที่ทนทานและมีที่เหยียบสำหรับเพิ่มแรงในการขุดมาเป็นสว่านเจาะดินมือหมุน
จนกระทั่งพัฒนาต่อยอดมาเป็นเครื่องเจาะดินแบบรถเข็นล้อเดี่ยว
ที่เหมาะกับการลากเคลื่อนย้ายในพื้นที่ขรุขระ
และช่วยในการควบคุมทิศทางการเจาะดินได้ดี
ซึ่งอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมีจุดเด่นที่ใช้งานได้สะดวก ราคาไม่แพง
เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย
เรือรดน้ำอัตโนมัติ
นวัตกรช่างชุมชนคือคุณสายธาร ม่วงโพธิ์เงิน 96/3 หมู่1 ต.บางแก้วฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม 73120 โทร.094-3695361 มีแนวคิดในการพัฒนาจากการวางระบบสปริงเกลอร์รดน้ำแบบที่สวนอื่นทำ
"ยังไม่ใช่คำตอบ" เพราะต้นทุนสูงกว่าหลายเท่า “โจทย์ตอนนั้นคือทำให้เป็นโรบอท
ทำยังไงให้เรากดสวิตช์ปุ๊บแล้วไม่ต้องสนใจ ปล่อยมันไป ให้มันทำงาน” 'เรือรดน้ำอัตโนมัติ' อาศัยเครื่องยนต์เบนซินสองจังหวะ
มอเตอร์ โฟม เหล็ก ท่อพีวีซีและกล่องควบคุมที่เขียนโปรแกรมให้กับไมโครคอนโทรลเลอร์เพื่อควบคุมความเร็วของมอเตอร์ให้คงที่
เมื่อติดเครื่องแล้ว สามารถปล่อยให้รดไปรอบๆ สวนได้เอง ช่วยลดการใช้แรงงานในการรดน้ำพืชไร่พืชสวนและประหยัดต้นทุนในการทำการเกษตร
จักรยานปีนต้นมะพร้าว
นวัตกรช่างชุมชนคือคุณณรงค์ หงส์วิชุลดา 122 หมู่ 8 บ้านน้อยร่มเย็น ต.กาบเชิง อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ 32210 โทร.062-3483150 พัฒนาขึ้นจากความต้องการแก้ไขปัญหาการหาคนปีนต้นมะพร้าวได้ยาก
เนื่องจากเป็นงานอันตราย ทำให้การเก็บลูกมะพร้าว ลูกตาล ลูกหมาก และการตัดแต่งกิ่งไม้บนต้นไม้สูงมีความปลอดภัยและสามารถออกแบบปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการปีนต้นไม้แต่ละชนิดได้
ประโยชน์ที่ได้รับจากสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้คือลดการสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บของเกษตรกรสามารถอยู่บนต้นไม้ได้เป็นระยะเวลายาวนาน
โดยไม่เกิดความเมื่อยล้า จึงเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น ทำให้รายได้เพิ่มขึ้น
เครื่องอูดยุง
นวัตกรช่างชุมชนคือ คุณสุริยา คำคนซื่อ 187 หมู่ 8 ต.นาขาม อ.เรณูนคร จ.นครพนม โทร.095-2896855 พัฒนาขึ้นจากปัญหาเครื่องพ่นยุงแบบสะพายหลังดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่
เสียงดัง สิ้นเปลืองเชื้อเพลิง และมีราคาแพง ทำให้มีจำนวนเครื่องไม่เพียงพอกับการใช้งานครอบคลุม
80 หมู่บ้านของตำบลท่าลาด จึงสร้างเครื่องพ่นสารกำจัดยุงขนาดเล็กที่ตัวแทน อสม.แต่ละหมู่บ้านสามารถพกพาและใช้งานได้ง่าย
อีกทั้งยังมีราคาถูกจึงสามารถผลิตได้จำนวนมาก
อีกทั้งยังช่วยให้การฉีดกำจัดยุงทำได้อย่างรวดเร็ว ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพของชาวบ้านในชุมชน
โดยเฉพาะโรคติดต่อที่มียุงเป็นภาหะ ลดรายจ่ายของภาครัฐในการรักษาผู้ป่วยจากโรคที่มียุงเป็นพาหะ
และลดรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณเพื่อกำจัดยุงตามหมู่บ้าน
รถไถนั่งขับอีลุย
นวัตกรช่างชุมชนคือ คุณวิมล สุวรรณ 60 หมู่ 1 ต.วังยาง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร 47130 โทร.081-206-2305 แนวคิดในการพัฒนาจากประสบการณ์รับจ้างไถปรับหน้าดินด้วยรถไถเดินตามมาอย่างยาวนาน
ความเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นจนเกือบ จะประสบอุบัติเหตุทำให้ต้องคิดค้นหาวิธีการที่จะทำให้รถไถเดินตามใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น
แต่ด้วยขาดแคลนทุนทรัพย์จึงอาศัยเรียนรู้จากกลไกของรถไถขนาดใหญ่ และหาอะไหล่มือสองมาดัดแปลงรถไถเดินตามคู่ใจ
จนกระทั่งกลายเป็นรถไถนั่งขับที่สามารถทำงานได้ไม่แพ้รถไถราคาแพงขนาดใหญ่ ทั้งนี้ อีลุย
คือชุดอุปกรณ์ดัดแปลงรถไถเดินตามที่เกษตรกรมีกันอยู่ทุกบ้านให้กลายเป็นรถไถนั่งขับได้ในราคาไม่แพง
พร้อมติดตั้งระบบต่อพ่วงอุปกรณ์เกรดหน้าดิน ผานไถ พ่วงลาก ฯลฯ
ตามความต้องการของผู้ใช้ โดยเฉพาะเกษตรกรสูงวัย
ให้สามารถทำงานในพื้นที่เกษตรกรรมได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ประโยชน์ที่ได้รับ สร้างรายได้เพิ่ม
โดยปัจจุบันได้เปิดให้บริการกับผู้สนใจนำรถไถเดินตามมาติดตั้งชุดอุปกรณ์ดัดแปลง
นั่งขับ ซึ่งมีผู้สนใจเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง
ตะบันน้ำถังแก๊ส
นวัตกรช่างชุมชนคือคุณอุดม อุทะเสน 86 หมู่ 11 บ้านทุ่งเทิง ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย โทร.087-2165686 แนวคิดในการพัฒนา ด้วยทักษะช่างเครื่องยนต์เล็กและความรับผิดชอบในฐานะผู้ใหญ่บ้านแห่งบ้านทุ่งเทิง
ต.โป่ง อ.ด่านซ้าย จ.เลย คุณอุดม อุทะเสน
ได้พยายามแสวงหาวิธีการที่จะนำน้ำที่ไหลมาจากป่าต้นน้ำเพื่อให้ชาวบ้านในหมู่บ้านได้มีน้ำในการบริโภคและใช้ในการเกษตร
แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่ห่างไกล หลายพื้นที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง
ตะบันน้ำจึงกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับหมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่าต้นน้ำ คุณอุดมได้พัฒนาตะบันน้ำอย่างต่อเนื่องจากเดิมใช้ท่อพลาสติคพีวีซี
มาเป็นท่อเหล็ก ต่อมาเป็นถังน้ำยาแอร์
และท้ายที่สุดได้หันมาใช้ถังแก๊สมือสองที่มีความทนทานและมีขนาดที่เหมาะสม
กาลักน้ำประปาภูเขา
นวัตกรช่างชุมชนคือกลุ่มช่างชุมชนเมืองจัง 195 หมู่ 1 ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน
55000 โทร.091-0718902 แนวคิดในการพัฒนา เกิดจากปัญหาการสิ้นเปลืองงบประมาณในการสูบน้ำเพื่อประโยชน์ด้านการชลประทานภายในหมู่บ้าน
จึงพัฒนาเครื่องสูบน้ำแบบกาลักน้ำที่อาศัยหลักทางวิทยาศาสตร์
โดยไม่ต้องใช้พลังงานจากภายนอกเพื่อประโยชน์ในการสูบน้ำจากแหล่งกักเก็บไปยังลำรางส่งน้ำของหมู่บ้าน
ประโยชน์ที่ได้รับ ลดต้นทุนในการสูบน้ำเพื่อสาธารณูปโภคและการเกษตรภายในหมู่บ้าน ช่วยให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดอันส่งผลต่อสุขภาพที่ดี
และเพิ่มรายได้จากการเกษตรที่เข้าถึงระบบชลประทาน
เครื่องตัดหญ้าโซลาร์เซลล์
นวัตกรช่างชุมชนคือคุณกฤษณะ สิทธิหาญ 196 หมู่ 5 ต.บุญนาคพัฒนา อ.เมือง จ.ลำปาง 52000 โทร.084-0429847
แนวคิดในการพัฒนา เครื่องตัดหญ้าติดแผงโซลาร์เซลล์ในตัวเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกร
ทำงานด้วยมอเตอร์กำลังสูงที่สามารถใช้งานได้อย่างต่อเนื่องได้ทั้งวัน
แผงโซลาร์เซลล์ขนาดเล็กที่สามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง ที่สามารถชาร์จกระแสไฟฟ้าได้ระหว่างการใช้งาน
หรือถึงแม้จะเป็นวันที่ไม่มีแสงอาทิตย์ก็สามารถใช้งานได้ด้วยแบตเตอรี่สำรอง การออกแบบมือจับแบบพิเศษที่ช่วยเพิ่มองศาจากจุดหมุนเพื่อตัดหญ้าได้กว้างกว่ามือจับแบบทั่วไป
ด้วยตัวเครื่องที่มีน้ำหนักเบาและกะทัดรัด เครื่องตัดหญ้าติดแผงโซลาร์เซลล์ในตัว ประโยชน์ที่ได้รับ
ประหยัดการใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้เพิ่ม
เครื่องบดผสมปุ๋ยหมักและดินปลูก
เลิกเผา ลดควัน ด้วยการแปลงเศษใบไม้ที่ได้ในแต่ละวันให้เป็นดินพร้อมปลูก
นวัตกรช่างชุมชนคือ คุณสุรเดช ภูมิชัย 124 หมู่ 6 ต.หนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน 51120 โทร.081-6128254 แนวคิดในการพัฒนาเกิดจากเกษตรกรชาวสวนลำไยและสวนมะม่วงต้องตัดแต่งกิ่งเป็นประจำทุกวัน
จึงรวบรวมใบลำไยและใบมะม่วงมาผลิตเป็นปุ๋ยหมักและดินพร้อมปลูก โดยการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำพูน
ทำให้ทางกลุ่มสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ดินพร้อมปลูกจากปุ๋ยหมักใบลำไยและใบมะม่วง
ที่ขายดีจนต้องสั่งจองล่วงหน้า เครื่องบดผสมอเนกประสงค์ต้นทุนต่ำจากถังน้ำมัน 200
ลิตร สามารถใช้ในการผลิตปุ๋ยหมักและดินพร้อมปลูกบรรจุถุงคุณภาพสูงได้มากถึง 4
ตันต่อวัน สร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร
ของเล่นไม้กลไกเคลื่อนไหว
นวัตกรช่างชุมชนคือโรงเล่นและพิพิธภัณฑ์เล่นได้ 48 หมู่ 3 ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย
57180 โทร.089-9998537 หรือแฟนเพจ "โรงเล่นพิพิธภัณฑ์เล่น”
https://web.facebook.com/PlayableMuseum/ แนวคิดในการพัฒนาของเล่นที่แค่เห็นก็สนุกแล้ว
จากฝีมือของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ใจดี ช่างไม้นักทำของเล่นกว่า 20 คน ที่ช่วยกันพัฒนาต่อยอดจากของเล่นพื้นบ้าน
ใช้วัสดุธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบ สร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยเครื่องมือช่างพื้นบ้าน
เพิ่มเติมด้วยจินตนาการของผู้ใหญ่ที่อยากให้ลูกหลานได้เรียนรู้และจินตนาการไปไกลกว่าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ด้วยความมุ่งมั่นของสองพี่น้องนักก่อการเล่น ผู้ประสานงานของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่
ที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานผู้อาวุโสนักประดิษฐ์ของเล่น จึงทำให้ของเล่นเหล่านี้มีการพัฒนารูปแบบและกลไก
ประโยชน์ที่ได้รับ เกิดกระบวนการส่งต่อความรู้ไปยังเด็กรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง ของเล่นแนวเคลื่อนไหวที่สนุกสนานหลากหลายแบบที่ราคาไม่แพงและเล่นได้ไม่รู้เบื่อ
โดยทั้ง
10 ทีมจะได้รับเงินทุนสนับสนุนสำหรับการพัฒนาผลงานในเบื้องต้น
พร้อมเข้าร่วมกิจกรรมอบรมด้วยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design
Thinking) ก่อนที่จะมีการคัดเลือกผลงานที่ดีที่สุด3
ผลงานเพื่อเข้ารอบสุดท้ายซึ่งจะได้เงินรางวัลสำหรับเป็นทุนในการพัฒนาผลงาน
รางวัลละ 100,000 บาท
พร้อมโอกาสในการรับคำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์
เทคนิคทางวิศวกรรม
และการจัดการธุรกิจนวัตกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงและพัฒนาผลงานดังกล่าวให้เป็นเลิศทั้งในด้านประโยชน์
ประสิทธิภาพประสิทธิผลในการใช้งาน โครงสร้าง คุณสมบัติรูปลักษณ์
ความสะดวกในการใช้งานการบำรุงรักษา ฯลฯ
จนได้เป็นนวัตกรรมต้นแบบที่สามารถเผยแพร่ใช้งานในวงกว้างเพื่อตอบโจทย์ปัญหาชุมชนและสังคมในบริบทได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้ง
10 ทีมที่เข้ารอบจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปการพัฒนาแนวคิดนวัตกรรมช่างชุมชนแบบ 4 มิติ (การออกแบบ,
กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา, การทำการตลาด) ซึ่งแบ่งออกเป็น 1) การนำเสนอนวัตกรรมช่างชุมชน
จากความตั้งใจสู่การปฏิบัติของแต่ละนวัตกร 2)
กิจกรรมเรียนรู้จากแรงบันดาลใจนวัตกรรมช่างชุมชนระดับโลก 3) กิจกรรมร่วมกันวิเคราะห์จาก
4 มิติ (การออกแบบ, กลไกและวิศวกรรม, ต้นทุนราคา,
การทำการตลาด) 4) สรุปปัญหา โอกาส
และแผนเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนานวัตกรรมของแต่ละชิ้นงาน และ 5)
เรียนรู้โอกาสการต่อยอดนวัตกรรม
และแนวทางการรับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น NIA และITAP สุดท้าย
จะเป็นช่วงวันสำหรับการเข้าพบที่ปรึกษา โดยจะมีทีมวิศวกรอาสาจาก ช.การช่าง
เป็นที่ปรึกษา ด้านวิศวกรรม
อาจารย์จากภาควิชาออกแบบผลิตภัณฑ์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบ และนักวางแผนธุรกิจและการเงินจากสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น
เป็นที่ปรึกษาด้านต้นทุนราคาและการจัดการและการตลาด