นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
(สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ปี 2562/63
ระหว่างวันที่ 11-15 กุมภาพันธ์ 2563
ในพื้นที่ จังหวัดน่าน แพร่ และพิษณุโลก ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่สำคัญของประเทศ
พบว่า เนื้อที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 2562/63 (ข้อมูลพยากรณ์
ณ เดือนธันวาคม 2562) คาดว่ามี 1.204
ล้านไร่ ลดลงจากปี 2561/62 ที่จำนวน 1.270 ล้านไร่ (ลดลงร้อยละ 5) ด้านผลผลิตคาดว่ามี 0.763 ล้านตัน ลดลงจากปี 2561/62 ที่จำนวน 0.886 ล้านตัน (ลดลงร้อยละ 14) เนื่องจากปีนี้
ประสบปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด และผลกระทบจากภัยแล้ง
ส่งผลให้ผลผลิตเสียหายบางส่วน
สำหรับปี 2563 คาดว่าราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ความชื้นไม่เกิน
14.5% จะใกล้เคียงกับปี 2562 เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
ประกอบกับภาครัฐได้ดำเนินมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
ในอัตรา 1 : 3
เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม – กุมภาพันธ์) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 7.80 บาท
ลดลงจากกิโลกรัมละ 8.95 บาท ในช่วงเดียวกันของปี 2562
(ลดลงร้อยละ 13) เนื่องจาก เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นเดือนแรกที่เปิดให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่
สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา ภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA)
ภาษี 0%
จึงทำให้มีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปริมาณมาก และคาดว่าน่าจะมากกว่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้ราคาในประเทศมีแนวโน้มลดลง
ด้านนางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการ
สศก. กล่าวเพิ่มเติมว่า
สำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าวรัฐบาลได้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ปี 2562/63 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้รับราคาที่เหมาะสมตามราคาตลาด
และมาตรการคู่ขนานอีก 6 มาตรการ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการการนำเข้ากำหนดให้นำเข้าได้เฉพาะในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ –
สิงหาคม ของทุกปี 2) การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
3) การเพิ่มช่องทางการจำหน่าย
โดยเชื่อมโยงผลผลิตกับผู้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 4) การดูแลความสมดุลโดยแจ้งปริมาณการครอบครองการนำเข้า
สถานที่เก็บ และสต็อก 5) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
และ 6) สนับสนุนให้ผู้ประกอบการค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เก็บสต็อกผลผลิตโดยไม่ต้องเร่งระบาย
อย่างไรก็ตาม
ในส่วนของสถานการณ์ภัยแล้งที่คาดว่ายังมีแนวโน้มยืดเยื้อออกไป
อาจจะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินมาตรการป้องกันเพื่อลดผลกระทบดังกล่าว
ภายใต้แผนการป้องกันและเผชิญเหตุภัยแล้งด้านการเกษตร อาทิ การส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย
และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
เพื่อวางแผนการผลิตให้เหมาะสมต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น