‘ข้าวเหนียว’ เป็นตัวแทนความมั่นคงทางอาหารของพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน เพราะเป็นอาหารหลักของคนในพื้นที่ แต่ด้วยบริบทที่ไม่เป็นใจ ทุ่งนาลุ่มน้ำโขงที่ต้องเผชิญภัยธรรมชาติทั้งอุทกภัยและความแห้งแล้ง จึงแทบไม่เคยได้ปริมาณผลผลิตทัดเทียมพื้นที่อื่นซึ่งอุดมสมบูรณ์กว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พัฒนา ‘ข้าวหอมนาคา’ ข้าวเหนียวพันธุ์ใหม่ที่ทนทานต่อภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ทนแล้ง และทนโรค ถือเป็น ‘ข้าวเหนียวสะเทินน้ำสะเทินบก’ สายพันธุ์แรกของไทย
ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการจัดการแบบบูรณาการ ไบโอเทค สวทช. กล่าวว่า ปัญหาหลักของการปลูกข้าวเหนียวที่พี่น้องชาวนาต้องเผชิญ คือ ‘ข้าวล้ม’ เพราะข้าวเหนียวพันธุ์ไทยเป็นข้าวต้นสูง เวลาลมฝนมาแรงข้าวจะล้มนอนแม้ยังออกไม่เต็มรวง ปีไหนแล้ง ‘ขาดน้ำ’ ผลผลิตจะออกน้อย หนำซ้ำยังต้องเผชิญกับ ‘โรคไหม้และโรคขอบใบแห้ง’ ทำให้การเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์ สิ่งเหล่านี้เป็นความทุกข์ของคนทำนา เพราะชะตาชีวิตต้องแขวนอยู่บนปัจจัยเสี่ยงที่ไม่อาจควบคุมได้ นักวิจัยไทยจึงพยายามพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่อเอาชนะปัญหาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง
“จนในปีที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. ร่วมกับนายศรีสวัสดิ์ ขันทอง และคณะวิจัย นำความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรม มาศึกษาและพัฒนาพันธุกรรมของข้าวเหนียวไทย เพื่อชูยีนเด่น ลดยีนด้อย ผ่านการผสมและคัดเลือกพันธุ์อย่างเหมาะสม จนได้ผลงานข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ ‘หอมนาคา’ ที่สามารถ จมอยู่ในน้ำได้นาน 1–2 สัปดาห์ และทนทานต่อการขาดน้ำในบางระยะของการปลูกข้าว สอดรับกับสภาพพื้นที่ และยังทนทานต่อโรคไหม้และขอบใบแห้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักทำให้ชาวนาสูญเสียผลผลิตอีกด้วย ทั้งนี้ ข้าวเหนียวหอมนาคาสามารถปลูกได้ตลอดปี เพราะเป็นข้าวไม่ไวแสง ปลูกได้ทั้งนาปีและนาปรัง มีระยะเวลาในการปลูกประมาณ 130–140 วัน โดดเด่นด้วยลักษณะลำต้นไม่สูง เก็บเกี่ยวง่าย สามารถเก็บได้ด้วยเครื่องทุ่นแรง สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่และแนวโน้มการทำนาในอนาคตที่เครื่องจักรจะเข้ามาแทนที่ ทั้งนี้ผลจากการทดลองปลูกพบว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีผลผลิต 800–900 กิโลกรัมต่อไร่ และภาคอีสานมีผลผลิตสูงถึง 700–800 กิโลกรัมต่อไร่ ต่างจากเดิมที่มักมีผลผลิตเพียง 400–500 กิโลกรัมต่อไร่เท่านั้น ในด้านกระแสตอบรับจากผู้บริโภค ข้าวเหนียวหอมนาคาเป็นที่ชื่นชอบ เพราะเมื่อนำมานึ่งรับประทาน ข้าวมีความหอมและนุ่ม ถูกปากคนไทย อีกทั้งเมื่อหยิบทานข้าวจะไม่ติดมือ วางตั้งทิ้งไว้ข้าวก็ไม่แข็ง และนำไปอุ่นซ้ำข้าวก็ไม่เละ ถือเป็นความโดดเด่นทางพันธุกรรม”
ดร.ธีรยุทธ กล่าวว่า การดำเนินงานต่อจากนี้ คณะวิจัยตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้เรื่องการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ เพื่อให้ชาวนาสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เอง ลดการพึ่งพิงรัฐหรือนายทุน ในด้านการค้าคณะวิจัยได้เจรจากับโรงสี ถึงข้อเด่นของข้าวสายพันธุ์นี้เพื่อให้เกิดการรับซื้อไปจำหน่ายต่อ ซึ่งโรงสีค่อนข้างให้ความสนใจ นอกจากนั้นผลจากการทดสอบเรื่องการแปรรูป ข้าวเหนียวสามารถพองตัวเป็นข้าวพองได้ดี จึงอยู่ในช่วงของการเจรจาให้โรงงานได้ลองนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารแปรรูป ส่วนสุดท้ายคือทางด้านผลกำไรจากการขายข้าวที่ชาวนาจะได้รับ คณะวิจัยมีความเห็นว่าราคาข้าวน่าจะอยู่ในเกณฑ์ทั่วไปของตลาด เพื่อให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่อง เพราะกำไรที่ชาวนาจะได้เพิ่มมาจากปริมาณผลผลิตที่ได้มากขึ้นจากแต่ละรอบการปลูก และปริมาณการใช้ยาและสารเคมีที่ลดลงอยู่แล้ว การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวเหนียวครั้งนี้ ถือเป็นผลงานสำคัญของการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยกระดูกสันหลังของชาติฝ่าฟันอุปสรรคในการทำการเกษตร ท่ามกลางสถานการณ์ธรรมชาติที่แปรปรวน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น