กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ พร้อมเข้าช่วยเหลือสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่สมาชิกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้มีปัญหาในการชำระหนี้ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงออกแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศของนายทะเบียน จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะปกติ
นางสาวมนัญญา
ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เปิดเผย ถึงมาตรการช่วยเหลือ เพื่อผ่อนปรนภาระหนี้สินของสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์
ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตระหนักถึงความเดือดร้อนของสมาชิกสหกรณ์และการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ได้รับผลกระทบดังกล่าว
จึงมอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกันกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติ
ที่จะช่วยเหลือและผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกสหกรณ์และสหกรณ์ โดยกำหนดมาตรการช่วยเหลือเป็น
3 แนวทาง ได้แก่ 1.มอบหมายกรมส่งเสริมสหกรณ์ประสานขอความร่วมมือ
ธ.ก.ส. ในการผ่อนผันการชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ โดยขอขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้สหกรณ์ไม่เกิน
20 ปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก
รวมถึงการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับสมาชิก โดยมอบหมายให้กรมตรวจบัญชีสหกรณ์เข้าไปช่วยเหลือด้านการบัญชีให้กับสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ
เพื่อไม่ให้บัญชีติดลบและสามารถดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ต่อไปได้ ซึ่งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่สมาชิกก็จะส่งผลให้มีลูกหนี้ด้อยคุณภาพของสหกรณ์
(NPL) ลดลงอีกด้วย 2.เสริมสร้างสภาพคล่องด้านสินเชื่อ
โดยการประสานให้สหกรณ์ขอกู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส. เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์
โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราไม่ต่ำกว่า MLR-1 ต่อปี 3.ขยายระยะเวลาการชำระหนี้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์
(กพส.) ในสัญญาที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่ในวันที่ 31 มีนาคม 2563 - 30 กันยายน 2563 โดยขยายให้ชำระได้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งสหกรณ์จะต้องผ่อนผันขยายระยะเวลาการชำระหนี้ให้แก่สมาชิกผู้กู้เช่นเดียวกัน
ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกหนี้กองทุนสงเคราะห์เกษตรกรจะได้รับการขยายระยะเวลาการชำระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระออกไปอีก 1 ปี
สำหรับสัญญาที่ครบกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป ให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564
“ทุกมาตรการข้างต้นจะช่วยบรรเทาปัญหาภาระหนี้สินให้กับสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ช่วยผ่อนปรนภาระหนี้สินให้กับสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้มีเงินสำหรับใช้จ่ายในการดำรงชีพและนำไปลงทุนประกอบอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในช่วงสถานการณ์ปัจจุบัน
ซึ่งแต่ละสหกรณ์สามารถเลือกใช้และนำไปปฏิบัติให้เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินงานของสหกรณ์
เพื่อร่วมกันดูแลความเป็นอยู่และแบ่งเบาภาระหนี้สินให้กับสมาชิกสหกรณ์
จนกว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติต่อไป”นางสาวมนัญญา กล่าว
ด้าน นายโอภาส
ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ นางสาวมนัญญา
ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ได้มอบนโยบายในการช่วยเหลือสหกรณ์และสมาชิกด้านหนี้สินและการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับสมาชิกสหกรณ์
ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19
เพื่อให้สมาชิกสหกรณ์ทุกคนผ่อนคลายภาระที่มีอยู่กับสหกรณ์
เช่น การชำระหนี้สิน การจ่ายค่าหุ้น ซึ่งรวมไปถึงหนี้สินที่สหกรณ์มีอยู่กับสถาบันการเงินและหนี้ของสหกรณ์ที่มีอยู่กับกองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยผลจากมาตรการที่ประกาศโดยนายทะเบียนสหกรณ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติการแทนนายทะเบียนสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมจากนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยการจัดชั้นคุณภาพลูกหนี้เงินกู้และการเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ พ.ศ.2544 และคำแนะนำนายทะเบียนสหกรณ์ เรื่อง วิธีปฏิบัติทางบัญชีเกี่ยวกับลูกหนี้ พ.ศ.2547 เพื่อให้มีการประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นไปในทิศทางเดียวกันและบรรเทาผลกระทบทางการเงินที่จะเกิดขึ้นกับสหกรณ์
ซึ่งประกอบด้วย 1.การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ
กรณีที่สหกรณ์ที่กำหนดมาตรการช่วยเหลือสำหรับสมาชิกที่เข้าร่วมและปฏิบัติตามมาตรการฯ
ให้ถือเป็นลูกหนี้ปกติหรือลูกหนี้ที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้
จึงไม่เข้าเกณฑ์การประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยหลักเกณฑ์นี้ อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือตามประกาศของนายทะเบียนในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19
2.การเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน
สหกรณ์ที่กำหนดมาตรการช่วยเหลือสมาชิก ให้เปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินภายใต้หัวข้อ “เงินให้กู้ยืม”
เกี่ยวกับมติที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์
ช่วงระยะเวลาดำเนินการและวิธีต่างๆ
ตามมาตรการช่วยเหลือด้านหนี้สินและปรับโครงสร้างหนี้ของสมาชิกสหกรณ์ รวมทั้งยอดคงเหลือของลูกหนี้ตามมาตรการช่วยเหลือ
ณ วันสิ้นปีทางบัญชี โดยระบุจำนวนรายและจำนวนเงินด้วย
“มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์
พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 ระบุว่า สหกรณ์เป็นคณะบุคคลซึ่งร่วมกันดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของสมาชิกสหกรณ์ผู้มีสัญชาติไทย
โดยช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนั้น
เจตนารมณ์ในการจัดตั้งสหกรณ์ จึงไม่ใช่การทำธุรกิจเพื่อแสวงหากำไร
แต่การทำธุรกิจต่างๆ ของสหกรณ์ ต้องอยู่ภายใต้หลักของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤติที่สมาชิกต่างได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการผ่อนผันการชำระหนี้
การขยายเวลาการชำระหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้
จึงเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุดและเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์
จะเพิ่มความเข้มงวดในการเข้าไปชี้แจง ทำความเข้าใจในเรื่องของการจัดทำบัญชีให้สอดคล้องกับประกาศของนายทะเบียน
จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาสู่ภาวะปกติ” นายโอภาส กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น