วันพฤหัสบดีที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

“เฉลิมชัย” ผนึก “ลาซาด้า-ช้อปปี้” นำสินค้าเกษตรขายออนไลน์หวังดันยอดขายเพิ่ม 30%


         นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับลาซาด้า (Lazada) และ ช้อปปี้ (Shopee) แพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ ร่วมดำเนินโครงการตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ เปลี่ยนเกษตรกรให้เป็นผู้ค้าออนไลน์ มืออาชีพ เพื่อผลักดันนโยบายตลาดนำการผลิตของรัฐบาล เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายให้เกษตรกรประมาณ 30% จากช่องทางตลาดปกติของเกษตรกร โดยในวันที่ 4 มี.ค.นี้ จะเปิดตัวขายอย่างเป็นทางการ
         ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่เข้ามามีส่วนการซื้อ-ขาย มากขึ้น ส่งผลให้ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ เช่นเดียวกับเกษตรกรต้องใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ โดยการเชื่อมกับแพลตฟอร์มการค้าที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายเข้าถึงได้ง่ายกว่าเมื่อเทียบกับการสร้างแพลตฟอร์มขึ้นมาเอง ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้จะเป็นตัวคัดกรองลูกค้า มีระบบบัญชีที่ได้อย่างมาตรฐาน สร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ
       ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ จึงร่วมกับ ลาซาด้า คัดเลือกเป้าหมายสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการคือ กลุ่มเกษตรกรในระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ 6,000 แปลง เกษตรกรมากกว่า 3.5 แสนราย กลุ่มวิสาหกิจชุมชน 8.6 แห่ง กลุ่มสหกรณ์การเกษตร 3,000 แห่ง กลุ่มยุวเกษตรกร ขณะนี้มีเกษตรกรกลุ่มดังกล่าว ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการแล้ว 175 ราย ซึ่งจะเข้าร่วมเปิดโครงการในวันที่ 4 มี.ค. นี้ หลังจากนั้น กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งภาคเอกชน จะเดินสายอบรม ให้ความรู้ กับเกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคกลางและภาคใต้ ในด้านการผลิต การกำหนดราคา การเชื่อมโยงกับตลาด และการบริหารระบบบัญชีเพื่อฝึกให้ตนเองเป็นผู้ขายผ่านออนไลน์อย่างมืออาชีพ
     “สถานการณ์ในปัจจุบันไทยมีปัญหาโควิด-19 ฝุ่นพีเอ็ม2.5 และความไม่ปลอดภัยด้านสังคม ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนหันมาสั่งซื้อผ่านระบบคอมเมิร์ซกันมากขึ้น และแนวโน้มจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การขายสินค้าเกษตรแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียต่างกันออกไป การเปิดร้าน และการขายผ่านพ่อค้าคนกลาง จะได้รับเงินสดทันที แต่ก็มีข้อเสียที่เกษตรกรต้องรับความเสี่ยงของเน่าเสียคาร้านหรือถูกกดราคาต่ำจากพ่อค้าคนกลาง ปัญหานี้จะหมดไปหากเกษตรกรเลือกขายผ่านระบบออนไลน์ ทั้งสามารถตั้งราคาเองได้ และมีตลาดที่ชัดเจน”
    นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การขายผ่านระบบออนไลน์นี้จะเป็นอีกช่องทางการจำหน่ายที่จะผลักดันให้เกษตรกรรู้จักพัฒนาตนเอง เรียนรู้เพื่อพัฒนาสินค้าและวางแผนการจัดการ นอกจากนี้ ยังลดการกระจุกตัวของปริมาณสินค้าเกษตรกร ราคาที่เกษตรกรได้รับมีเสถียรภาพมากขึ้น ผู้บริโภคทั่วประเทศได้บริโภคสินค้าเกษตรที่ดีมีคุณภาพ ในราคาที่ส่งตรงจากเกษตรกร
             สำหรับสินค้าที่จะนำมาจำหน่ายผ่านออนไลน์ เบื้องต้นจะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร 5 ดาว ที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง มาจำหน่ายเพื่อนำร่องเปิดตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์จากนมแพะ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจรักษ์แพะบางบัวทอง จ.นนทบุรี, ไส้กรอกอีสานไขมันต่ำ กลุ่มเกษตรกรมาดามอร ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จ.นครปฐม, ผลิตภัณฑ์เชียงใหม่เฟรชมิลค์ เฉพาะที่ ไม่ต้องแช่เย็น กลุ่มเกษตรกร Young Smart Farmer จ.นครปฐม, ไก่ด่าเชียง กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนไก่ด่าสมุนไพรบ้านเชิงหวาย จ.พิษณุโลก เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...