วันเสาร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2563

รมช.เกษตรฯ มอบนโยบายกรมฝนหลวงครบรอบปีที่ 7 พร้อมเร่งปฏิบัติการฝนหลวงคลี่คลายภัยแล้ง ฝุ่นละออง-หมอกควัน


             ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังแสดงความยินดี และอำนวยพรเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่บุคลากรกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมฝนหลวงและการบินเกษตร ครบรอบปีที่ 7 ณ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ว่า กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อสนองงานโครงการพระพระราชดำริฝนหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งได้ทรงพระราชดำริขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความทุกข์ยากของเกษตรกร ประชาชน ที่ประสบกับความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และนับตั้งแต่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้รับการสถาปนาขึ้นได้น้อมนำแนวทางศาสตร์พระราชา ตำราฝนหลวงพระราชทาน มาเป็นหลักในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา กรมฝนหลวงฯ สามารถสนองตอบภารกิจงานของประเทศในการปฏิบัติการทำฝนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและประชาชนที่ขาดแคลนน้ำได้ค่อนข้างสมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพการทำฝนประสิทธิภาพการทำฝนอยู่ที่ประมาณ 95% ขึ้นไป และในแต่ละปีสามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรได้ถึง 200 – 300 ล้านไร่ รวมถึงในปีนี้บริเวณเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ประสบกับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM 2.5) เกินค่ามาตรฐานที่เพิ่มมากขึ้น ก็สามารถช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวในเขตสาธร กรุงเทพฯ และช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเก็บกักน้อยกว่า 30% ได้ เนื่องจากหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็วได้ขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม

            จากนั้นได้เปิดการประชาพิจารณ์แผนปฏิบัติการด้านการดัดแปรสภาพอากาศกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งการประชาพิจารณ์แผนปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อให้ได้แผนฯ ที่มีความสมบูรณ์ และเกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างสูงสุด ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและบรรเทาภัยพิบัติเชิงพื้นที่ ด้านที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการดัดแปรสภาพอากาศ ด้านที่ 3 เพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการด้านการบิน และด้านที่ 4 พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งนี้ แผนฯ ดังกล่าว คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมในการระดมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ รวมถึงแนวทางต่าง ๆ เพื่อให้ได้แผนที่มีความสมบูรณ์ ส่งผลให้ภารกิจการปฏิบัติการฝนหลวงเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุดต่อพี่น้องประชาชน

          ด้าน  นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในการก้าวสู่ปีที่ 8 ของกรมฝนหลวงฯ จะมีการเปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงเป็น 7 ศูนย์ทั่วประเทศ ประกอบด้วย ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงใหม่ ดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และ จ.พิษณุโลก ดูแลพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ที่ จ.นครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.ขอนแก่น ดูแลพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ จ.บุรีรัมย์ ดูแลภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ที่ จ.ระยอง และภาคใต้ ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างครอบคลุมพื้นที่มากยิ่งขึ้น
          สำหรับด้านโครงการวิจัยและเทคโนโลยีฝนหลวง ได้เร่งพัฒนางานวิจัยเพื่อเสริมประสิทธิภาพการปฏิบัติการฝนหลวง อาทิ โครงการวิจัยพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน (UAV) เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการฝนหลวงแบบเมฆอุ่นโดยใช้ UAV ยิงพลุสารเคมีซิลเวอรไอโอไดด์ การใช้จรวดดัดแปรสภาพอากาศ เป็นต้น สำหรับด้านการพัฒนาสนามบินท่าใหม่ จ.จันทบุรี ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงรันเวย์ เพื่อให้มีความปลอดภัยและได้มาตรฐานสำหรับการขึ้นลงของอากาศยาน ซึ่งจะมีการติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องต่อไป อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมพร้อมปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง โดยขยับเวลาการเริ่มปฏิบัติการเร็วขึ้นจากเดิมคือวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ เพื่อเร่งช่วยคลี่คลายสถานการณ์ภัยแล้งให้กับพื้นที่การเกษตรและพี่น้องประชาชนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...