กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ย้ำติดตามกำกับการสอบบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ
จำกัด อย่างใกล้ชิด แนะสมาชิกสหกรณ์หมั่นตรวจสอบสถานะการเงิน
ลดช่องโหว่ปัญหาทุจริต
นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า จากกรณีปัญหาการบริหารงานของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ
จำกัด สืบเนื่องมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
ตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของสหกรณ์ ส่งผลให้สหกรณ์ขาดสภาพคล่องทางการเงินและส่งผลกระทบต่อสมาชิกและสหกรณ์ที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ
จำกัด นั้น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินการติดตามแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ตามอำนาจหน้าที่มาอย่างต่อเนื่อง
โดยรายงานข้อสังเกตให้นายทะเบียนสหกรณ์ทราบ
และแต่งตั้งผู้สอบบัญชีสหกรณ์จากส่วนกลางเข้าตรวจสอบบัญชีให้เป็นไปตามมาตรฐานการสอบบัญชีและประเมินผลการควบคุมภายใน
เพื่อให้สหกรณ์ฯ มีสภาพคล่องได้ตามปกติ ซึ่งขณะนี้สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ยังมีสภาพคล่องที่จะให้สมาชิกกู้หรือถอนเงินฝากได้ตามปกติและกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนดำเนินคดีกับอดีตกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์
จำนวน ๖ ราย ที่กู้เงินสหกรณ์โดยผิดระเบียบ
โดยเบื้องต้นสหกรณ์ได้มีการชำระหนี้ให้กับสหกรณ์ที่นำเงินมาฝากแล้วประมาณ ๑๐๐
ล้านบาท ซึ่งจะได้มีการสอบทานว่ามีการชำระจริงเพื่อพิสูจน์ความมีอยู่ของเจ้าหนี้ ในส่วนของสหกรณ์เจ้าหนี้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ
จำกัด ยังไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้ให้นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวอีกว่า นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กำชับให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์
ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ เข้าดูแลและติดตามการแก้ไขปัญหาของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ
จำกัด และได้หารือในเบื้องต้นในเรื่องการปรับระเบียบและกฎหมายให้มีความรัดกุมและครอบคลุมการดำเนินงานของสหกรณ์มากขึ้น
ทั้งนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยืนยันว่า
ปฏิบัติตามภารกิจหน้าที่ในการสอบบัญชีอย่างเคร่งครัด
เพื่อให้สหกรณ์มีระบบการเงินการบัญชีและมีการควบคุมภายในที่ดี
สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างโปร่งใส ซึ่งถือเป็นการช่วยดูแลรักษาผลประโยชน์ให้กับสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศ แต่เหตุทุจริตที่เกิดขึ้นในสหกรณ์บางแห่ง หลายกรณีส่วนใหญ่เกิดจากระบบการควบคุมภายในของสหกรณ์หรือมีการไม่ปฏิบัติตามระบบการควบคุมภายในที่กำหนด หรือการทุจริตที่เกิดจากตัวบุคคล
รวมไปถึงการที่สมาชิกไม่ได้ติดตามการดำเนินการตามระเบียบข้อบังคับโดยสม่ำเสมอ
จนไม่ทราบข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีการตรวจสอบซึ่งกันและกัน สมาชิกจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ ตลอดจนหลักการและวิธีการสหกรณ์และการตรวจสอบการเงินการบัญชีและการดำเนินการของสหกรณ์
รับรู้ข้อมูลทางบัญชีสหกรณ์ทั้งภาพรวมและของตนเอง เพื่อสิทธิประโยชน์ของสมาชิกสหกรณ์เอง
อีกทั้ง สหกรณ์แต่ละแห่งอาจมีการเพิ่มช่องทางการติดต่อส่งข้อมูลข่าวสารระหว่างสหกรณ์กับสมาชิก
เพื่อสร้างความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้สมาชิก ซึ่งสหกรณ์อาจนำไปพิจารณาตามความเหมาะสมกับสภาพของสหกรณ์ต่อไป
“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้พัฒนางานระบบบัญชีและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการงานสหกรณ์ให้มีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
เพื่อเป็นเครื่องมือเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการเงินของสหกรณ์ อาทิ
โปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ครบวงจร หรือแอปพลิเคชั่น Smart ๔M
ซึ่งมีให้บริการให้คำแนะนำและติดตั้งให้ฟรีแก่ทุกสหกรณ์ที่มีความพร้อมใช้งาน
เพื่อพัฒนาบุคลากรสหกรณ์ทั้งกรรมการดำเนินการ ฝ่ายจัดการ ผู้ตรวจสอบกิจการ
ให้มีศักยภาพในการใช้ข้อมูลทางการเงินบริหารจัดการสหกรณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
และช่วยลดความเสี่ยงของการทุจริตในสหกรณ์ได้”อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น