วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

มกอช.เดินหน้าดัน “อุตสาหกรรมจิ้งหรีดไทย” หาโซลูชั่นส่งเสริมงานวิจัย รองรับขยายตลาดส่งออก


          ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของ มกอช. ร่วมประชุมหารือกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา พิมลศิริผล ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร  รองศาสตราจารย์ ดร.จิราพร กุลสาริน ภาควิชากีฏวิทยาและโรคพืช คณะเกษตรศาสตร์ และผู้ประกอบการเลี้ยงและรวบรวมจิ้งหรีด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมแมลงบริโภคได้ของไทย และการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เพื่อสนับสนุนการส่งออกจิ้งหรีดไปยังต่างประเทศ ณ ห้องประชุมศูนย์นวัตกรรมอาหารและบรรจุภัณฑ์ (Food Innovation and Packaging Center: FIN) คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


          ดร.จูอะดี กล่าวว่า องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of  the United Nation ; FAO) ได้ส่งเสริมให้คนหันมาบริโภคจิ้งหรีด ซึ่งเป็นแมลงที่บริโภคได้ เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่มีราคาถูกและสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ปัจจุบันมีการค้าขายจิ้งหรีดในรูปแบบสด    แช่แข็ง รวมถึงทำเป็นการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทอด คั่ว หรือบรรจุกระป๋อง รวมทั้งทำเป็นผงบดเพื่อแปรรูปเป็นแป้งที่นำไปเป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ซึ่งปัจจุบันมีการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น สภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น  


        มกอช. จึงร่วมหารือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมแมลงบริโภคได้ของไทย และการยกระดับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202-2560) เพื่อสนับสนุนการส่งออกจิ้งหรีดไปยังต่างประเทศ  เนื่องด้วยเมื่อเดือนมกราคม 2563 ที่ผ่านมา มกอช. ได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการและร่วมเปิดงาน International Green Week 2020 ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พบว่า ผู้ที่เข้าร่วมงานและผู้ประกอบการชาวต่างชาติ มีความสนใจแมลงบริโภคได้ของไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจิ้งหรีด โดยมีความต้องการที่จะนำเข้าจิ้งหรีดจากเกษตรกรของไทย เนื่องด้วยภูมิศาสตร์ทางกายภาพของประเทศไทยนั้น เหมาะสมเอื้อต่อการเลี้ยงจิ้งหรีด ส่งผลต่อคุณภาพ และรสชาติของจิ้งหรีด  


         “ทั้งนี้ มกอช. ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตร มาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีด (มกษ.8202/2560) ปัจจุบันมีเกษตรกรได้รับรองมาตรฐานฟาร์มทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 13 แห่ง และเริ่มมีความต้องการสั่งซื้อเพิ่มสูงขึ้นจากทุกภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งการหารือ และร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการวิจัย พัฒนา และส่งเสริมอุตสาหกรรมจิ้งหรีดของไทย จะช่วยในการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับฟาร์ม วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองทั้งนโยบายการส่งเสริมการผลิตเกษตรแปลงใหญ่ ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน และเป็นการตอบสนองแนวทางนโยบายการผลิตอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่สามารถรองรับการเติบโตของประชากรทั่วโลกตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รวมทั้งขยายโอกาสเปิดตลาดสินค้าไปยังตลาดที่มีความต้องการและกำลังซื้อสูง”เลขาธิการ มกอช. กล่าว 


         ดร.จูอะดี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมฟาร์มจิ้งหรีดที่มีศักยภาพในเขตภาคเหนือ ได้แก่ ศิริพรฟาร์มจิ้งหรีด อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ซึ่งคุณศิริพร จุ่มแก้ว เจ้าของฟาร์ม เป็นเกษตรกรที่ต้องการพัฒนามาตรฐานฟาร์มเข้าสู่ระบบการผลิตทางการเกษตรที่ดี (GAP) และมีความพร้อมต่อการผลิตแมลงเพื่อการบริโภคหลายชนิด ตั้งแต่จิ้งหรีดทองดำ ทองแดง สะดิ้ง จนถึงชนิดอื่นๆ เช่น จิ้งโกร่ง และดักแด้ไหม  และCricket Lab อ.สารภี จ.เชียงใหม่ โดยได้ร่วมหารือ Mr.Nicolas Bery หุ้นส่วนผู้ก่อตั้ง โดยฟาร์มและโรงงานของ Cricket Lab ซึ่งผ่านการตรวจสอบมาตรฐานสากลแล้วหลายแห่ง รวมทั้งการรับรองมาตรฐานฟาร์มจิ้งหรีดตาม มกษ.8202-2560 มีศักยภาพในการส่งออกไปยังตลาดปลายทางหลายประเทศ และปัจจุบันกำลังเตรียมขยายกิจการโดยเข้าร่วมโครงการพัฒนาผู้ประกอบการของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...