นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมแปลงปลูกผักปลอดภัยจากสารเคมีของกลุ่มสหกรณ์การเกษตรบ้านแฮด ณ อำเภอบ้านเฮด จังหวัดขอนแก่น
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าตามที่นโยบายของรัฐบาล โดยการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งหวังให้เกษตรกร และผู้บริโภคได้อุปโภคบริโภค สินค้าที่ปลอดภัยมีคุณภาพ ทั้งนี้ขบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้องมีมาตรฐานและปลอดภัย ยกตัวอย่างการปลูกพืชผักอินทรีย์ ดินที่ปลูก น้ำที่ใช้ หากปราศจากสารเคมี เกษตรกรที่ปลูกพืชผักย่อมไม่ได้รับสารพิษ ผู้บริโภคก็ปลอดภัย ห่างจากโรคภัยไข้เจ็บ
สำหรับอำเภอบ้านแฮด มีสหกรณ์การเกษตรบ้านแฮด จำกัด มีสมาชิกทั้งหมด 458 ราย และเป็นสหกรณ์หลักระดับอำเภอ ซึ่งสหกรณ์ได้รับการกำกับดูแลและสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ได้เข้าแนะนำส่งเสริมสหกรณ์ให้มีความเข้มแข็งในด้านต่างๆ เช่น ด้านการบริหารจัดการ ด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งสหกรณ์การเกษตรบ้านแฮด จำกัด ได้รับเงินกู้ยืมจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์ในโครงการพิเศษ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 เพื่อส่งเสริมอาชีพแก่สมาชิก สหกรณ์ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง จำนวน 1,000,000 บาท มีสมาชิกได้รับประโยชน์จากโครงการ 33 ราย
และยังได้รับเงินกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร โครงการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างระบบน้ำในไร่นาของสมาชิกสถาบันเกษตรกร ในระยะที่ 1 จำนวน 750,000 บาท มีสมาชิกที่ขุดเจาะบ่อบาดาล 10 ราย และขุดสระน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ 5 ราย รวมทั้งสิ้น 15 ราย จากการประเมินผลโครงการพบว่า สมาชิกมีความพึงพอใจ และได้ใช้ประโยชน์จากการสร้างแหล่งน้ำเพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับครัวเรือน โดยปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้ความรู้และแนะนำพืชใช้น้ำน้อยที่สามารถปลูกได้ในฤดูแล้ง อาทิเช่น คะน้า มะระจีน เห็ดฟาง กวางตุ้ง และแตงกวา เป็นต้น
ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศนโยบายให้ โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการจัดหา ผัก ผลไม้ปลอดภัย ปรุงอาหารให้ผู้ป่วยรับประทานโดยการรับซื้อผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษ จากกลุ่มเกษตรกร ที่ไม่ได้ใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยตรง หรือให้โรงพยาบาลรณรงค์ปลูกผักสวนครัวเพื่อใช้ในกากรปรุงอาหารให้ผู้ป่วยรับประทาน โดยที่ทางเกษตรและสหกรณ์ในพื้นที่จะเป็นผู้พิจารณาคัดสรร ก็สามารถนำไปจำหน่ายให้โรงพยาบาลในพื้นที่ประกอบอาหารให้ผู้ป่วย หรือจำหน่ายให้ผู้มารับบริการที่โรงพยาบาล เป็นการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้หันมาบริโภคผัก ผลไม้ อาหารปลอดภัย ปลอดสารพิษ และสร้างรายได้ให้คนในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น