กรมประมง...เตรียมแผนรับมือภัยแล้ง
ปี 2563
คุมเข้มสถานการณ์หวังลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง หวั่น !
ปีนี้น้ำน้อยแล้งอาจรุนแรงและยาวนาน เสี่ยงกระทบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
แนะเกษตรกรควรเฝ้าระวัง หมั่นดูแลสัตว์น้ำอย่างใกล้ชิด และปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมประมงอย่างเคร่งครัด
นายบรรจง
จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในปี 2563
ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะมีพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและอาจต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม
2563 ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานลดน้อยลงและอาจไม่เพียงพอต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
นอกจากนี้ จากสภาวะดังกล่าวยังทำให้อุณหภูมิน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นด้วย
ซึ่งเป็นสาเหตุให้สัตว์น้ำที่เกษตรกรเลี้ยงไว้เกิดความเครียด อ่อนแอ และตายได้ ดังนั้น
เพื่อเป็นการป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
กรมประมงจึงได้จัดทำแผนเตรียมรับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2563 ไว้ 3 ระยะ
คือ 1. การเตรียมรับสถานการณ์ก่อนเกิดภัยแล้ง 2. การให้ความช่วยเหลือขณะเกิดภัยแล้ง และ 3. การให้ความช่วยเหลือหลังเกิดภัยแล้ง ทั้งนี้ กรมฯ
ยังได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมตัวรับกับสถานการณ์
อีกทั้งหาวิธีการป้องกัน แก้ไข และหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
รวมถึงเฝ้าระวังสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์โครงการปลาหน้าวัด นอกจากนี้
ยังให้คำแนะนำทางวิชาการแก่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อเตรียมการป้องกันอีกด้วย
การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดิน
ควรปฏิบัติดังนี้
1. ควรพิจารณาปริมาณน้ำที่ใช้และคุณภาพน้ำตลอดการเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ
หากมีปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอให้ชะลอการเลี้ยงสัตว์น้ำออกไปก่อน
หรือปรับลดขนาดการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ
โดยทำการตากบ่อและตกแต่งบ่อเลี้ยงในช่วงฤดูแล้งแทน
เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป 2. หากจำเป็นต้องทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในหน้าแล้ง
ควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรงจากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้
และควรเริ่มต้นการเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง ซึ่งจะทนต่อสภาพแล้งได้มากกว่า
และควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงที่ความหนาแน่นน้อยกว่าปกติ 3. ควบคุมการใช้น้ำและรักษาปริมาณน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด
ดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมคันบ่อเพื่อป้องกันการรั่วซึมของน้ำ
และจัดทำร่มเงาให้กับสัตว์น้ำในบ่อเลี้ยง 4. จัดเตรียมแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้เพิ่มเติม
และเฝ้าระวังเรื่องคุณภาพน้ำให้มีความเหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดการเลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละชนิด 5. ในระหว่างการเลี้ยงสัตว์น้ำควรพิจารณาคัดขนาดสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ทยอยออกจำหน่ายก่อนเพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียสัตว์น้ำและการลงทุน 6. เลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดี
และลดปริมาณการให้อาหารสัตว์น้ำลง โดยเฉพาะอาหารสดเพื่อป้องกันปัญหาน้ำเน่าเสีย 7. จับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นจำหน่ายหรือบริโภค
เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในบ่อ 8.
ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มาก
เนื่องจากมีผลกระทบกับการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง 9. หมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อพบสิ่งผิดปกติควรรีบหาสาเหตุและแก้ไขทันที
กรณีมีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังกลบหรือเผาเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค
การเลี้ยงในกระชัง ควรปฏิบัติดังนี้
1. ควรพิจารณาปริมาณน้ำที่ใช้และคุณภาพน้ำตลอดในการเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นปัจจัยสำคัญ
หากมีปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอให้ชะลอการเลี้ยงสัตว์น้ำออกไปก่อน
หรือปรับลดขนาดการผลิต หรืองดเว้นการเลี้ยงสัตว์น้ำ
โดยทำความสะอาดและซ่อมแซมกระชังในช่วงฤดูแล้งแทน เพื่อเตรียมไว้เลี้ยงสัตว์น้ำในรอบต่อไป 2. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำควรคัดเลือกพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความแข็งแรง
จากฟาร์มผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานและเชื่อถือได้
และควรเริ่มต้นการเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
เพื่อลดระยะเวลาการเลี้ยงให้น้อยลง และจะทนต่อสภาพแล้งได้มากกว่า
และควรปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงที่ความหนาแน่นน้อยกว่าปกติ 3. ควรเลือกแหล่งน้ำที่ตั้งกระชังที่มีระดับความลึกเพียงพอ
เมื่อตั้งกระชังแล้วพื้นกระชังควรสูงจากพื้นน้ำไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร เพื่อให้น้ำถ่ายเทได้สะดวกตลอดเวลา
และไม่วางชิดกันจนหนาแน่นมากเกินไป เพราะจะไปขัดขวางการไหลของกระแสน้ำ 4. ก่อนปล่อยสัตว์น้ำลงเลี้ยงในกระชัง
ควรปรับสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะคุณสมบัติของน้ำในภาชนะลำเลียงสัตว์น้ำ
ควรมีคุณสมบัติใกล้เคียงกันกับน้ำที่ต้องการปล่อยสัตว์น้ำ เช่น อุณหภูมิ
ค่าความเป็นกรดด่าง เป็นต้น
และต้องคอยเฝ้าระวังเรื่องคุณภาพน้ำให้มีความเหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตลอดการเลี้ยงสัตว์น้ำแต่ละชนิด 5. ควรเลือกใช้อาหารสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีและให้ในปริมาณที่เหมาะสม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เป็นอาหารสดเพื่อป้องกันน้ำเน่าเสีย 6. ต้องเพิ่มความสนใจ
สังเกตอาการต่างๆ ของสัตว์น้ำที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติจะได้แก้ไขและให้การรักษาได้ทันท่วงที 7. ควรทำความสะอาดกระชังสม่ำเสมอ
เพื่อกำจัดตะกอนและเศษอาหาร ซึ่งเป็นการตัดวงจรชีวิตปรสิตและเชื้อโรค
นอกจากนี้ช่วยให้กระแสน้ำไหลผ่านกระชังได้ดี
มีผลต่อการเจริญเติบโตและสุขภาพสัตว์น้ำ 8. ควรงดเว้นการขนถ่ายสัตว์น้ำ
ถ้าจำเป็นต้องระมัดระวังให้มากเนื่องจากจะมีผลกระทบกับการกินอาหารและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยตรง 9. ในระหว่างการเลี้ยงสัตว์น้ำควรพิจารณาคัดขนาดสัตว์น้ำขนาดใหญ่ทยอยออกจำหน่ายก่อน
เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียสัตว์น้ำและการลงทุน โดยจับสัตว์น้ำที่ได้ขนาดขึ้นมาจำหน่ายหรือบริโภค
เพื่อลดปริมาณสัตว์น้ำภายในกระชัง 10. ควรหมั่นตรวจสุขภาพสัตว์น้ำอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อพบสิ่งผิดปกติ ให้รีบหาสาเหตุและแก้ไขได้ทันที
ในขณะเดียวกันควรแจ้งให้ผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงทราบ
เพื่อที่จะได้หามาตรการป้องกันการแพร่กระจายโรค
กรณีที่มีสัตว์น้ำป่วยตายควรกำจัดโดยการฝังหรือเผา
ไม่ควรทิ้งสัตว์น้ำป่วยในบริเวณแม่น้ำที่เลี้ยงเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเป็นการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
รองอธิบดีกรมประมง
กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคสัตว์น้ำที่ควรเฝ้าระวังในฤดูแล้ง ได้แก่
1. โรคที่เกิดจากปรสิต
เช่น เห็บระฆัง ปลิงใส เห็บปลา เหาปลา และหมัดปลา เป็นต้น
โดยสัตว์น้ำที่มีปรสิตจะมีลักษณะอาการว่ายน้ำผิดปกติ ว่ายแฉลบ
หรือรวมกลุ่มที่ผิวน้ำ หายใจถี่ มีจุดแดง แผลถลอกตามผิวลำตัว เป็นต้น สำหรับแนวทางการรักษาโรคสามารถปฏิบัติได้โดยการตัดวงจรชีวิตปรสิต
กำจัดตะกอนและเศษอาหารที่เกาะติดตามกระชัง
ซึ่งเป็นอาหารที่อยู่อาศัยและสืบพันธุ์วางไข่ และใช้สารเคมี เช่น ไตรคลอร์ฟอน
(กลุ่มยาฆ่าแมลง) อัตราการใช้ 0.5 - 0.75 ส่วนในล้านส่วน (0.5-0.75 กรัมต่อปริมาตรน้ำ 1 ตัน) ทำทุก ๆ 1 สัปดาห์ ทำซ้ำติดต่อกัน 3 - 4 ครั้ง หรือ
ฟอร์มาลินเข้มข้น 200-250 ส่วนในล้านส่วน (พีพีเอ็ม) (200
- 250 มิลลิลิตร (ซีซี) ต่อปริมาตรน้ำ 1 ตัน)
นาน 15 - 30 นาที ถ้าเป็นปลาที่เลี้ยงในกระชัง
ควรนำปลาขึ้นจากกระชังชั่วคราว พักใส่ถังหรือบ่อ หรือใช้ผ้าใบล้อมกระชังปลาแล้วจึงใช้สารเคมีไม่ควรใส่ยาหรือสารเคมีลงในแหล่งน้ำโดยตรง
2. โรคที่เกิดจากแบคทีเรีย
เช่น สเตรปโตคอสคัส (Streptococcus sp.) แอโรโมแนส (Aeromonas
hydrophila) วิบริโอ (Vibrio sp.) เป็นต้น
ซึ่งแบคทีเรียดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มแบคทีเรียนักฉวยโอกาส (Opportunistic
bacteria) ที่พบและอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำทั่วไป
โดยจะเข้าทำอันตรายสัตว์น้ำเมื่ออ่อนแอ
และสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็วผ่านกระแสเลือด
โดยความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของสัตว์น้ำ
ลักษณะสัตว์น้ำที่เป็นโรคเกิดจากแบคทีเรียจะมีอาการ ซึม ไม่กินอาหาร
ว่ายน้ำควงสว่าน มีแผลเลือดออกตามผิวลำตัวและอวัยวะต่าง ๆ
มีตุ่มฝีที่บริเวณใต้คางและผิวลำตัว ตาขุ่น โปน ครีบกร่อน ท้องบวม เป็นต้น
แนวทางการรักษาทำได้โดยใช้ยาต้านจุลชีพ ผสมอาหารให้กินตามคำแนะนำในฉลากยา
รองอธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า
เกษตรกรควรติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศจากทางราชการอย่างใกล้ชิด
และหากมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถขอรับคำปรึกษาและคำแนะนำได้ที่
สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด
/สัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดทุกแห่งทั่วประเทศ โทรศัพท์ 0-2562-0600
ในวันและเวลาราชการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น