วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2563

กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งสำรวจสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือ


            นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากข้อห่วงใยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ที่มีต่อเกษตรกรซึ่งขณะนี้ผลผลิตและสินค้าเกษตรทยอยออกสู่ตลาดในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้สำนักงานเกษตรจังหวัดเร่งสำรวจสินค้าเกษตรในพื้นที่ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนกำหนดมาตรการและแนวทางสำหรับเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกร 


           โดยให้ติดตามสถานการณ์ของสินค้าเกษตรอย่างใกล้ชิดและส่งเสริมสนับสนุนให้เกษตรกรจำหน่ายสินค้าในรูปแบบออนไลน์ผ่านช่องทางต่างๆ การจัดหาจุดจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกร รวมทั้งประสานกับผู้เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ โดยใช้โครงสร้างระบบการบริหารจัดการผ่านคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตร ระดับจังหวัด (คพจ.) และกรณีที่ต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมให้แจ้งกรมส่งเสริมการเกษตรทราบโดยด่วน


         ทั้งนี้ ความก้าวหน้าการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรในสถานการณ์ COVID-19 กรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานในสังกัดได้ร่วมกันช่วยกระจายสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงสู่ผู้บริโภคภายใต้แคมเปญ “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยอยู่รอด” ในสินค้าต่าง ๆ ได้แก่ มะม่วง ลิ้นจี่ เมล่อน แคนตาลูป มันเทศ แตงโม ส้มโอ ทุเรียน ฝรั่ง กล้วยหอม มะละกอ มะพร้าว กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง กล้วยไม้ มะลิ ดอกดาวเรือง เป็นต้น คิดเป็นมูลค่ารวม 137,601,444 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2563) ใน 4 กิจกรรม คือ 1) สนับสนุนสินค้าเกษตรภายใต้กิจกรรม “แทนความห่วงใยจากใจกรมส่งเสริมการเกษตรแก่บุคลากรทางการแพทย์” เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ จากกลุ่มแปลงใหญ่ ในจังหวัดต่าง ๆ ปริมาณผลผลิต 12.36 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 359,210 บาท 2) การขายสินค้าแบบออนไลน์ในทุกช่องทางสินค้าเกษตร เช่น www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com รวมสินค้าและผลิตภัณฑ์พร้อมจำหน่ายออนไลน์จาก 77 จังหวัด, Website Grand Opening, LAZADA, Shopee, Line, Facebook, 24shopping, บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เข้าไปรับซื้อและช่วยกระจายผลผลิตผ่านระบบของไปรษณีย์ 3) การจำหน่ายผ่านตลาดออฟไลน์ ได้แก่ เปิดจุดจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรผ่านตลาดเกษตรกรใน 77 จังหวัด การจำหน่ายร่วมกับผู้ประกอบการโดยตรงผ่าน Modern Trade เช่น Tesco Lotus โดยรับสินค้าจากแปลงส่งเสริมเกษตรกร ชนิดผักมากกว่า 43 ชนิด ประสานงานกับผู้ประกอบการ เช่น บริษัทรีเจนซี่ บรั่นดีไทย โรงงานนวพร ในการรับซื้อองุ่น และตลาดต่าง ๆ เช่น ตลาดไท, ประสานหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน สั่งซื้อสินค้าเกษตรจากเกษตรกรโดยตรงเพื่อรับประทาน รวมการจำหน่ายทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ปริมาณผลผลิต 2,682 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 137,242,234 บาท และ 4) เชื่อมโยงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด รวมจำหน่ายสินค้าผ่าน Platform ทาง Thailandpostmart.com ได้สิทธิค่าขนส่งในการจำหน่ายผลผลิตสด เช่น ผลไม้ ผัก ในราคา ก.ก.ละ 8 บาท, บริษัท ไทยแอ็กโกร เอ็กซเชนจ์ จำกัด (ตลาดไท) เปิดพื้นที่ฟรีให้เกษตรกรขายผักตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. – 10 ก.ค. 2563, อตก.จัดพื้นที่ให้เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่คิดมูลค่า ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. – 17 พ.ค. 2563 และบริษัท โฮมโปร จัดพื้นที่ให้เกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายในสวน Market Village สาขาสุวรรณภูมิ และสาขาหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระหว่างวันที่ 1 – 7 พ.ค. 2563    
   “นอกจากนี้ ในส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดต่างๆ กรมส่งเสริมการเกษตรได้สั่งการให้ช่วยเหลือเกษตรกรในการกระจายผลผลิตผลไม้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ การจัดหาจุดจำหน่ายสินค้าภายในจังหวัด การจำหน่ายสินค้าให้ส่วนราชการในจังหวัด ห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน การให้คำแนะนำเกษตรกรจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ การชี้เป้าแหล่งผลิตไม้ผลคุณภาพดีของเกษตรกรทั้งมะม่วง ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง การเปิดประมูลสินค้าผลไม้ การนำสินค้าเกษตรของจังหวัดแลกเปลี่ยนกัน เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัดยโสธรนำสินค้าข้าวอินทรีย์ขนส่งโดยกองทัพอากาศแลกเปลี่ยนกับสินค้าอาหารทะเลของจังหวัดภูเก็ต เป็นต้น รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานทหารทั้งกองทัพบกและกองทัพอากาศขอความอนุเคราะห์ในการขนส่งและกระจายผลผลิตช่วยเกษตรกรอีกช่องทางหนึ่ง” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ก.เกษตรฯ จับมือ CPF จัด “โครงการอาหารปลอดภัยจากใจ...สู่ชุมชน” ส่ง Food Truck บรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในชุมชนแออัด



          นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างในทุกภาคส่วนของประเทศและทั่วโลกในหลายมิติ ทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิต ผู้ประกอบการ บริษัทห้างร้าน ภาคเอกชน เกษตรกร ผู้บริโภค รวมถึงประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนแออัดทั้งในเขตกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่เป็นต้นทางของผู้ผลิตอาหารที่มีมาตรฐานและความปลอดภัยสูง จึงได้ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรภาคเอกชน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมกันจัดทำ โครงการอาหารปลอดภัยจากใจ...สู่ชุมชนเพื่อส่งมอบอาหารที่ดีมีคุณภาพให้แก่พี่น้องในชุมชนแออัด ให้ได้รับการบริโภคอาหารที่ดีมีประโยชน์ มีคุณภาพ เพียงพอต่อการในบริโภคในแต่ละวันในช่วงวิกฤตโควิด-19 นี้


         สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมกับ CPF เป็นสื่อกลางที่จะส่งมอบสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความปลอดภัยให้กับชุมชม โดยจะเริ่มดำเนินโครงการในพื้นที่เขตในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตบางกอกน้อย และเขตบางพลัด ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และ CPF จะนำอาหารที่เตรียมไว้ไปแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในชุมชนแออัด ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตดังกล่าว ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 นี้ โดยจะทยอยดำเนินการแจกอาหารทั้ง 2 เขต เขตละ 10 วัน และหลังจากนั้นจะเริ่มขยายผลดำเนินการในลักษณะเดียวกันในภาคอื่น ๆ ได้แก่ ภาคเหนือ ที่จังหวัดพิจิตร และภาคใต้ที่จังหวัดตรัง
          ด้านนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหารบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตระหนักถึงผลกระทบจากการสถานการณ์โควิด 19 ที่มีต่อหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในชุมชนแออัด จึงได้ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ ส่งมอบอาหารปลอดภัยให้แก่พี่น้องชาวบางกอกน้อยและบางพลัด โดยบริษัทขอใช้ความเชี่ยวชาญขององค์กรในด้านอาหาร มาร่วมบรรเทาความเดือดร้อนแก่พี่น้องประชาชน ซึ่งจะใช้รถ Food Truck CP Freshmart นำอาหารไปอุ่นร้อนแจกจ่ายประชาชนในเขตบางกอกน้อยและบางพลัด และการส่งมอบอาหารให้ประชาชนในครั้งนี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชน ให้ก้าวผ่านวิกฤตไวรัสโควิด-19 ไปด้วยกัน โดยก่อนหน้านี้ CPF ได้มอบอาหารให้แก่ชุมชนคลองเตยไปแล้ว 8,499 ครัวเรือน


          "ตลอดช่วงเวลาของการรับมือสถานการณ์โควิด - 19 นอกจากความรับผิดชอบที่จะไม่หยุดสายพานการผลิตอาหารเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนมีอาหารอย่างเพียงพอแล้ว CPF ยังสนับสนุนมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยส่งอาหารให้แพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลต่างๆ 301 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงการส่งอาหารให้ประชาชนที่กลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยงอีกกว่า 20,000 คน เพื่อสนับสนุนความรับผิดชอบต่อสังคมและช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อ นอกจากนี้ ยังขยายผลไปถึงครอบครัวแพทย์-พยาบาล อีกกว่า 30,000 ครอบครัว เพื่อให้แพทย์และพยาบาลลดความกังวลด้านการจัดหาอาหารให้คนในบ้าน เพื่อสามารถทุ่มเทดูแลรักษาผู้ป่วยได้เต็มที่ สะท้อนบทบาทของการเป็นบริษัทไทยผู้ร่วมต้านภัยโควิด - 19 อย่างจริงจังและต่อเนื่อง" นายประสิทธิ์ กล่าว

"อีสท์ เวสท์ ซีด" มอบเมล็ดพันธุ์ตรา "ศรแดง" ให้ ผู้ว่าฯ นนทบุรี หนุนปลูกผักสวนครัวทั่วเมืองนนท์ รับมือ COVID-19



วันที่ 30 เมษายน 2563 เวลา 11.30น. ณ ศาลากลางจังหวัดนนทบุรี นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยนางนิศากร วิศิษฎ์สรอรรถ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี และนางรักใจ กาญจนะวีระ พัฒนาการจังหวัดนนทบุรี รับมอบเมล็ดพันธุ์ผักสวนครัว(ตราศรแดง) จากบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด  โดยมีนายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป และนายอิสระ วงศ์อินทร์ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด เป็นตัวแทนส่งมอบเมล็ดพันธุ์ผัก เพื่อสนับสนุนแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและช่วยลดรายจ่ายในการดำรงชีวิตของประชาชน หากมีเหลือก็แบ่งปันกัน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)


นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ได้มอบเมล็ดพันธุ์ผักหลากหลายชนิดให้กับจังหวัดนนทบุรี อาทิ ผักบุ้ง คะน้า กวางตุ้ง แตงกวา มะเขือเทศ กะเพรา และพริก จำนวน 3,000 ซอง เพื่อนำไปแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนชาวนนทบุรี ที่จะได้ใช้ชีวิตในช่วงอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ มาทำการปลูกผักเพื่อเป็นอาหารไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือน โดยในช่วงนี้หัวหน้าส่วนราชการทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนชาวจังหวัดนนทบุรีมีความตื่นตัวในการปลูกพืชผักสวนครัวกันเป็นอย่างมาก หลังจากที่กรมการพัฒนาชุมชน และจังหวัดนนทบุรีได้ดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารโดยจังหวัดนนทบุรี มีครัวเรือนเป้าหมายที่อยู่ในแผนปฏิบัติการทั้งสิ้น 132,209 ครัวเรือน ขณะนี้จังหวัดนนทบุรีมีครัวเรือนที่เข้าร่วมกิจกรรมแล้วจำนวน 41,719 ครัวเรือน ซึ่งจังหวัดได้กำหนดให้เป็นแผนมาตรการในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จึงได้ระดมทุกภาคส่วนรณรงค์ให้ครัวเรือนปลูกผักสวนครัวให้ครบตามจำนวนเป้าหมาย จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวจังหวัดนนทบุรีมาร่วมปลูกผักสวนครัว ซึ่งจะช่วยสร้างความรักความอบอุ่น ความสามัคคี ให้เกิดขึ้นในครอบครัว และยังจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและมีผักปลอดภัยไว้ทำอาหารอีกด้วย


นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่เป็นตัวแทนบริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด มอบเมล็ดพันธุ์ผักตราศรแดง แก่จังหวัดนนทบุรี เพื่อแจกจ่ายให้กับชาวจังหวัดนนทบุรี ในแผนปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารเนื่องจากทางบริษัทได้ดำเนินธุรกิจด้านปัจจัยการเกษตร หนึ่งในธุรกิจหลัก คือธุรกิจเมล็ดพันธุ์ตราศรแดง ที่มียอดขายอับดับหนึ่งในไทยและเอเชีย อยู่ในตลาดเมล็ดพันธุ์มามากกว่า 30 ปี มีมาตรฐานสินค้าที่ดีที่สุด เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกร ตลอดจนการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชาชน ดังนั้นบริษัทอีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด จึงพร้อมให้การสนับสนุน และขอเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการนี้ มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ Quick win 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร แล้วเราจะผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

สุดยอดทีมเชฟกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ผนึกพลัง โครงการ Chef Cares ส่งมอบอาหารบุคลากรทางการแพทย์ สู้ภัยโควิด-19


  
โครงการ Chef Cares เป็นการรวมตัวของสุดยอดเชฟฝีมือระดับแนวหน้าของเมืองไทยกว่า 25 ท่าน จากร้านอาหารชื่อดังในกรุงเทพฯ และ ภูเก็ต ร่วมกันทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อสังคม โดยการปรุงเมนูอร่อยชั้นเลิศที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ ส่งมอบให้ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ สนับสนุนและเป็นกำลังใจในความเสียสละและความทุ่มเทเป็นทัพหน้าช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยและช่วยประเทศเอาชนะวิกฤติโควิด-19


นางมาริษา เจียรวนนท์  ในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง โครงการ Chef Cares กล่าวว่า อาหารเป็นภาษารักที่แสดงออกด้วยความห่วงใย เอื้อเฟื้อ ผ่านการจัดปรุงด้วยความใส่ใจและละเมียดละไมของเชฟสุดยอดฝีมือ ให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดื่มด่ำความอร่อยสุดล้ำ ช่วยเพิ่มพลังกายและพลังใจต่อสู้กับสงครามเชื้อโรคได้ ทั้งนี้ เชฟจิตอาสาที่เข้าร่วมโครงการ Chef Cares ปรุงเมนูรสเลิศให้บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ในครั้งนี้ ประกอบด้วย เชฟวุฒิศักดิ์ วุฒิอัมพร, เชฟทองเลี่ยม พุกทอง นายกสมาคมเดอะเชฟ, เชฟสมศักดิ์ รารองคำ นายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย, เชฟศุภจิตรา ศุกรวรรณ ทินกร จากโรงเรียนศิลปศาสตร์อาหารไทย หม่อมหลวงพวง ทินกร, กุลวัชร ภูริชยวโรดม แห่งร้านโชนัน, ทศพร วิณิชวรพงศ์ แห่งร้าน WOK Station, เชฟธนินทร จันทรวรรณ, เชฟวิชิต มุกุระ, เชฟสุภิญญา จันสุตะ (เจ้ไฝ) และ เชฟแดน บาร์ค  เป็นต้น 


เชฟวุฒิศักดิ์ วุฒิอัมพร ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการในจังหวัดภูเก็ต อธิบายเพิ่มว่า ทีมเชฟจิตอาสาจะรังสรรค์เมนูอร่อยๆ ให้กับทีมแพทย์ พยาบาลที่เป็นทัพหน้าในการต่อสู้กับไวรัสโควิด-19 ได้อิ่มอร่อย พร้อมกับคุณค่าโภชนาการ และสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ
เชฟจิตอาสาทุกคนขอมีส่วนร่วมในการดูแลบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานต่อสู้กับสงครามเชื้อโรคอย่างไม่ย่อท้อ โดยทีพเชฟจิตอาสาได้แบ่งปันความสุขจากมื้ออาหารที่อร่อยล้ำ ปรุงจากใจ เพื่อร่วมดูแลสุขภาพนักรบเสื้อกาวน์ที่เสียสละปฏิบัติงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย ดูแลผู้ป่วยและป้องกันการระบาดของโควิด-19เชฟวุฒิศักดิ์กล่าว


เชฟจิตอาสากว่า 25 คนที่ร่วมโครงการฯ จะสลับหมุนเวียนมาจัดเตรียมอาหารในทุกเช้า เพื่อปรุงอาหารมื้อกลางวันอย่างพิถีพิถันจำนวน 300 ชุด และจัดส่งให้แก่โรงพยาบาลรัฐกว่า 9 แห่ง อาทิ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ฯลฯ โดยได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ, เจียไต๋ฟาร์ม, ข้าวตราฉัตร, ไร่ชาอรักษ์ และโรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์

วันพุธที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2563

“ จุรินทร์”ดัน 4 มาตรการหนุนธุรกิจ “ดิจิตอล คอนเท้นท์” ตั้งเป้าทำเงินให้ประเทศกว่าแสนล้านบาทต่อปี


          วันที่ 29 เมษายน 2563 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นำกระทรวงพาณิชย์และกรมส่งเสริมธุรกิจการค้า มาประชุมแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนท์ไทยสู่ตลาดโลก โดยมีนายบุญฤทธิ์ กัลญาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ   พร้อมกับ 6 สมาคมอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลคอนเทนท์  โดยการประชุมใช้ระบบ Zoom ประชุมออนไลน์เสริมเข้ามาด้วย  


         โดยหลังการแลกเปลี่ยนหารือ นายจุรินทร์ เปิดเผยว่า วันนี้เป็นเรื่องมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและติดตามสถานการณ์ของภาคธุรกิจบริการที่ใหญ่มากภาคหนึ่งของประเทศ คือธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์หรือเรียกง่ายๆ ว่า ธุรกิจที่ทำเกี่ยวกับภาพยนตร์อนิเมชั่นรวมทั้งการทำโฆษณา เพลง เกมส์ การ์ตูนในหลากหลายรูปแบบต่างๆเป็นต้น มูลค่าของธุรกิจในส่วนนี้รวมกันในแต่ละปีของประเทศไทยตกประมาณ 110,000 ล้านบาทซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ก้อนใหญ่มากและเป็นไปตามที่กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจบริการภาคนี้เติบโตต่อไปในอนาคต เพราะว่าตลาดทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศกว้างใหญ่มาก


      สำหรับวันนี้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับสมาคมทั้งหมด 6 สมาคมที่เกี่ยวข้องด้วยกันประกอบด้วย สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ สมาคมดิจิตอลคอนเทนท์ไทย สมาคมผู้ประกอบการอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และเกมส์ไทย สมาคมอีเลิร์นนิงแห่งประเทศไทย และสมาคม Bangkok ACM SIGGRPH Association รวม 6 สมาคมด้วยกันซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่ากระทรวงพาณิชย์จะเข้ามามีส่วนร่วมสำคัญในการช่วยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจนี้เติบโตต่อไปในอนาคตโดยเตรียมมาตรการทั้งหมด 4 เรื่อง 
   1.ในเรื่องของการที่เราจะช่วยกันสร้างแพลตฟอร์มดิจิตอลคอนเทนท์ไทยแลนด์ขึ้นมา เพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลและศูนย์รวมการทำธุรกิจทั้งในตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศของภาพยนตร์-ละครอนิเมชั่น อีสปอร์ต เพลง หรือธุรกิจการ์ตูนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งในเรื่องของการศึกษา หรือ e-learning 
   2.จะดำเนินการปรับรูปแบบของการจัดนิทรรศการที่ ซึ่งเดิมเราใช้กระบวนการจับคู่ธุรกิจให้ผู้ซื้อจากต่างประเทศเดินทางมาพบกับผู้ขายหรือผู้ผลิตดิจิทัลคอนเทนท์ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยจะปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ให้มากขึ้น ทั้งส่งเสริมตลาดในประเทศและส่งเสริมตลาดในต่างประเทศ โดยจะจัดให้ถี่ขึ้นและโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจนี้เติบโตได้เร็วขึ้น
   3.ในเรื่องของการที่จะช่วยต่อลมหายใจให้กับธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์ของประเทศไทยเนื่องจากขณะนี้เผชิญกับสถานการณ์โควิดก็ทำให้หลายภาคส่วนติดขัดในเรื่องของการทำธุรกิจ จะช่วยดำเนินการจัดให้ธนาคารของประเทศไทยสามารถช่วยเหลือเงินสนับสนุนในรูปแบบของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยจะจัดพบปะกันระหว่าง SMEแบงค์ หรือธนาคารอื่นที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการด้านดิจิตอลคอนเทนท์ของเราโดยกระทรวงพาณิชย์จะจัดเวทีพบปะให้
     4.สำหรับธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์ของไทยที่มีความจำเป็นจะต้องสร้างแบรนด์ของคนไทยขึ้นมาเองเพื่อแทนที่การรับจ้างผลิตเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์จะเข้ามาร่วมมือกับทั้ง 6 สมาคมในการจัดเวทีให้ภาคการผลิตของเราทั้ง 6 สมาคมได้มีโอกาสพบกับนักลงทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาร่วมกันลงทุนกับเราและหน่วยงานภาครัฐที่มีนโยบายสนับสนุนในเรื่องของการทำธุรกิจคอนเทนท์รวมทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ด้วยเพื่อที่จะให้มีการจับคู่ลงทุนทางธุรกิจนี้ภายใต้แบนด์ของคนไทยได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไปนี่คือ 4 มาตรการที่ได้มีการตกลงร่วมกันและจะเดินหน้าทำงานร่วมกัน


       รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามภายใต้กิจกรรมของวันที่ 25 ถึงวันที่ 27 ที่จะถึงนี้  (25-27 พ.ค.)  ที่จะถึงนี้กระทรวงพาณิชย์ก็จะทำกิจกรรมสำคัญเพื่อสนับสนุนธุรกิจดิจิทัลคอนเทนท์ สองเรื่องด้วยกันเรื่องที่หนึ่งจะจัดงานแสดงสินค้าที่ใช้ชื่อว่า MOVE หรือย่อมาจาก Multimedia online virtual exhibitionในรูปแบบของการจัดจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ผลิตของประเทศไทยประมาณ 50 บริษัทพบปะกับผู้ซื้อจากต่างประเทศซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้ามาพบปะประมาณไม่ต่ำกว่า 1000 รายในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิดคาดว่าจะสามารถทำให้เกิดการจับคู่ซื้อขายทางธุรกิจได้ประมาณ 350 คู่และสามารถกำหนดยอดขายได้ไม่ต่ำกว่า 1000 ล้านบาทโดยประมาณสำหรับการจัดจุบคู่ธุรกิจเที่ยวนี้
     ส่วนกิจกรรมที่สองจะมีการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นซึ่งกันและกันทั้งในรูปแบบของการให้ความรู้ในเรื่องของการให้ความคิดสร้างสรรจากประสบการณ์ของคนไทยที่ไปทำงานอยู่ที่แหล่งผลิตที่มีชื่อเสียงของโลกเช่นในส่วนของวอดิสนีย์หรือในส่วนของมาร์เวล เป็นต้น ซึ่งเป็นคนไทยรุ่นใหม่ทั้งสิ้น และผมมีโอกาสเดินทางไปพบกับท่านเหล่านี้ที่สหรัฐอเมริกามาแล้วท่านจะให้ความรู้ผ่านออนไลน์มายังคนรุ่นใหม่ของเราที่เป็นนักออกแบบผู้ที่ทำสตอรี่บอร์ดทำเรื่องราวหรือเป็นผู้ผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเทคนิคใหม่ใหม่ให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมจะได้มาพัฒนาดิจิตอลคอนเทนท์ในส่วนของธุรกิจส่วนนี้ให้มีการพัฒนาให้ดีขึ้นสำหรับคนไทย

สหกรณ์รวมพลังสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าจากแหล่งผลิตถึงมือผู้บริโภค ทั้งผลไม้และสินค้าประมงแล้วกว่า 1,306 ตัน มูลค่า 14.963 ล้านบาท



กรมส่งเสริมสหกรณ์หนุนขบวนการสหกรณ์รวมพลังสร้างเครือข่ายกระจายสินค้าจากแหล่งผลิตถึงมือผู้บริโภค หวังบรรเทาความเดือดร้อนสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เผยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ใช้สื่อออนไลน์โปรโมทสินค้าและเจรจาซื้อขายผลไม้และสินค้าประมงไปแล้ว 1,306 ตัน มูลค่า 14.963 ล้านบาท สามารถระบายผลผลิต ได้รวดเร็วและยังช่วยดึงราคาให้ไปตามกลไกของตลาดในระดับที่เกษตรกรและผู้บริโภคพอใจ พร้อมเดินหน้าสนับสนุนสหกรณ์ขยายช่องทางจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น


นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด - 19 ขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการกระจายผลผลิตของสหกรณ์สู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มผัก ผลไม้ และสินค้าประมง  เนื่องจากที่ผ่านมาสหกรณ์จะรวบรวมผลไม้ส่งออกไปจำหน่ายตลาดต่างประเทศจำนวนมาก แต่ต้องหยุดชะงัก เพราะประเทศคู่ค้าหยุดการสั่งซื้อจากผลกระทบโควิด 19 สินค้าเกษตรหลายชนิดไม่มีตลาดรองรับ ทำให้ผลผลิตล้นตลาดในพื้นที่แหล่งผลิตและราคาตกต่ำ กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงขอความร่วมมือไปยังสหกรณ์ในทุกจังหวัดช่วยกันสั่งซื้อสินค้าจากสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว เพื่อกระจายสู่ตลาดและผู้บริโภคในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงขยายช่องทางการจำหน่ายและช่วยกันประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์ทั้งทางเพจ Facebook และ Line ของสหกรณ์ ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ที่ผ่านมา สหกรณ์ทั่วประเทศได้สร้างเครือข่ายเพื่อช่วยกันกระจายสินค้าคุณภาพจากแหล่งผลิตสู่ผู้บริโภค เน้นผลผลิตการเกษตรของสมาชิกที่สหกรณ์รวบรวมและช่วยหาตลาด อาทิ ผลไม้ เกลือ ปลากะพง ปลานิล ปลาทับทิม ปลากดคัง กุ้งขาว  แวนนาไมและกุ้งก้ามกราม เบื้องต้นสามารถรวบรวมและกระจายสินค้าการเกษตรในช่วง 2 เดือน                   มูลค่า 14.963 ล้านบาท อาทิ มะม่วง ลำไยลิ้นจี่ เงาะ รวม 133.142 ตัน มูลค่า 4.119 ล้านบาท เกลือทะเลกระจายไปยังสหกรณ์ปลายทาง 71 จังหวัด จำนวน 1,150 ตัน มูลค่า6.325 ล้านบาท และยังมีสินค้าประมง ได้แก่ ปลากะพง ปลานิล ปลาทับทิมอีก 2.305 ตัน มูลค่า 0.279 ล้านบาท กุ้งแวนนาไมและกุ้งก้ามกราม 21.202 ตันมูลค่า 4.240 ล้านบาท



รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า กรณีผลกระทบโควิด19 ได้มองเห็นปัญหาตั้งแต่เริ่มเกิดการระบาดจึงได้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติงบกลาง เพื่อสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโรคไวรัส โควิด – 19 วงเงิน 45,037,200 บาท ขณะนี้กล่าวได้ว่าทุกอย่างพร้อมช่วยเหลือสหกรณ์เต็มที่ โดยจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการกระจายผลไม้ออกนอกพื้นที่ให้กับสหกรณ์ชาวสวนผลไม้ซึ่งอยู่ต้นทางแหล่งผลิต 90 แห่ง ใน 31 จังหวัด แบ่งเป็นค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 1 บาท รวม 11,700,000 บาท และชดเชยค่าขนส่งให้กิโลกรัมละ 2 บาท รวม 23,400,000 บาท ส่วนสหกรณ์ปลายทางที่ตั้งอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศ  824 แห่ง จะได้รับค่าบริหารจัดการกิโลกรัมละ 50 สตางค์ เป็นค่าขนส่งค่าจ้างคนงานและจัดซื้อถุงใส่ผลไม้ รวมทั้งสิ้น 5,850,000 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับสหกรณ์ในการกระจายผลผลิตจากสหกรณ์ไปสู่ผู้บริโภคในแต่ละจังหวัด



และยังมีงบประมาณอีกส่วนหนึ่ง 4,087,200 บาท สนับสนุนด้านบรรจุภัณฑ์ โดยให้สหกรณ์นำไปจัดซื้อตะกร้า 191,700 ใบ เพื่อขนส่งผลไม้ไปสู่ผู้บริโภคปลายทางได้สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนค่าบรรจุภัณฑ์ดูจากแผนการรวบรวมผลผลิตของแต่ละสหกรณ์ที่เสนอเข้ามา และจะกระจายไปตามสัดส่วนของปริมาณผลผลิตในแต่ละจังหวัด ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายที่จะช่วยสนับสนุนช่องทางการจำหน่าย ผลไม้ของเครือข่ายสหกรณ์ไปสู่ผู้บริโภค นอกจากจะเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องผลไม้กระจุกตัวในพื้นที่  แหล่งผลิตและราคาตกต่ำแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยสร้างเสถียรภาพด้านราคาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและผู้บริโภคอีกด้วย

เปิดแล้ว!! ตลาดเกษตรกรออนไลน์ อุดหนุนเกษตรกรตัวจริง เพียงปลายนิ้ว ส่งทันทีถึงบ้านคุณ


​        กรมส่งเสริมการเกษตรเปิดตัวเว็บไซต์รวบรวมสินค้าเกษตรคุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยม ฝีมือเกษตรกรตัวจริงจากทั่วประเทศ ส่งตรงถึงบ้าน ประหยัดเวลา ไม่ต้องออกขับรถไปซื้อถึงแหล่งผลิต


​        นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตร ซึ่ง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งให้ความช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรตามภารกิจอย่างเต็มที่ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมตลาดเกษตร online ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมการเกษตรขึ้น เริ่มเปิดใช้งานครั้งแรกในวันที่ 29 เมษายน 2563 เพื่อช่วยเป็นสื่อกลางในการนำสินค้าเกษตรคุณภาพดี จากกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ Smart Farmer  (SF) Young Smart Farmer (YSF) วิสาหกิจชุมชน และองค์กรเกษตรกรอื่นๆ จากทั่วประเทศ ให้ถึงมือผู้บริโภค ในรูปแบบของเว็บไซต์ ชื่อ “www.ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com” ภายใต้สโลแกน “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย เพียงคุณสั่ง เราพร้อมส่ง” โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล และช่องทางการติดต่อซื้อขายสินค้าเกษตรแบบออนไลน์ที่ผ่านการคัดสรรจากคณะทำงานฯ ระดับจังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วยสินค้าทางการเกษตร ทั้งผลผลิตสด สินค้าแปรรูป และสินค้าหัตถกรรม จำนวน 9 หมวด ได้แก่ ข้าวและธัญพืช ผัก ผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ อาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม สมุนไพรและเครื่องสำอาง ผ้าและเครื่องแต่งกาย หัตถกรรมและสิ่งประดิษฐ์ และสินค้าอื่นๆ



​      อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า ความพิเศษของเว็บไซต์ดังกล่าว คือ ได้รวบรวมช่องทางออนไลน์ทุกช่องทางในการติดต่อซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับเกษตรกรผู้ผลิตตัวจริง รวมทั้งระบุรายละเอียดของสินค้า มาตรฐานที่ได้รับการรับรอง ช่วงเวลาที่สินค้ามีจำหน่าย กำลังการผลิต และวิธีการขนส่งที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ได้ตามความสะดวก ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชนได้เป็นอย่างดี 



      นับว่าเหมาะสมอย่างยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลมีคำแนะนำให้รักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และให้ทำงานจากบ้าน (Work From Home) กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนเยี่ยมชมและเลือกซื้อสินค้าในเว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์ เพียงค้นหาด้วยการพิมพ์ คำว่า “ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com” เพียงแค่นี้ท่านก็จะสามารถเลือกซื้อสินค้าเกษตรคุณภาพดี ผลิตจากใจเกษตรกรตัวจริง พร้อมส่งถึงบ้านได้แล้ว

วันอังคารที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2563

จุรินทร์ สั่ง เกาะติดประกันรายได้ ช่วยชาวนา พร้อมติดตามมาตรการคู่ขนานที่รัฐบาลดูแลช่วงภัยแล้ง อย่างทั่วถึง


  
28 เมษายน 2563 นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์   เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้กรมการค้าภายในติดตามโครงการประกันรายได้เกษตรกร อย่างใกล้ชิด  ล่าสุดข้อมูลประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจากจำนวนเกษตรกรที่มีสิทธิ์ทั้งหมด 4.31 ล้านราย ได้ประโยชน์จากโครงการโดยโครงการประกันรายได้เกษตรกร สำหรับชาวนา ได้โอนเงินส่วนต่าง แล้ว 994,930 ราย จำนวนเงิน 19,387.38 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.58 ของงบประมาณทั้งหมด สำหรับประกันรายได้ข้าวงวดต่อไปจะมีการประชุม คณะอนุกรรมการกำหนด เกณฑ์กลางอ้างอิงรอบล่าสุดในวันที่  1 พฤษภาคม 2563
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า และสถานการณ์ราคาข้าวขณะนี้ประเทศไทยกำลังได้เปรียบคู่แข่งค่าข้าวไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินเดีย กัมพูชา เพราะแต่ละประเทศมีข้อจำกัดในการส่งออกข้าว ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสรับคำสั่งซื้อจากผู้ซื้อมากขึ้น ขณะที่เกิดภาวะภัยแล้งน้ำในเขื่อนมีน้อยผู้ประกอบการทั้งโรงสีและผู้ส่งออกเกิดการแย่งซื้อจึงดันราคาข้าวเปลือกและข้าวสารขึ้น  ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าราคาประกันรายได้ของรัฐบาลทุกชนิด ดังนั้น ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมารัฐบาลจะยังไม่มีภาระเรื่องเงินชดเชยส่วนต่างและเกษตรกรสามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้สูงกว่า โดยเฉพาะราคาข้าวเปลือกจ้าวปัจจุบันอยู่ที่ตันละ 10,200 ถึง 10,600 บาทในขณะที่ราคาข้าวสารขาว 5% อยู่ที่ตันละ 16,200 ถึง 16,300 บาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงหากเปรียบเทียบกับราคาเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง  ทำให้การเกษตรที่ปลูกนาปรังมากกว่า 3.6 แสนครัวเรือนซึ่ง ทยอยเก็บเกี่ยวจะได้ราคาดี


ส่วนการช่วยเหลือชาวนาด้าน ต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนั้นข้อมูลสรุป เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2563 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ แจ้งผ่านกรมการค้าภายในว่าได้จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้วจำนวน  4,463,526 ราย  วงเงิน 26,087 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 95.1 ของเป้าหมายวงเงินงบประมาณ  ส่วนด้านการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ทางธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ได้จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้วจำนวน 4,125,026 รายวงเงิน 22,724.5 ล้านบาทคิดเป็น 88.1%  ของเป้าหมายวงเงินงบประมาณ  ที่รัฐบาลช่วยเหลือชาวนา 
"สำหรับ มาตรการคู่ขนาน  คือ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร รัฐบาล จ่ายเงินกู้จำนวน 141 รายโดยกู้แล้ว 7,466.3 ล้านบาทคิดเป็นข้าวเปลือก 626,876.9 ตัน  ส่วนโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2562 / 2563 มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 207,303 ราย ได้กู้แล้วกว่า 13,729 ล้านบาท คิดเป็นข้าวเปลือก 1,316,083 ตัน”

“ไมตรี พวงอินทร์” ยึดการทำบัญชี เปรียบเสมือนคัมภีร์การทำเกษตรแบบพอเพียง



            ครูบัญชีอาสาจังหวัดราชบุรี ใช้บัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ เป็นคัมภีร์ในการทำการเกษตร รู้จักการบันทึกข้อมูลแล้วนำมาคิดวิเคราะห์ จนประสบความสำเร็จ และได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม รองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ ประจำปี 2563
นายไมตรี พวงอินทร์ ครูบัญชีอาสา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ต.เขาชะงุ้ม อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม รองชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ ประจำปี 2563 เล่าย้อนประวัติการประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้ฟังว่า เคยล้มเหลวจากการทำเกษตรแบบพึ่งพาสารเคมีมาก่อน แต่หลังจากเข้าไปศึกษาเรียนรู้ที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี ได้นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้โดยการทำเกษตรตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี 2550 ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 80 คนของประเทศ ด้านหมอดินดีเด่น ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ขับเคลื่อนเกษตรกรเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง และได้พัฒนาหาองค์ความรู้มาต่อยอดสิ่งที่ทำอยู่เสมอ แต่ก็ดูเหมือนว่างานที่ทำอยู่ยังขาดอะไรบางอย่างที่เป็นเป้าหมายในชีวิต จนกระทั่งได้ฟังพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง การทำข้อมูลทางบัญชี ที่ให้รู้จักการบันทึกข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาคิดวิเคราะห์ใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ จึงได้ศึกษาและน้อมนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติเรื่อยมาตามคำแนะนำของสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ราชบุรี จนกระทั่งในปี 2557 ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมครูบัญชีอาสาตามคำชักชวนของประธานชมรมครูบัญชีอาสาจังหวัดราชบุรี ทำให้ยิ่งซึมซับในเรื่องของการทำบัญชีมากขึ้น และเมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ก็ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำเกษตร การประหยัดอดออม การทำบัญชี และการนำข้อมูลทางบัญชีมาวิเคราะห์แล้วนำไปใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชให้แก่ลูกๆ จนลูกๆ มีความโดดเด่นในเรื่องการทำเกษตรและได้รับรางวัลเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกรในชุมชนอีกด้วย


นายไมตรี บอกว่า ปัจจุบันทำเกษตรพื้นที่ 20 กว่าไร่ รูปแบบแปลงเกษตรเป็นแบบผสมผสาน มีพืชผักสวนครัว ไม้ยืนต้น พืชไร่ โดยจะแบ่งเป็นแปลง ๆ ละ 2-4 ไร่ นอกจากนี้ ยังรวบรวมเกษตรกรในชุมชนร่วมกันทำงานกันเป็นกลุ่ม ภายใต้ “กลุ่มเกษตรกรเครือข่ายขยายผลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเขาชะงุ้ม จ.ราชบุรี” ทำเกษตรแบบอินทรีย์และปลอดสาร ส่งผลผลิตจำหน่ายตลาดทั่วไปในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ส่งร้านโครงการหลวง รวมถึงผลิตป้อนตลาดเพื่อสุขภาพ เช่น โรงพยาบาล เป็นต้น โดยจะแนะนำให้เกษตรกรในกลุ่มทุกคนรู้จักการทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพควบคู่กันไปด้วย
ประโยชน์จากการทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพที่นำมาประยุกต์ใช้ ทำให้มีความมั่นคงมากขึ้น ทำให้รู้ที่มาที่ไปของรายได้ทั้งหมดในแต่ละปี แล้วสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ วางแผนการผลิตในปีต่อไปได้ โดยเป้าหมายไม่ได้ต้องการให้ร่ำรวย แต่ต้องการให้เกิดความมั่นคงทั้งครอบครัวและชุมชนมากกว่า ความสุขเหล่านี้เป็นความสุขที่เกิดจากการเห็นทุกคนประสบความสำเร็จไปด้วยกันโดยมีตนอยู่เบื้องหลัง การทำบัญชีทำให้รู้จักเหตุและผล ทำให้รู้จักการพอประมาณตน ทำให้เกิดพลังปัญญา คิดวิเคราะห์จนเกิดแนวทางพัฒนาต่อยอด ดังนั้นการทำบัญชี เปรียบเสมือนคัมภีร์การทำเกษตรแบบพอเพียง เป็นพื้นฐานที่ต้องเรียนรู้ให้เกิดความเข้าใจและเคยชิน


“อยากจะบอกว่าการจดบันทึกสิ่งต่างๆ หรือกิจกรรมที่เราทำอยู่นั้นเป็นเรื่องสำคัญ คนเราจะประสบความสำเร็จได้จะต้องมีการคิดคำนวณและวิเคราะห์ ผมมีคติประจำใจอยู่ว่า ง่าย ไว ใหม่ ใหญ่ ยั่งยืนและมีความสุข นั่นหมายถึง ง่าย คือ ทำอะไรอย่าคิดว่าเป็นเรื่องที่ยาก ไว คือ งานที่ทำต้องไว งานไหนที่จะทำแล้วมันช้ามาก ก็ไม่น่าที่จะทำ ใหม่ คือ งานที่ทำต้องเป็นงานที่ใหม่ด้วย ไม่ซ้ำกับใคร ใหญ่ คือ สิ่งที่เราทำต้องเป็นเรื่องใหญ่ ยั่งยืน คือ ทุกงานที่ทำจะต้องสร้างความยั่งยืน มีความสุข คือ ทุกสิ่งที่ทำจะต้องสร้างความสุขแก่ครอบครัว ชุมชน ตลอดจนประเทศชาติ ซึ่งการทำบัญชีแม้อาจะเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าเราใช้ชีวิตแบบสะเปะสะปะ ชีวิตที่ลำบากมันจะเป็นเรื่องที่ยากกว่า ถ้าอยากใช้ชีวิตให้มีระเบียบให้หันมาทำบัญชีดีกว่า จะทำให้เรามีเป้าหมายที่มั่นคงขึ้น” นายไมตรี ฝากข้อคิดทิ้งท้าย

กรมส่งเสริมการเกษตรปรับวิธีการเรียกบรรจุเข้ารับราชการ อำนวยความสะดวกให้ผู้สอบแข่งขันได้



นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease 2019 : COVID-19) ส่งผลให้กรมส่งเสริมการเกษตรไม่สามารถเรียกผู้สอบแข่งขันได้ เดินทางมารายงานตัวรวมกันจำนวนมากในสถานที่เดียวกันได้ ตามมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้สอบแข่งขันได้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้ปรับวิธีการรายงานตัว เป็นการรายงานตัวผ่านระบบประชุมทางไกล VDO Conference ณ กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเกษตรจังหวัด ที่ผู้สอบแข่งขันได้ลงทะเบียนไว้แทน


 กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอให้ผู้สอบแข่งขันได้ในตำแหน่งนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการจำนวนทั้งสิ้น 253 ราย (พื้นที่ทั่วไป จำนวน 250 ราย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3 ราย) มารายงานตัว เพื่อเลือกหน่วยงานที่จะบรรจุเข้ารับราชการ ในวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ผ่านระบบประชุมทางไกล VDO Conference ณ กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานเกษตรจังหวัด ที่ผู้สอบแข่งขันได้ลงทะเบียนไว้  ทั้ง 54 จังหวัด ดังต่อไปนี้ จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น จันทบุรี ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี น่าน บุรีรัมย์ ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พังงา พัทลุง พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด ระนอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย อ่างทอง อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุบลราชธานี  


ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้สอบแข่งขันได้ทราบแล้วทางไปรษณีย์ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ กองการเจ้าหน้าที่ กรมส่งเสริมการเกษตร โทรศัพท์ 0-2579 3690 หรือสำนักงานเกษตรจังหวัด ใกล้บ้านท่าน

กรมส่งเสริมการเกษตร เผยรายชื่อเกษตรกรเตรียมรับรางวัลอันทรงคุณค่า “เกษตรกร และสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2563”



 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัด ดำเนินการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่มีผลงานดีเด่นในแต่ละสาขา/ประเภท รวม 36 สาขา/ประเภท เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานดีเด่นให้สาธารณชนทั่วไปได้รู้จัก ได้ยึดถือเป็นแบบอย่างตามแนวทางการปฏิบัติงานด้านการเกษตรประจำทุกปี ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ที่มีความสามารถเชิงประจักษ์ทั้งในด้านมีความคิดริเริ่ม กล้าฟันฝ่าอุปสรรค มีความเป็นผู้นำ เสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เป็นนักอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินกิจการทางด้านการเกษตรอย่างขยันขันแข็ง เพื่อให้กิจการด้านการเกษตรประสบผลสำเร็จ ตลอดจนเกิดความยั่งยืนในอาชีพการเกษตรของตนเอง โดยในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้คัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2563 จำนวน 8 สาขา ปรากฏผลดังนี้
เกษตรกรดีเด่น

1. สาขาอาชีพทำสวน ได้แก่ นายนิโรจน์ แสนไชย ปลูกพืชหลัก คือ ลำไย ที่อยู่ เลขที่ 189 หมู่ที่ 1 ตำบลวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูนโทรศัพท์ 081 951 4659


2. สาขาอาชีพทำไร่ ได้แก่ นายไชยสรรค์ อภัยนอก ปลูกพืชหลัก คือ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่อยู่ เลขที่ 177/1 หมู่ 8 บ้านหนองตอ ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ 081 266 1826


3. สาขาอาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นายบุญล้วน โพนสงคราม ปลูกพืชหลัก คือ ทำนา จำนวน 8 ไร่ สวนยางพารา จำนวน 7 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก จำนวน 5 ไร่ สวนไผ่เลี้ยง จำนวน 2 ไร่ และไผ่บงหวาน จำนวน 1 ไร่ ที่อยู่ บ้านเลขที่ 188 ม.8 ต.วังหลวง อ.เฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย โทรศัพท์ 063 909 3722
สถาบันเกษตรกร


1. ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ นายจิตตรง ธนันชัย ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านฉลอง ที่อยู่บ้านเลขที่ 48/1 หมู่ที่ 6 ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โทรศัพท์ 088 414 0781


2. สมาชิกกลุ่มยุวเกษตร ได้แก่ นางสาวจรรยา สิงห์โคตร ประธานสภายุวเกษตรกรโรงเรียนโนนกอกวิทยา ที่อยู่บ้านเลขที่ 92 หมู่ที่ 8 บ้านพีพวย ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ โทรศัพท์ 098 049 4860


3. กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรจักสานต้นคลุ้มบ้านวังตง ที่ทำการกลุ่มเลขที่ 3 หมู่ที่ 4 ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล โทรศัพท์ 062 654 0788


4. กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านฉลอง จังหวัดภูเก็ต ที่ทำการกลุ่มเลขที่ 48/1 หมู่ที่ 6 ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต โทรศัพท์ 076 381 947


5. วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่บ้านหัวฝาย ที่ทำการเลขที่ 46 หมู่ที่ 2 ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ 089 623 5156
 กรมส่งเสริมการเกษตรขอร่วมแสดงความยินดีกับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรที่ได้รับรางวัลในทุกสาขา และพร้อมจะผลักดันพี่น้องเกษตรกรรายอื่นๆ ให้ก้าวไปข้างหน้าเพื่อเป็นฟันเฟืองและเครือข่ายในการร่วมผลักดันภาคการเกษตรให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพของตนเองต่อไปนายเข้มแข็ง กล่าว

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...