วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563

เกษตรฯ นัดคณะ Fruit Board หารือแนวทางบริหารจัดการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากCOVID-19


      กระทรวงเกษตรฯ จัดประชุมคณะกรรมการ Fruit Board ครั้งที่ 3/2563 หารือแนวทางบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19
   นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังร่วมการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board ) ครั้งที่ 3/2563 ว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 รวมทั้งการแก้ไขปัญหาการค้ามะม่วงซึ่งผลผลิตไม่สามารถส่งออกได้ราว 360,000 ตัน และในปี 2563 ได้มีการคาดการณ์ปริมาณไม้ผลที่จะให้ผลผลิต คือ ทุเรียน 584,712 ตัน มังคุด 201,741 ตัน เงาะ 220,946 ตัน และลำไยภาคเหนือ 350,000 ตัน รวมปริมาณแล้วกว่า 1 ล้านตัน โดยจะออกสู่ตลาดมากช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 นอกจากนี้ ยังมีสินค้าเกษตรอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบเช่นกันทั้งพืชผัก ไม้ดอก ประมง ปศุสัตว์ ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีความห่วงใยเรื่องดังกล่าว พร้อมกำชับให้หน่วยงานในสังกัดเร่งหามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยในส่วนของไม้ผลได้ข้อสรุป 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการช่วยเหลือในการกระจายและควบคุมคุณภาพสินค้า มี 4 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการประสานใจเกษตรกรไทยสู่พี่น้องชาวจีนสู้วิกฤต COVID-19 เป้าหมาย ทุเรียน 20 ตัน มังคุด 20 ตัน, โครงการรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคผลไม้ภายในประเทศ Eat Thai First เป้าหมาย 111,000 ตัน, โครงการสินค้าเกษตรไทยปลอดภัยจาก COVID-19 เป้าหมาย รับรอง GAP 70,000 แปลง รับรอง GMP 180 โรง และโครงการหาตลาดใหม่สินค้าเกษตรเพิ่มเติม ได้แก่ จีน UAE ตุรกี และเครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งแต่ละโครงการจะมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบในการกระจายผลผลิตไปยังแหล่งต่าง ๆ และ 2) มาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการ 


            โดยที่ประชุม Fruit Board ได้มีมติเกี่ยวกับแนวทางบริหารจัดการการขนส่งผลไม้ (Logistic) และการกระจายผลผลิตผลไม้ไทย 3 เรื่อง คือ 1) การส่งเสริมการส่งออกมะม่วงไปยังตลาดหลัก ได้แก่ เกาหลี และญี่ปุ่น ซึ่งจากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีมะม่วงส่วนต่างที่ต้องสนับสนุนให้มีการส่งออกไปยังเกาหลี จำนวน 3,800 ตัน และประเทศญี่ปุ่น จำนวน 600 ตัน โดยการขนส่งผลไม้ทางอากาศ ขอสนับสนุนค่าชดเชยการระวางสินค้า กิโลกรัมละไม่เกิน 15 บาท ให้แก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป้าหมายการดำเนินงาน 4,400 ตัน หรือคิดเป็นเงิน 66 ล้านบาท การขนส่งภายในประเทศทางรถยนต์ ให้มีหน่วยงานรวบรวมในลักษณะตลาดกลาง หรือเป็น Hub เพื่อกระจายผลผลิตภายในประเทศต่อ และขอความร่วมมือบริษัทเอกชนต่างๆ ช่วยลดราคาค่าขนส่งผลไม้ลง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้เร่งกระจายผลผลิตผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ หรือบริการขนส่งแทนการซื้อขายปกติ 2) การวางระบบขนส่งและกระจายผลไม้ภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกันในเรื่องดังกล่าว เพิ่มเป้าหมายการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้จากเดิม 61,700 ตัน เป็น 200,000 ตัน โดยมีระบบของสหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลไม้ 90 จุด เป็นจุดกระจายสินค้าในระดับอำเภอ 824 จุด และมีตลาดชุมชนประจำหมู่บ้านอีก 9,048 แห่ง เพื่อจัดการผลผลิตให้สามารถกระจายได้ในพื้นที่ 77 จังหวัด และเชื่อมโยงกับระบบร้านธงฟ้าของกระทรวงพาณิชย์ซึ่งมีอยู่ 50,000 แห่ง มีรถเร่หรือรถพุ่มพวงอีก 300 คัน และจะของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อบริหารจัดการสินค้าเกษตร 450 ล้านบาท ภายใต้เป้าหมาย 200,000 ตัน และ 3) กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงพาณิชย์จะลงนามความร่วมมือ (MOU) “แนวทางบริหารจัดการขนส่งผลไม้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดCOVID-19” ในวันที่ 9 เมษายน 2563  เวลา 11.00 น. ณ ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร ชั้น 4 กระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันพิจารณาทางเลือกในการขนส่งหลายๆ ช่องทางทั้งทางอากาศ ทางบก และทางเรือ เพื่อวิเคราะห์หาจุดคุ้มค่าในการขนส่งระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยเชิญหน่วยงานที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนการกระจายสินค้า 


    ในส่วนของกระทรวงเกษตฯ จะมีกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก สำหรับกระทรวงพาณิชย์จะมีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าภายในเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังมีผู้ให้บริการด้านขนส่งของภาคเอกชน ประกอบด้วย สมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ไทย สมาคมการค้าธุรกิจบริการและผลิตภัณฑ์ผสมผสาน สมาคมผู้ประกอบการผักผลไม้ไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย บริษัท แกร็บแท็กซี่ ประเทศไทย จำกัด บริษัท ไทยฟินเทค จำกัด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เพื่อให้เกิดความมั่นใจในโมเดลเกษตร-พาณิชย์ จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผลไม้ในฤดูกาลนี้ภายใต้ผลกระทบจาก COVID-19 ให้ได้ 


            ด้านนายทวี มาสขาว รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากข้อมูลของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทยสถานการณ์มะม่วง ปี 2563 เกิดปัญหาการส่งออกเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการแพร่ระบาดของ COVID – 19 ทำให้มีการปิดด่านมาเลเซีย สิงคโปร์ ลาว เวียดนาม ที่เป็นแหล่งรับซื้อผลผลิตมะม่วงหลัก ประกอบกับมะม่วงที่จะส่งออกไปทางเกาหลีใต้ และญี่ปุ่นที่เป็นเกรดคุณภาพดีก็มีค่าระวางเครื่องบินสูงมาก ทำให้ผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนที่สูงการซื้อขายมะม่วงเกิดการหดตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งฤดูกาลผลิตมะม่วงในฤดูขณะนี้ก็ใกล้เข้ามาถึงระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน (3 เดือน) คาดว่าจะมีมะม่วงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว ผลผลิตไม่สามารถส่งออกได้ โดยเป็นพื้นที่ผลิตมะม่วงแปลงใหญ่ที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญของประเทศไทย จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย น่าน ลำพูน และเชียงใหม่ พื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 300,000 ตัน ผลผลิตรวม 360,000 ตัน โดยมีผลผลิตในฤดูที่จะเก็บเกี่ยวในระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน (3 เดือน) จำนวน 180,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 และคาดว่าจะมีผลผลิตที่ออกมามากในช่วงกลางเดือนเมษายน – กลางเดือนพฤษภาคม จำนวน 80,000 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 44.44 ซึ่งจำเป็นต้องหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมะม่วงในช่วงวิกฤตการณ์ดังกล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...