วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2563

"เกษตร 2020 เข้าสู่ยุคปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา"



ปัจจุบันเรากำลังอยู่ท่ามกลางแรงกดดันและโอกาสจาก 1.โลกาภิวัต เศรษฐกิจยังตกต่ำเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา ค้าขายรายย่อยแบบดั้งเดิมทำยากขึ้น แต่เศรษฐกิจค้าขายออนไลน์กำลังเติบโต 2. การท่องเที่ยว วิถีธรรมชาติและชุมชนกำลังเติบโต ขายความงามของธรรมชาติ+วิถีเกษตร+สินค้าชุมชน ตลาดนัดชุมชน ร้านอาหารกลางทุ่งนา เขา ป่า ทะเล และ มีจุดถ่ายรูปที่สวยงาม 3. ราคาสินค้าตกต่ำ ยางตกต่ำ เศรษฐกิจภาคใต้ซบเซา เงินหายไปจากระบบ 5,000 ล้านบาทในทุกๆราคายางที่ลดลง 1 บาท ถ้าคิดจาก 80 ลงมา 40 บาท เงินหายไป 2 แสนล้านบาท


จากนี้ไปการเกษตรจะมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงขึ้นเรื่อยๆตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และหลายๆองค์กรก็ได้ปรับตัวเองในการทำงาน กระทรวงเกษตร มีประเด็นการพัฒนาที่น่าสนใจ คือ
1. การออกมาตรการอุดหนุนเกษตรกร ไม่ว่าจะให้เงินในรูปแบบใดๆ ก็เป็นผลดีในการช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้แก่เกษตรกร
2. โครงการส่งเสริมการเกษตร เช่น แปลงใหญ่ zoning by agrimap เกษตรยั่งยืน และอื่นๆ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
3. โครงการพัฒนาฐานข้อมูลด้านการเกษตรแห่งชาติ หรือ National Agricultural Big Data เพื่อต้องการเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลภาคการเกษตรอย่างครบวงจรระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ของระบบการผลิตด้านการเกษตร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน 13 สินค้า ประกอบด้วย 1) ข้าว 2) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3) สับปะรดโรงงาน 4) มันสำปะหลังโรงงาน 5) อ้อยโรงงาน 6) ยางพารา 7) ปาล์มน้ำมัน 8) ลำไย 9) เงาะ 10) มังคุด 11) ทุเรียน 12) มะพร้าว และ 13) กาแฟโดย สามารถเข้าใช้งานได้ที่ bigdata.oae.go.th
4. จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agri-technology and innovation center: AIC) บูรณาการร่วมกันใน 6 ภาคี คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกร ภาควิชาการ และภาคเอกชน ซึ่งมีรูปแบบโครงสร้างเป็นแบบ 1 จังหวัด 1 ศูนย์ รวม 77 จังหวัด ซึ่งจะตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก โดยมีรูปแบบเป็น Center Excellent เน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีเกษตรสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ในรูปแบบต่าง ๆโดยใช้ฐานข้อมูลเดิมที่มีอยู่ ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน มีการรวบรวม ช่างเกษตร ปราชญ์เกษตร ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นและผสมผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการในพื้นที่แปลงใหญ่ ดึง Smart และ Young Smart Farmer เข้าร่วม เสริมความรู้ e-commerce รวมถึงมาตรการ กฎระเบียบการรับรองต่างๆ


ด้านการวิจัยและพัฒนาการเกษตรของชาติและกระทรวงเกษตร 1. การปฎิรูปการวิจัยโดยการตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม รวมถึงปรับระบบการให้ทุนวิจัย การปรับบทบาทหน่วยให้ทุน เรื่องนี้จะผลักดันให้หน่วยงานและนักวิจัยต้องปรับการวิจัยให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศ และที่สำคัญ ต่อไปนี้การวิจัยต้องคิดถึงใครจะใช้ประโยชน์ผลวิจัยอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ เป็นอันดับแรก
2. หน่วยงานวิจัยของกระทรวงเกษตร เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และอื่นๆ ก็จะต้องมีการปรับการทำงานวิจัย ซึ่งปรากฏการณ์ที่กรมวิชาการเกษตรถูกตัดงบ 50% ย่อมทำให้การวิจัยของกระทรวงเกษตรอ่อนแอลงไปมาก เนื่องจากหลายสิบปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าผลงานวิจัยของกรมวิชาการได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มาก ดังนั้นทุกหน่วยวิจัยต้องปฏิรูปตัวเองทั้งในโจทย์วิจัย การทำวิจัยร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่ และการขับเคลื่อนผลวิจัยสู่การส่งเสริม กระทรวงเกษตรจะต้องออกแบบระบบวิจัย-ส่งเสริมให้เชื่อมโยงรองรับกันภายในกระทรวง
3. เกษตรกร ผู้รวบรวมสินค้า ผู้ขาย และ ผู้บริโภค คือผู้มีส่วนได้เสียในองค์รวมของภาคเกษตร มีแรงดึงของผู้บริโภคที่มีอิทธิพลสูงสุดที่คอยดึงแต่ละภาคส่วนให้เคลื่อนตาม กระแสอาหารปลอดภัยและโภชนเภสัชมาแรง กินอาหารได้ยา สุดท้ายเกษตรกรก็ต้องปรับตัวไปตามตลาดให้ได้


4. สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง แรงงานที่น้อยลง ผู้มีความรู้สนใจมาทำเกษตร และสังคมกดดันผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่จะเอาชนะอุปสรรคต่างๆเหล่านี้ เช่น เกษตรโรงเรือน เกษตรอัจฉริยะที่ใช้กลไกอิเลคโทรนิคมาช่วยควบคุม การใช้เครื่องจักรกลแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว การจัดการปัจจัยการผลิต ดิน น้ำ ปุ๋ย พืช ศัตรูพืช ด้วยความรู้
บทสรุป เกษตร 2020 จะเป็นการเติบโตท่ามกลางภาวการณ์คุกคามของโลกาภิวัต เอาชนะภัยธรรมชาติ และการโหยหาความมีความสุขและสุขภาพดี และคำตอบได้บอกไว้แล้วว่าทางรอด คือ ความรู้ หรือนวัตกรรม หรือเทคโนโลยี 5 G แต่ผมยังเชื่อในเรื่องสมดุลของสรรพสิ่ง นั่นคือเกษตรวิถีดั้งเดิมที่สร้างผลิตภัณฑ์ด้วยวิถีบริสุทธ์ของธรรมชาติและความงดงามของความเป็นชุมชนท้องถิ่นจะยังคงอยู่ตลอดไป
เรียบเรียงโดย ธัชธาวินท์ สะรุโณ
https://tattawin.wordpress.com/%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a9%e0%b8%95%e0%b8%a3-2020-%e0%b9%80%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%aa%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b8%84%e0%b8%9b%e0%b8%8f%e0%b8%b4%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b8%9b/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...