นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า จากการเกิดวิกฤตการณ์ภัยแล้งในครั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเชื่อว่าต้องผ่านสถานการณ์แล้งนี้ไปด้วยกัน โดยการปฏิบัติการฝนหลวงทุกพื้นที่ และเฝ้าติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดยมีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ภาคเหนือ 2 หน่วย จังหวัดเชียงใหม่ และพิษณุโลก ภาคกลาง 2 หน่วย จังหวัดนครสวรรค์ และกาญจนบุรี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 หน่วย จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ภาคตะวันออก 1 หน่วย จังหวัดระยอง ภาคใต้ 2 หน่วย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งทั้ง 11 หน่วยการปฏิบัติการฝนหลวง ได้ร่วมบูรณาการกับกองทัพอากาศ และกองทัพบก ที่ให้การสนับสนุนอากาศยานและนักบิน ในการปฏิบัติการฝนหลวงในปีนี้ สำหรับเมื่อวานนี้ (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง ทำให้มีฝนตกเล็กน้อยบริเวณพื้นที่แหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคบางส่วนของเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ด้านแผนการปฏิบัติการฝนหลวงประจำวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ตามที่กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง ยังคงมีจำนวน 22 จังหวัด (รวม 128 อำเภอ 676 ตำบล 3 เทศบาล 5,849 หมู่บ้าน) บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ที่ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ และภาคกลาง ที่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี และฉะเชิงเทรา ขณะที่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำเก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 19 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 137 แห่ง ประชาชนที่อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำควรที่จะประสานกับกรมชลประทาน เพื่อเป็นการวางแผนใช้น้ำร่วมกันและการลดปัญหาความเสี่ยงของการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ทางการเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง อำเภอหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.สุราษฎร์ธานี เฝ้าติดตามสภาพอากาศว่าจะปฏิบัติการฝนหลวงได้หรือไม่ สำหรับจุดความร้อนหรือจุดที่มีการเผาไหม้ (Hotspot) ในประเทศไทย พบว่ามีจำนวน 215 จุด กระจายอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลางและกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่าค่าคุณภาพอากาศกลับมาอยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีคุณภาพอากาศปานกลาง ส่วนพื้นที่ภาคกลาง เฉพาะบริเวณ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ดังนั้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนร่วมกันลดการเกิดปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ โดยงดการเผาทุกชนิดทั้งในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ป่า สำหรับข้อมูลของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เรื่องปริมาณน้ำฝนรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 13 – 19 กุมภาพันธ์ 2563 พบว่า มีปริมาณฝนมากในบริเวณพื้นที่ภาคใต้ และทางภาคตะวันออกเป็นบางส่วน ส่วนพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ เริ่มประสบปัญหาภัยแล้งมากขึ้น
สำหรับการติดตามสภาพอากาศเพื่อวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบว่า จากผลการตรวจสภาพอากาศของสถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย จ.เชียงใหม่,ตาคลี จ.นครสวรรค์,ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ, พิมาย จ.นครราชสีมา,บ้านผือ จ.อุดรธานี ความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆ และความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆต่ำกว่า 60% ส่วนสถานีเรดาร์ฝนหลวงร้องกวาง จ.แพร่ และสัตหีบ จ.ชลบุรี มีความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการเกิดเมฆมากกว่า 60% สำหรับความชื้นสัมพัทธ์ที่ระดับการพัฒนาตัวของเมฆต่ำกว่า 60% ทำให้ไม่เข้าเงื่อนไขในการปฏิบัติการฝนหลวง หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จึงขอติดตามสภาพอากาศระหว่างวัน โดยมีการรายงานของอาสาสมัครฝนหลวงประกอบการตัดสินใจเป็นระยะๆ หากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง เข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวงจะวางแผนขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทันที
อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศจะติดตามสภาพอากาศทุกวันอย่างต่อเนื่องและจะเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำในทุกพื้นที่ทันทีเมื่อสภาพอากาศเหมาะสม ทั้งนี้ สามารถแจ้งการขอรับบริการฝนหลวงได้ที่
ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทุกภูมิภาคของประเทศและสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ทางเว็บไซต์/เพจ Facebook กรมฝนหลวงและการบินเกษตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น