วันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

กรมส่งเสริมการเกษตรติดตามสถานการณ์ไม้ผลภาคตะวันออก และการเตรียมการป้องกันภัยแล้งในสวนไม้ผล จ.จันทบุรี



นายชาตรี บุญนาค รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร รับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์การออกดอกติดผลของผลไม้ภาคตะวันออก สถานการณ์การออกดอกติดผลของผลไม้และการเตรียมการป้องกันภัยแล้งสวนผลไม้ของจังหวัดจันทบุรี โดยมีนายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ให้ข้อมูล ณ สำนักงานเกษตรจังหวัดจันทบุรี


โดยขณะนี้พื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรี คณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้พยากรณ์ผลผลิต ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2563 มีพื้นที่ปลูกไม้ผลรวม 1,038,126 ไร่ สำหรับการคาดการณ์ไม้ผลเศรษฐกิจที่จะให้ผลผลิต ปี 2563 ประกอบด้วย ทุเรียน พื้นที่ปลูก 238,932 ไร่ คาดว่าจะให้ผลผลิต 417,344 ตัน มังคุด พื้นที่ปลูก 131,344 ไร่ ผลผลิต139,561 ตัน เงาะ พื้นที่ปลูก 55,191 ไร่ ผลผลิต 109,475 ตัน และลำไย พื้นที่ปลูก 211,955 ไร่ ผลผลิต 218,759 ตัน ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกชนิด ประมาณ 18% โดยปริมาณแหล่งน้ำในจันทบุรีมี 5 แหล่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำคลองศาลทราย อ่างเก็บน้ำคลองพระพุทธ อ่างเก็บน้ำคลองประแกต เขื่อนศิรีธาร และเขื่อนพลวง ซึ่งปริมาณน้ำยังมีเพียงพอสำหรับความต้องการของไม้ผลตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 2563 และเกษตรกรกว่า 70% มีการเก็บกักและสำรองน้ำไว้ใช้จนถึงช่วงเดือนมิถุนายน 2563

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผอ.สสก.ที่ 3 จ.ระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของการตรวจรับรองแปลง GAP ในไม้ผล 3 ชนิด คือ ทุเรียน ขณะนี้ผ่านการตรวจแล้ว 5,663 แปลง รอตรวจ 10,410 แปลง มังคุด ตรวจแล้ว 4,753 แปลง รอตรวจ 7,460 แปลง และลำไย ตรวจผ่านแล้ว 10,644 แปลง รอตรวจ 98 แปลง นอกจากนี้ ยังได้เตรียมแผนรับมือการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดภายในประเทศ โดยวางแผนการบริหารจัดการร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ สำหรับการกระจายตัวของผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมถึงเดือนตุลาคม ซึ่งผลผลิตจะออกกระจุกตัวสูงสุดช่วงเดือนพฤษภาคม 2563


จากนั้นรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์และการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในสวนทุเรียนของเกษตรกร นายภักดี ไผ่แก้ว ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน และสมาชิก หมู่ที่ 10 ต.บ่อ อ.ขลุง จ.จันทบุรี ซึ่งมีการทำทุเรียนคุณภาพและวางแผนการสำรองน้ำไว้ใช้ โดยขุดบ่อเก็บกักน้ำ การใช้ระบบสปริงเกอร์ให้น้ำในช่วงฤดูแล้งในระยะติดผลแบบวันเว้นวันประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงต่อวัน พันธุ์ทุเรียนที่ปลูกบนพื้นที่ 40 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง และอีกส่วนหนึ่งเป็นพันธุ์กระดุม และพวงมณี คาดว่าจะสามารถเก็บผลผลิตได้ช่วงเดือนมีนาคม 2563

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...