วันเสาร์ที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ข่าวดี...ม.รังสิต มีทุนให้ คนรุ่นใหม่ที่อยากเรียนนวัตกรรมเกษตร


      หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเกษตร หลักสูตรที่มีการเรียนการเกษตรแบบองค์รวมในทุกสาขา เช่นพืชสวน พืชไร่ กีฏวิทยา ฯลฯ แล้วเพิ่มเติมด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย การจัดการฟาร์มอัจฉริยะด้วยการเกษตรแบบแม่นยำสูง การใช้เครื่องมือตรวจวัดอิเล็กทรอนิกส์ การประยุกต์ใช้ข้อมูลกำหนดพิกัดจากดาวเทียมและสารสนเทศภูมิศาสตร์ คอมพิวเตอร์เพื่อการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตร ระบบสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจ โลจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน 


        รวมทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจสำหรับการค้าสินค้าเกษตรออนไลน์ยุคดิจิตอล โดยสามารถเลือกเรียนกลุ่ม”วิชากัญชาศาสตร์” ซึ่งประกอบด้วยวิชากัญชาศาสตร์ เทคโนโลยีการผลิตกัญชาทางการแพทย์ เทคโนโลยีปรับปรุงพันธ์กัญชาทางการแพทย์และการปฏิบัติการปรับปรุงพันธ์กัญชาการการแพทย์ ครบถ้วนทุกกระบวนการตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและการปรับปรุงพันธุ์ เพื่อตอบสนองอาชีพปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ   


  นอกจากนั้นยังสามารถใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ได้เรียนมาสมัครเข้าทำงานในส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน หรือเป็นผู้ประกอบการเองหรือสตาร์ทอัพได้อีกด้วย


        ข่าวดี สำหรับนักเรียนที่จบระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทย์-คณิต (เกรดเฉลี่ย 2.50 ขึ้นไป) สายศิลป์ และที่จบระดับชั้น ปวช. (เกรดเฉลี่ย 2.75 ขึ้นไป) ในปีการศึกษา 2563 คณะนวัตกรรมเกษตร วิทยาลัยนวัตกรรมเกษตร และอาหาร มหาวิทยาลัยรังสิต มีทุนการศึกษา “ทุนต้นกล้าเกษตร เพื่อพัฒนาประเทศ” (เรียนฟรีตลอด 4 ปี) หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (นวัตกรรมเกษตร) ระดับปริญญาตรี 


      ผู้ที่สนใจติดต่อสอบถามที่ โทร.02 997 2222 ต่อ 3428,3441 หรือ 09 2708 9994 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ www.rsu.ac.th/cab/agri/home.aspx


กรมการค้าภายใน MOU Modern Trade เพิ่มช่องทางการจำหน่าย “ส้มเขียวหวาน” สุโขทัย


       กระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน เชื่อมโยง “ส้มเขียวหวาน” จังหวัดสุโขทัย เข้าสู่ Modern Trade และ โรงงานแปรรูป เพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนส้ม โดยจัดเวทีเจรจาซื้อขายส้มเขียวหวานขึ้นเพื่อคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรชาวสวนส้มจังหวัดสุโขทัย ได่มีโอกาสพบปะเจรจาซื้อขายกับ Modern Trade รวมถึง โรงงานแปรรูป ไปเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563 ทีผ่านมา ณ โรงแรมสุโขทัย เทรเชอร์ รีสอร์ทแอนด์ สปา อ าเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย 


      และในวันนี้ (29 กุมภาพันธ์ 2563) รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มาเป็นสักขีพยานการลงนามสัญญาข้อตกลงมาตรฐานของกรมการค้าภายใน และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การซื้อขาย “ส้มเขียวหวาน” จำนวน 160.80 ตัน มีมูลค่ากว่า 3.54 ล้านบาท ระหว่าง กลุ่มเกษตรกรชาวสวนส้มที่มีศักยภาพ ในพื้นที่อ าเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย 3 กลุ่ม กลุ่มแม่สินพัฒนาผลิตส้มปลอดสารพิษ (GAP) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มส้มเขียวหวานแปลงใหญ่แม่สินและกลุ่มแปลงใหญ่ส้มเขียวหวานแม่สินโซนเหนือ กับ Central Food Hall และ Tops market /The Mall /Makro /Big C /Lotus และ Malee ที่ร้านอาหารคาเฟ่ เดอทรี อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย


    โดยการลงนามระหว่างกันในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนส้มสุโขทัยให้มีช่องทางการตลาดเพิ่มมากขึ้นสามารถจำหน่ายส้มเขียวหวานคุณภาพและปลอดภัยเข้าสู่ Modern Trade ที่มีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศนอกจากนี้ ผลผลิตที่มีขนาดเล็ก ยังสามารถส่งเข้าโรงงานแปรรูป บริษัท มาลีกรุ๊ป จ ากัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจ าหน่ายผลไม้กระป๋อง ได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ จุรินทร์” ลงพื้นที่ติดตามโครงการประกันรายได้ มั่นใจช่วยเกษตรกรขายสินค้าราคาเป็นธรรม


        นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้บริหารส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรับฟังปัญหาข้อเสนอแนะของนายก อบต. กํานัน และผู้ใหญ่บ้าน และ“ติดตามโครงการประกันรายได้” 


       นายจุรินทร์ กล่าวว่า นโยบายประกันรายได้ถือเป็นนโยบายที่สำคัญนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรโดยประกันรายได้ไม่ใช่การประกันราคาเพราะราคาประกันไม่ได้ ประกันได้เฉพาะรายได้ ที่ราคาประกันไม่ได้เพราะพืชผลทางการเกษตรเราไม่สามารถประกันราคาได้ว่าราคาต้องกิโลกรัมละเท่าไหร่เพราะราคาจะขึ้นอยู่กับกลไกการตลาด เมื่อไหร่ที่พืชผลทางการเกษตรตัวนั้นออกมากจนล้นแต่คนซื้อไม่มีหรือมีน้อยราคาก็จะตกต่ำ แต่เมื่อไหร่ของมีน้อยแต่คนต้องการซื้อมากราคาก็จะสูง นี่คือ กลไกตลาดที่ขึ้นอยู่กับดีมานด์ซัพพลาย ไม่มีใครไปสั่งให้ขึ้นลงได้แต่สิ่งที่รัฐบาลสามารถสั่งได้คือ ให้เกษตรกรมีรายได้ตามปริมาณที่รัฐบาลเห็นว่าพอสมควรเรียกว่าการประกันรายได้ในข้าว 5 ชนิดประกอบด้วย ข้าวหอมมะลิตันละ 15,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกเจ้าตันละ 10,000 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีตันละ 11,000 บาทข้าวเปลือกเหนียวตันละ 12,000 บาท ถ้าราคาตลาดน้อยกว่านี้ก็จะมีส่วนต่าง โดยรัฐบาลจะช่วยโอนให้เข้าบัญชีพี่น้องเกษตรกรโดยตรงนี่คือข้อดีของนโยบายประกันรายได้ช่วยให้มีหลักประกันไม่ว่าราคาจะตกลงมาอย่างไรก็มีส่วนต่างช่วย แต่ถ้าราคาดีจนเกินราคาที่ประกันก็จะไม่มีเงินประกันรายได้ 


           แต่ก่อนที่จะมีนโยบายประกันรายได้จะมีเงินก้อนเดียวคือเงินที่ขายข้าวในราคาตลาด เกวียนละ 7,000 ก็ได้เพียง 7,000 บาท แต่เมื่อมีประกันรายได้จะมีรายได้สองกระเป๋ากระเป๋าซ้าย 7,000 บาทและกระเป๋าขวา 3,000 บาทรวมกันเป็น 10,000 บาทรวมกันเป็นรายได้ที่ประกันโดยประมาณ รัฐบาลชุดนี้จึงกำหนดเป็นนโยบายช่วยให้พี่น้องมีหลักประกันมากขึ้นแม้ยามที่ราคาพืชผลการเกษตรจะตกต่ำ ข้าวหอมมะลิ 15,000 บาท ราคาลงมาเป็น 13,000 บาทก็จะได้รับเงินส่วนต่าง 2,000 บาทเป็นต้น


           นี่คือข้อดีของประกันรายได้ได้เงินส่วนต่างชดเชย เงินส่วนต่างงวดแรกของการประกันรายได้ของรัฐบาลมีเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ทยอยจ่ายทุกสัปดาห์ขึ้นอยู่กับเวลาเก็บเกี่ยวของแต่ละคนว่าเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ก็มาแจ้งล่วงหน้าไว้กับ ธ.ก.ส. และเอาราคาวันนั้นมาดูว่าส่วนต่างเท่าไหร่และโอนเงินเข้าบัญชีพี่น้องโดยตรง ผมเชื่อว่าพี่น้องที่นี่คงได้เงินมาพอสมควรแล้ว
         นโยบายประกันรายได้เป็นนโยบายของรัฐบาลทั้งรัฐบาลแม้ว่าจะเป็นนโยบายที่นำเสนอเบื้องต้นโดยพรรคประชาธิปัตย์ก่อนร่วมรัฐบาลก็ตามแต่รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ยอมรับเป็นนโยบายรัฐบาลแล้ว และได้แถลงนโยบายต่อรัฐถ้าสภาแล้ว แปลว่าเป็นข้อผูกพันและข้อผูกมัดที่รัฐบาลมีต่อรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา จนกว่าจะสิ้นอายุขัยของรัฐบาล ตราบเท่าที่ยังมีนโยบายชุดนี้บริหารราชการแผ่นดิน นโยบายประกันรายได้เกษตรกรก็จะต้องดำเนินต่อไปและสำหรับมันสำปะหลังไม่เกินครัวเรือนละ 100 ตันสำหรับข้าวโพดรายละไม่เกิน 30 ตัน

"Durian to Go" พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล


      เกษตรฯ หนุนจัดงาน "Durian to Go" by สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก เปิดตัวยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด "พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล" ณ จังหวัดจันทบุรี


      นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน "Durian to Go" By สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ซึ่งการจัดงานดังกล่าวจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อาคารขนถ่ายสินค้า องค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีว่า ภาคตะวันออกนับเป็นแหล่งผลิตทุเรียนที่สำคัญของประเทศ และขึ้นชื่อในเรื่องของความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งความเข้มของรสชาติ และออกสู่ตลาดก่อนภาคอื่นๆ ของประเทศไทย จึงเป็นที่นิยมของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ขณะเดียวกันพื้นที่ปลูกทุเรียนภาคตะวันออกมีมากกว่า 700,000 ไร่ ปริมาณผลผลิตมีมากกว่า 500,000 ตัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากสถานการณ์การขยายตัวของพื้นที่การปลูกทุเรียนในประเทศมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20 และมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 15-20 มีการขยายพื้นที่ปลูกเกือบทั่วประเทศ ประมาณ 45 จังหวัด ประกอบกับประเทศจีนรับซื้อผลผลิตทุเรียนจากไทยร้อยละ 80 ได้เริ่มกำหนดมาตรการการส่งออก การซื้อขายที่เข้มงวดมากขึ้น และสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพผลผลิตทุเรียนและคาดว่าอาจจะมีโอกาสเกิดปัญหาในอนาคตกับทุเรียนไทยได้ ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนส่วนใหญ่มีการผลิตทุเรียนที่นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ค่อนข้างมาก มีทั้งเป็นผู้ชำนาญการและเกษตรกรรายใหม่ ๆ ที่ยังขาดความรู้ในการจัดการสวนทุเรียนให้มีคุณภาพ ดังนั้น การที่จะทำให้การขับเคลื่อนทั้งกระบวนการผลิต จึงควรเกิดจากความเข้มแข็งของเกษตรกร  


         กรมส่งเสริมการเกษตรได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทยขึ้น และได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2562 สำหรับภาคตะวันออก ได้คัดเลือกคณะกรรมการสมาพันธ์ฯ จากเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนใน 6 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ปราจีนบุรี และฉะเชิงเทรา มีนายธีรภัทร อุ่นใจ เป็นนายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนเพื่อให้สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกเข้มแข็ง จนสามารถเป็นที่พึ่งพาและเป็นฐานการขับเคลื่อนให้การพัฒนาทุเรียนเป็นไปอย่างมีระบบ เป็นตัวแทนภาคเกษตรกรในการเป็นสื่อกลางประสานงานกับภาครัฐสำหรับให้การสนับสนุนการบริหารจัดทุเรียนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การจัดการสวน การจัดการเก็บเกี่ยว การรักษาคุณภาพและมาตรฐานผลผลิตทุเรียน การจัดการตลาดที่สามารถกำหนดราคาได้อย่างยุติธรรม การสร้างมูลค่าเพิ่มและผลักดันผลผลิตสู่กระบวนการแปรรูปให้มากขึ้น และการพัฒนาเกษตรกรชาวสวนสมาชิกให้มีความรู้และนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ที่สอดคล้องและเท่าเทียม


           การจัดงาน "Durain to Go" by สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ภายใต้ Concept "พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล" เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสมาพันธ์ฯ และภาครัฐ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี กรมวิชาการเกษตร และองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี และเป็นการเปิดตัวสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกอย่างเป็นทางการ เพื่อสร้างเครือข่ายขยายจำนวนสมาชิกฯ ในการขับเคลื่อนอย่างมั่นคงต่อไป กิจกรรมหลักในงานประกอบด้วย 1) การเปิดตัวสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกอย่างเป็นทางการ 2) การจัดแสดงนิทรรศการและนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการทุเรียนจากทุกภาคส่วน 3) การเสวนาเรื่อง "ผ่าทางตัน ดับปัญหาทุเรียนอ่อน" และ “พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล” จากผู้แทนสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เจ้าหน้าที่จากสำนักกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดจันทบุรี ตัวแทนเกษตรกรจากสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียน และผู้เชี่ยวชาญด้านทุเรียน 4) การจำหน่ายสินค้าเกษตรและอุปกรณ์เครื่องมือทางการเกษตร 5) การรับสมัครสมาชิกและเครือข่ายสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก
          โอกาสนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามการจัดทำบันทึกข้อตกลง "ไม่ซื้อไม่ขายสินค้าเกษตรด้อยคุณภาพ" โดยนายวิทูรัช ศรีนาม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ร่วมกับ ประธานสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด เกษตรจังหวัดจันทบุรี พาณิชย์จังหวัดจันทบุรี นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านจังหวัดจันทบุรี ผู้แทนเกษตรกร ผู้แทนตลาดค้าส่งสินค้าเกษตร และผู้แทนประกอบการแผงค้าปลีก


         นายธีรภัทร อุ่นใจ นายกสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก กล่าวว่า หลังจากตั้งสมาพันธ์ฯ ได้ร่วมกันกำหนดและจัดทำยุทธศาสตร์ โดยมีวิสัยทัศน์ คือ "พัฒนาทุเรียนไทย ก้าวไกลสู่สากล" และขับเคลื่อนการดำเนินงาน ดังนี้ 1) ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออกร้อยละ 80 ได้รับการรับรองมาตรฐานกระบวนการผลิต (GAP) จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายในปี 2564 2)  ปริมาณการส่งออกผลผลิตทุเรียนภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 ต่อปี ภานในปี 2565 3) ผลักดันช่องทางการตลาดใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การเข้าถึง และการจำหน่ายตรงถึงผู้บริโภค 4) ผลักดันการแปรรูปทุเรียนเพื่อการส่งออกและมีมูลค่าเพิ่มอย่างแท้จริง 5) เพิ่มสมาชิกจำนวนสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ร้อยละ 20 ต่อปี จากจำนวนสมาชิกเดิม โดยดำเนินการภายใต้สมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ให้ทุเรียนเป็นต้นแบบการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ จนสามารถกำหนดราคา มาตรฐานผลผลิต และปริมาณผลผลิตที่สอดคล้องกับตลาดในภาพรวมของประเทศไทย

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

คูโบต้า ให้ยืมแทรกเตอร์ ทำแนวกันไฟ ที่ภูกระดึง


      สยามคูโบต้า ร่วมกับร้านผู้แทนจำหน่ายคูโบต้าเมืองเลย และศูนย์บริการเทคนิคสยามคูโบต้า ส่งมอบแทรกเตอร์ รุ่น L4018 จำนวน 2 คัน ให้อุทยานแห่งชาติภูกระดึง ได้ยืมใช้ทำแนวกันไฟ โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พร้อมคณะเจ้าหน้าอุทยานฯ ให้เกียรติรับมอบ ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย



กยท. แจง สร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ ตามหลักเกณฑ์และข้อแนะนำ จากกระทรวงคมนาคม


       การยางแห่งประเทศไทย ชี้แจงการสร้างถนนพาราซอยด์ซีเมนต์ตามคู่มือปฏิบัติงานฯ ที่ประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะพิจารณารับรองคุณภาพน้ำยางผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่มที่ใช้ทำถนนเท่านั้น โดยไม่ระบุสูตรน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม เพียงแต่ให้ผ่านเกณฑ์กำหนดของคู่มือปฏิบัติงานฯ เท่านั้น
        นางณพรัตน์ วิชิตชลชัย รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อแก้ไขราคายางตกต่ำ และเพื่อยกระดับราคายางพารา ในการดำเนินการทำถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมขาติ เพื่อใช้แทนถนนลูกรังในชนบททั่วประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม 


   สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ เพื่อให้การพิจารณารับรองมาตรฐานวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่ม สำหรับการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ เป็นไปตามคู่มือปฏิบัติงานฯ ประกาศโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเป็นคู่มือปฏิบัติงานฯ ที่จัดทำโดยกระทรวงคมนาคม หน่วยงานกลางในเรื่องการสร้างถนน การจัดตั้งคณะกรรมการฯ เป็นการดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการของกรมบัญชีกลาง ประกอบด้วยนักวิชาการวิศวกรรมจากหน่วยงานราชการ เช่น กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน กรมทหารช่าง เป็นต้น เพื่อรับรองคุณภาพน้ำยางที่จะใช้ผสมกับยางพาราเพื่อนำมาทำถนน ซึ่งเป็นเพียงคำแนะนำให้แก่หน่วยงานที่จะดำเนินการสร้างถนน
         นางณพรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การยางแห่งประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณารับรองมาตรฐานฯ และคณะอนุกรรมการพิจารณาการรับรองมาตรฐาน  โดยจะพิจารณารับรองมาตรฐานและคุณภาพวัสดุน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่มและสารผสมเพิ่มในด้านสมบัติทางกายภาพและเคมี รวมทั้งสมบัติเชิงวิศวกรรมจากก้อนตัวอย่างดินซีเมนต์ผสมยางพารา ตามคู่มือปฏิบัติงานฯ ข้างต้น โดยไม่ระบุสูตรน้ำยางพาราผสมสารผสมเพิ่ม เพียงแต่ให้ผ่านเกณฑ์กำหนดของคู่มือปฏิบัติงานฯ เท่านั้น ในส่วนการดำเนินการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ จะมีความแข็งแรงหรือทนทานตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ 1. วัสดุที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน 2. การควบคุมคุณภาพในการก่อสร้างถนน 3. ขั้นตอนการทำถนนต้องเป็นไปตามมาตรฐาน ดังนั้นถนนเส้นใดสายใดเสียหายก่อนครบสัญญาจ้าง อาจเกิดจากการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามขั้นตอนในคู่มือปฏิบัติงานฯ ไม่ใช่เกิดจากคุณภาพน้ำยางเพียงอย่างเดียว


          สำหรับการจัดจ้างก่อสร้างถนนยางพาราซอยซีเมนต์เป็นการดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ซึ่งกำหนดขั้นตอนไว้ ผู้มีอำนาจลงนามจะเป็นหัวหน้าหน่วยงานแต่ละหน่วย ไม่เกี่ยวข้องกับระดับนโยบาย ดังนั้น หากพบว่าหน่วยงานใดทุจริต สามารถส่งหลักฐานให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการตรวจสอบต่อไป โครงการถนนพาราซอยซีเมนต์ เป็นนโยบายที่ใช้ในการแก้ปัญหาราคายางสนับสนุนให้เกิดการใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยให้ได้รับประโยชน์โดยตรง

กรมส่งเสริมการเกษตรจัด Workshop สร้างเครือข่ายพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลงใหญ่


    นายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ด้านส่งเสริมการผลิต เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาเกษตรกรเป็นผู้จัดการแปลง รุ่นที่ 2 ณ โรงแรมไมด้า แอร์พอร์ต กรุงเทพฯ (MIDA AIRPORT HOTEL BANGKOK) เพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้ผลิตไม้ผลแบบแปลงใหญ่ให้สามารถทำหน้าที่เป็นผู้จัดการแปลงได้ ส่งผลให้เกิดความสามารถในการวิเคราะห์ วางแผน บริหารจัดการกลุ่ม การผลิต การตลาด และทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยนำความรู้และเทคนิคต่างๆ ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแปลงใหญ่ไม้ผลของตนเอง เกิดเป็นเครือข่ายผู้จัดการแปลงใหญ่ในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาแปลงได้อย่างเหมาะสม 


        กรมส่งเสริมการเกษตรมีภารกิจในการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรให้มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มรายได้ของเกษตรกร ตลอดจนดูแลคุณภาพชีวิตของเกษตรกร โดยดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ที่ยึดพื้นที่เป็นหลักในการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควบคู่ไปกับการร่วมมือร่วมใจของเกษตรกรที่รวมตัวกันเป็นกลุ่มการผลิต มีผู้จัดการแปลงเป็นผู้บริหารจัดการพื้นที่ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้จัดการแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้มีการถ่ายโอนภารกิจผู้จัดการสำหรับแปลงที่ดำเนินการเป็นปีที่ 3 หรือแปลงใหญ่ปี 2561 จำนวน 1,635 แปลง เพื่อให้มีการบริหารจัดการร่วมกัน มีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิต เพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เช่น เครื่องจักรกลการเกษตรที่ช่วยประหยัดแรงงาน แต่สามารถลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรได้เป็นอย่างดี ตลอดจนการจัดการด้านการตลาดโดยหน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุน และอำนวยความสะดวก จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้จัดการแปลงและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้ไปในทิศทางเดียวกัน
         การสัมมนาฯ ดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 29 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมไมด้า แอร์พอร์ต หลักสี่ กรุงเทพฯ มีผู้เข้าร่วมสัมมนารวมทั้งสิ้น 166 คน ประกอบด้วย ผู้จัดการแปลงจากกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ไม้ผล ใน 46 จังหวัด คณะผู้จัด และคณะวิทยากรที่มาบรรยายความรู้แก่ผู้เข้าร่วมสัมมนา ได้แก่ ดร.พิสัณห์ นุ่นเกลี้ยง และคณะ ซึ่งได้บรรยาย เรื่อง วิกฤตโลกและการแข่งขันที่เกษตรแปลงใหญ่ต้องปรับตัว การวิเคราะห์ตลาด กำหนดตำแหน่งผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าแบบครบวงจร การวางแผนการผลิตรายปี เส้นทางโลจิสติกส์ของสินค้า พร้อมทั้งให้ผู้จัดการแปลงและผู้แทนได้ทำการฝึกปฏิบัติการกลุ่ม นำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อนำไปต่อยอดในพื้นที่ และบริหารจัดการแปลงอย่างมืออาชีพ


      สำหรับการดำเนินงานระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน มีแปลงใหญ่ทั้งสิ้น 6,535 แปลง เกษตรกร 365,884 ราย พื้นที่ 6.02 ล้านไร่ แบ่งเป็น ปี 2559 จำนวน 592 แปลง  เกษตรกร 80,216 ราย พื้นที่ 1,386,511ไร่ ปี 2560 จำนวน 1,771 แปลง  เกษตรกร 116,399 ราย พื้นที่ 2,018,097 ไร่ ปี 2561 จำนวน 1,635 แปลง  เกษตรกร 85,464 ราย พื้นที่ 1,348,722 ไร่ ปี 2562 จำนวน 1,586 แปลง เกษตรกร 73,043 ราย พื้นที่ 1,114,630 ไร่ และ ปี 2563 จำนวน 952 แปลง  เกษตรกร 10,762 ราย พื้นที่ 152,883 ไร่
     การจัดสัมมนาครั้งนี้คาดหวังว่า ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะสามารถนำแนวทางดังกล่าวไปพัฒนากลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ให้มีประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรได้ในโอกาสต่อไป

วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

เตรียมความพร้อม จนท.ประมง รักษามาตรฐานการตรวจเครื่องมือประมง 22 ชนิด

                                                                                                                 

       วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.30 น. ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ระยอง) ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง ลงพื้นที่จังหวัดระยองมอบนโยบายการดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่กรมประมงในพื้นที่จังหวัดชายทะเลภาคกลางและภาคตะวันออก จำนวน 75 นาย เพื่อซักซ้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการตรวจเครื่องมือประมงที่แจ้งความประสงค์ขอรับการตรวจเครื่องมือประมงก่อนออกทำการประมงครั้งแรก สำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์รอบปีการประมง 2563 - 2564 ตามมาตรฐานที่กรมประมงกำหนด


      ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า  ตามประกาศกรมประมง ลงวันที่ 17 มกราคม 2563 เรื่อง กำหนดห้วงเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ ขั้นตอนและเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์สำหรับปีการประมง 2563 – 2564 พ.ศ. 2563 ข้อที่ 5 ลำดับที่ 4 ได้กำหนดให้การออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์เครื่องมือที่ได้รับอนุญาตจะต้องผ่านการตรวจเครื่องมือประมงตามมาตรฐานที่กรมประมงกำหนดไว้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการดัดแปลงหรือปรับปรุงเครื่องมือประมงทะเลให้ผิดไปจากมาตรฐานอันอาจจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำและระบบนิเวศได้ อีกทั้งเพื่อเป็นการชี้แนะชาวประมงมิให้ใช้เครื่องมือประมงผิดไปจากที่กรมประมงอนุญาตซึ่งมีความผิดและมีบทลงโทษที่รุนแรง โดยทางกองวิจัยและพัฒนาประมงทะเลได้จำแนกประเภทและชนิดของเครื่องมือประมงทะเลไว้ทั้งหมดจำนวน 10 ประเภท 21 ชนิด ประกอบด้วย 1)ประเภทอวนล้อมจับ ได้แก่ อวนล้อมจับ และอวนล้อมจับปลากะตัก 2)ประเภทอวนลาก ได้แก่ อวนลากแผ่นตะเฆ่ อวนลากคานถ่าง และอวนลากคู่ 3)ประเภทคราด ได้แก่ คราดหอยลาย คราดหอยแครง และคราดหอยอื่น 4)ประเภทอวนช้อน/อวนยกได้แก่ อวนช้อนปลาจาละเม็ด และอวนช้อน/ยกปลากะตัก 5) ประเภทอวนครอบ ได้แก่ อวนครอบหมึก และอวนครอบปลากะตัก 6)ประเภทอวนติดตา ได้แก่ อวนติดตา 7) ประเภทอวนรุน ได้แก่ อวนรุนเคย 8)ประเภทลอบ ได้แก่ ลอบปลา ลอบปู ลอบหมึก และลอบหมึกสาย 9)ประเภทเบ็ด ได้แก่ เบ็ดมือ และเบ็ดราว 10) ประเภทเครื่องมืออื่น ได้แก่ แผงยกปูจักจั่น และเครื่องมือช่วยทำการประมง 1 ชนิด ได้แก่ เรือประกอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (เรือปั่นไฟ) ดังนั้นเพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการตรวจมาตรฐานเครื่องมือประมงตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และข้อคิดเห็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ กรมประมงจึงได้กำหนดจัดการประชุม และ จัดกิจกรรม workshop ขึ้นเพื่อให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล 



         สำหรับการซักซ้อมและสร้างความรู้ความเข้าใจหลักเกณฑ์ในการตรวจเครื่องมือประมงและบทบัญญัติทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้กับเจ้าหน้าที่กรมประมง กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล กรมประมง ได้กำหนดจัดขึ้นทั้งหมดจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 ก.พ.63  ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลอ่าวไทยตอนกลาง (ชุมพร) และ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 – 28 ก.พ.63 ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ระยอง) โดยผู้ที่รับใบอนุญาตฯ ทางกรมประมงจะเริ่มดำเนินการตรวจสอบเครื่องมือประมงระหว่างวันที่ 16 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ หากเรือประมงของท่านไม่ผ่านการตรวจเครื่องมือประมงจะไม่สามารถออกทำการประมงได้ สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบทางกรมฯ จะแบ่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่  1.. กลุ่มเรือประมงที่ต้องแจ้งเข้า-ออก (เรือมีขนาดตั้งแต่ 30 ตันกรอส) และเรือประมงที่ใช้เครื่องมือประมง 6 ชนิด คือ 1. อวนลากคู่ 2. อวนลากแผ่นตะเฆ่ 3. อวนลากคานถ่าง 4. อวนล้อมจับ 5.อวนล้อมจับปลากะตัก 6.อวนครอบปลากะตัก ที่มีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอสขึ้นไปจะได้รับการนัดและตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้าแจ้งออก (PIPO) ในเขตพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล  
          2. กลุ่มเรือประมงที่ไม่ต้องแจ้งเข้า-ออก (เรือมีขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส) ใช้เครื่องมือประมง 6 ชนิด คือ 1.อวนลากคู่ 2.อวนลากแผ่นตะเฆ่ 3.อวนลากคานถ่าง 4.อวนล้อมจับ 5.อวนล้อมจับกระตัก 6.อวนครอบปลากะตักและเรือที่มีขนาด 10-29.99 ตันกรอสที่ใช้เครื่องมือประมงชนิดอื่นนอกเหนือ 6 ชนิดเครื่องมือข้างต้น จะได้รับการนัดและตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลในเขตพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล  


        นอกจากนี้ ทางกรมประมงได้จัดทำระบบตรวจสอบเครื่องมือทำการประมงขึ้น สำหรับใช้ในการตรวจเครื่องมือของเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงพาณิชย์ โดยระบบดังกล่าวจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ในเรื่องของการลงนัดวัน เวลา และสถานที่ในการเข้าตรวจสอบเครื่องมือทำการประมง การบันทึกผลการตรวจสอบเครื่องมือทำการประมงเพื่อให้ข้อมูลจากการตรวจสอบมีความถูกต้องแม่นยำของมากยิ่งขึ้น การตรวจสอบเครื่องมือทำการประมงเป็นหนึ่งในมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำไม่ให้เกินค่าปริมาณสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ (TAC) ดังนั้นเรือประมงพาณิชย์ทุกลำที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงรอบปีการประมง 63-64 จะต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องมือประมงให้เป็นไปตามที่กรมประมงอนุญาตก่อนออกทำการประมง สำหรับท่านใดต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาประมงทะเล โทร.02-561-0880 ๏ 

                                                                                                
                                                                                            

“เฉลิมชัย” ผนึก “ลาซาด้า-ช้อปปี้” นำสินค้าเกษตรขายออนไลน์หวังดันยอดขายเพิ่ม 30%


         นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับลาซาด้า (Lazada) และ ช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ร่วมดำเนินโครงการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นผู้ค้าออนไลน์ มืออาชีพ เพื่อผลักดันนโยบายตลาดนำการผลิตของรัฐบาล เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายให้เกษตรกรประมาณ 30% จากช่องทางตลาดปกติของเกษตรกร โดยในวันที่ 4 มี.ค.นี้ จะเปิดตัวขายอย่างเป็นทางการ
         ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่เข้ามามีส่วนการซื้อ-ขาย มากขึ้น ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ เช่นเดียวกับเกษตรกรต้องใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยการเชื่อมกับแพลตฟอร์มการค้าที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเอง ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้จะเป็นตัวคัดกรองลูกค้า มีระบบบัญชีที่ได้อย่างมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ
       ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับ ลาซาด้า คัดเลือกเป้าหมายสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการคือ กลุ่มเกษตรกรในระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 6,000 แปลง เกษตรกรมากกว่า 3.5 แสนราย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 8.6 แห่ง กลุ่มสหกรณ์การเกษตร 3,000 แห่ง กลุ่มยุวเกษตรกร ขณะนี้มีเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 175 ราย ซึ่งจะเข้าร่วมเปิดโครงการในวันที่ 4 มี.ค. นี้ หลังจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชน จะเดินสายอบรม ให้ความรู้ กับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลางและภาคใต้ ในด้านการผลิต การกำหนดราคา การเชื่อมโยงกับตลาด และการบริหารระบบบัญชีเพื่อฝึกให้ตนเองเป็นผู้ขายผ่านออนไลน์อย่างมืออาชีพ
     “สถานการณ์ในปัจจุบันไทยมีปัญหาโควิด-19 ฝุ่นพีเอ็ม2.5 และความไม่ปลอดภัยด้านสังคม ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันมาสั่งซื้อผ่านระบบคอมเมิร์ซกันมากขึ้น และแนวโน้มจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การขายสินค้าเกษตรแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียต่างกันออกไป การเปิดร้าน และการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง จะได้รับเงินสดทันที แต่ก็มีข้อเสียที่เกษตรกรต้องรับความเสี่ยงของเน่าเสียคาร้านหรือถูกกดราคาต่ำจากพ่อค้าคนกลาง ปัญหานี้จะหมดไปหากเกษตรกรเลือกขายผ่านระบบออนไลน์ ทั้งสามารถตั้งราคาเองได้ และมีตลาดที่ชัดเจน”
    นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การขายผ่านระบบออนไลน์นี้จะเป็นอีกช่องทางการจำหน่ายที่จะผลักดันให้เกษตรกรรู้จักพัฒนาตนเอง เรียนรู้เพื่อพัฒนาสินค้าและวางแผนการจัดการ นอกจากนี้ ยังลดการกระจุกตัวของปริมาณสินค้าเกษตรกร ราคาที่เกษตรกรได้รับมีเสถียรภาพมากขึ้น ผู้บริโภคทั่วประเทศได้บริโภคสินค้าเกษตรที่ดีมีคุณภาพ ในราคาที่ส่งตรงจากเกษตรกร
             สำหรับสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายผ่านออนไลน์ เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร 5 ดาว ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง มาจำหน่ายเพื่อนำร่องเปิดตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมแพะ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจรักษ์แพะบางบัวทอง จ.นนทบุรี, ไส้กรอกอีสานไขมันต่ำ กลุ่มเกษตรกรมาดามอร ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จ.นครปฐม, ผลิตภัณฑ์เชียงใหม่เฟรชมิลค์ เฉพาะที่ ไม่ต้องแช่เย็น กลุ่มเกษตรกร Young Smart Farmer จ.นครปฐม, ไก่ด่าเชียง กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนไก่ด่าสมุนไพรบ้านเชิงหวาย จ.พิษณุโลก เป็นต้น

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

สระบุรี ติวเข้ม จนท.ขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ มุ่งสร้างรายได้เกษตรกร


            กรมส่งเสริมการเกษตรต่อยอด “โมเดลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่” ปี 2563 มุ่งขยายผลสู่พื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ สระบุรีพร้อมติวเข้มนักส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่ขับเคลื่อนงานมุ่งกระจายรายได้สู่ชุมชน ครอบคลุมทุกมิติงานส่งเสริมทั้งด้านคน พื้นที่ และสินค้า 


            นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรีว่า การผลักดันงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่นับเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาภาคเกษตรไทยไปสู่ความมั่นคงและเข้มแข็ง ซึ่งถือเป็นกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนแบบบูรณาการ โดยชุมชนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ และร่วมรับประโยชน์ โดยในปี 2563 นี้ 


         กรมส่งเสริมการเกษตรวางเป้าหมายขยายผลการส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 จุดทั่วประเทศ พร้อมแจ้งให้สำนักงานเกษตรจังหวัดขับเคลื่อนการดำเนินงาน รวมทั้งพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรให้มีความรู้ ความเข้าใจรูปแบบกระบวนการทำงาน ด้วยการสร้างคณะทำงานและเครือข่ายการเรียนรู้ร่วมกัน สำหรับสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรีกำหนดจุดดำเนินการในพื้นที่อำเภอละ 1 จุด รวม 13 จุด โดยให้เจ้าหน้าที่จากทุกกลุ่มงานของจังหวัดและอำเภอร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่เป้าหมายและเตรียมความพร้อมก่อนลงพื้นที่วิเคราะห์ชุมชน ยึดหลักการทำงานส่งเสริมการเกษตรด้วยระบบ T&V System และ MRCF วิเคราะห์คน พื้นที่ สินค้า ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนา (Area Base) โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เชื่อมโยงกลไกการทำงานส่งเสริมการเกษตรในลักษณะรายบุคคล (Individual Approach) การส่งเสริมแบบกลุ่ม (Group Approach) และการส่งเสริมรายสินค้า (Commodity Approach) เพื่อกระจายผลประโยชน์สู่ชุมชน ตามนโยบายตลาดนำการเกษตร


            ด้าน นางจุไรรัตน์ แสงสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า การดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี ได้มีการสนับสนุนกิจกรรมแปลงส่งเสริมการปลูกหน่อไม้ฝรั่ง บริเวณโครงการอ่างเก็บน้ำมวกเหล็ก ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวได้มีการบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำ ไม่มีที่ดินทำกิน การบริหารจัดการ และการตลาดให้แก่เกษตรกร โดยขออนุญาตใช้พื้นที่บางส่วนจากกรมชลประทานดำเนินการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย ให้ผลตอบแทนสูง และกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปสนับสนุนให้เกษตรกรเกิดการรวมกลุ่มผลิตหน่อไม้ฝรั่ง มีการส่งเสริมการผลิตตามมาตรฐาน GAP ทำให้สามารถส่งออกหน่อไม้ฝรั่งไปต่างประเทศ และรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่ง รวมกันขายผลผลิตช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนกิจกรรมการสร้างเครือข่ายของเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer : YSF) ให้เกษตรกรเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยี ณ สวนบิ๊กเต้ (สวนเบญจมาศ) ของนายกิตติคุณ พรหมพิทักษ์ ตำบลหนองย่างเสือ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี พื้นที่กว่า 100 ไร่ ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีบังคับให้ดอกเบญจมาศออกดอกตลอดทั้งปี มาปรับใช้ในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยจัดทำเป็นสวนดอกเบญจมาศหลากหลายสายพันธุ์และสีสัน ส่งจำหน่ายตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดทางภาคอีสานบางส่วน ช่อละ 60-100 บาท รวมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมสวนโดยเก็บค่าเข้าชมคนละ 20 บาท สามารถชมสวนดอกเบญจมาศและถ่ายรูปกับดอกไม้ พร้อมชมทิวทัศน์ธรรมชาติบนหุบเขา สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและคนในท้องถิ่น


            นายอนุชาติ ศรีดาวฤกษ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกหน่อไม้ฝรั่งบ้านตะพานหิน หมู่ที่ 5 ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี กล่าวว่า เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2562 ที่ผ่านมา ได้รับการอบรมถ่ายทอดความรู้และจัดทำแปลงส่งเสริมการผลิต จากกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานเกษตรจังหวัดสระบุรีสนับสนุนพันธุ์ ระบบน้ำ และวัสดุการเกษตร จำนวน 10 ราย ๆ ละ 1 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 10 ไร่ มีการเชื่อมโยงตลาดกับบริษัท หลี่ฉาง จังหวัดราชบุรี ผู้ส่งออกหน่อไม้ฝรั่งสู่ประเทศไต้หวัน โดยรับซื้อ เกรด ราคา 60 บาท/กิโลกรัม เกรด ราคา 30 บาท/กิโลกรัม เกรด ราคา 20 บาท/กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรมีอาชีพและรายได้เฉลี่ย 480 บาท/วัน/ราย/ไร่ สร้างรายได้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เป็นเงินเฉลี่ย 144,000 บาท/เดือน และยังมีเกษตรกรที่ต้องการขยายพื้นที่ปลูกและสนใจเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น 
            ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้เจรจาขอใช้พื้นที่กรมชลประทานบริเวณอ่างเก็บน้ำดังกล่าวกับนายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 10 จังหวัดลพบุรี เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำได้ใช้ประโยชน์ที่ดิน และน้ำเพื่อการเกษตร ในการนำร่องปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนสูงสร้างรายได้แก่เกษตรกร เบื้องต้นได้รับการตอบรับอนุญาตและขอให้กรมฯ เสนอโครงการเข้าไป พร้อมกันนี้รองอธิบดีฯ ได้ให้ข้อแนะนำเรื่องการทำเกษตรอย่างยั่งยืน การทำเกษตรแบบผสมผสานแก่เกษตรกร โดยปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกให้มีการหมุนเวียนสร้างรายได้รวมทั้งการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าด้วย


            สำหรับการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ เป็นอีกกลไกสำคัญของกรมฯ ที่ต้องการส่งเสริมเกษตรกรไทยให้มีความเข้มแข็งและเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น รูปแบบการดำเนินการมุ่งพัฒนาต่อยอดและใช้กลไกที่มีอยู่เดิม อาทิ ระบบการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ Young Smart Farmer และวิสาหกิจชุมชน โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรได้รับการส่งเสริมและพัฒนา สามารถคิดเป็น พึ่งพาตนเองได้ อาศัยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยึดพื้นที่เป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนตามความต้องการของพื้นที่ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ ทรัพยากร และงบประมาณ มีการวิเคราะห์ข้อมูลของพื้นที่อย่างรอบด้านเพื่อค้นหาศักยภาพและปัญหาของชุมชนที่แท้จริง จากนั้นจึงจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรของชุมชนขึ้นมาให้สอดคล้องกับทุน ทรัพยากรของพื้นที่ พร้อมทั้งจัดเวทีชุมชน เพื่อให้เป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมโยงกลไกการทำงานผ่านการส่งเสริมการเกษตร ซึ่งผลสำเร็จของโครงการนี้เชื่อว่าจะทำให้เกษตรกรมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการขยายผลความสำเร็จไปสู่พื้นที่อื่นต่อไป

“ เฉลิมชัย" สั่งทุกหน่วยงานเร่งฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย


  เฉลิมชัย" สั่งทุกหน่วยงานเร่งฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย หลัง ครม.เห็นชอบแผนปฏิบัติการ   ปุญหาภัยแล้งเกษตรกรสนใจเลี้ยงสัตว์ปีกมากกว่าการเพาะปลูก ย้ำเดินหน้าทันทีเพิ่มรายได้เกษตรกร
     นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มอบหมายให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินงานโครงการตามแผนปฏิบัติการฟื้นฟู เยียวยา เกษตรกรผู้ประสบภัยฝนทิ้งช่วงและอุทกภัยปี 2562 ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ ครม.เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์  หลังจากเสนอให้พิจารณาใหม่เพราะจากการเปิดรับสมัครเกษตรกร พบว่า โครงการส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยเพื่อสร้างรายได้แก่เกษตรกร (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเขียว) โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวปี 2563/2564 โครงการพัฒนาเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงปลานิลแปลงเพศในบ่อดินนั้น เกษตรกรประสงค์เข้าร่วมต่ำกว่าเป้าหมาย เนื่องจากฤดูแล้งนี้มีน้ำน้อย เกษตรกรจึงสมัครร่วมโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีกมากที่สุด เพราะเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช้น้ำมาก ครม.อนุมัติถัวจ่ายงบประมาณภกรอบวงเงิน 3,120.8618 ล้านบาท 


    “สั่งทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินการทันที กำชับให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติฝนทิ้งช่วงและอุทกภัย ซึ่งเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ด้วยโครงการเพิ่มรายได้ของกระทรวงเกษตรฯ” นายเฉลิมชัย กล่าว


    นอกจากนี้ กรมการข้าว ประมาณการรายละเอียดเมล็ดพันธุ์ข้าวและแหล่งจัดหาเมล็ดพันธุ์ข้าว 63,200 ตัน จำแนกเป็น กรมการข้าว 23,100 ตัน สหกรณ์การเกษตร/กลุ่มเกษตรกร 3,300 ตัน ศูนย์ข้าวชุมชนและแปลงใหญ่ 36,800 ตัน แต่ความต้องการชนิดข้าวเปลี่ยนแปลงไปจากที่กรมการข้าวประมาณการไว้เดิม ประกอบกับสหกรณ์การเกษตรขอเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่จะสนับสนุนโครงการจากเดิม 3,300 ตัน เป็น 14,300 ตัน เนื่องจากสหกรณ์การเกษตรสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพิ่มขึ้น จึงขอเพิ่มจำนวนเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการ ซึ่ง ครม.เห็นชอบ ดังนั้น จึงสั่งการให้กรมการข้าวปรับเปลี่ยนปริมาณของเมล็ดพันธุ์แต่ละชนิดข้าวและปริมาณเมล็ดพันธุ์ข้าวของแหล่งผลิตดังกล่าว ให้เป็นไปตามความต้องการของเกษตรกรและตามความสามารถในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและปริมาณที่จะสนับสนุนของแต่ละแหล่งผลิต


สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...