วันที่ 1 เมษายน 2563 เนื่องในโอกาสครบรอบ 128 ปี ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปีนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ศาลพระภูมิ ท้าวเวสสุวัณ ศาลตา - ยาย องค์พระพิรุณทรงนาค และองค์พระพิรุณทรงนาคในพิพิธภัณฑ์ จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เป็นประธานพิธีมอบหน้ากากอนามัยให้กับปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อไปแจกจ่ายให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยมีผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วม ณ ห้อง 112 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า รัฐบาลมียุทธศาสตร์ด้านการเกษตร ตามแผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี โดยมีเป้าประสงค์ คือ เกษตรกรหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง สถาบันเกษตรกรมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และสินค้าเกษตรมีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้มีนโยบายพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาคการเกษตรมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบด้านการเกษตรให้ทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer การสร้างภูมิต้านทานของเมืองบนฐานแนวคิดเกษตรและพืชสวน นำไปสู่เมืองแห่ง Green-city ส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประกันราคาสินค้าเกษตร ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและที่ดินทำกินของเกษตรกร
สำหรับในปี 2563 นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มุ่งดำเนินงานนโยบายสำคัญเพื่อพัฒนาภาคการเกษตร อาทิ แนวทางการตลาดนำการผลิต การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ การบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ การส่งเสริมเกษตรปลอดภัย การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนการผลิต การบริหารจัดการการประมงอย่างยั่งยืน การจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรและนวัตกรรม 77 จังหวัด การจัดทำศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ การจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้งระดับชาติ เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์และช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ โดยจะผนึกกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง บนหลักความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
"อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในวันนี้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชากรในหลายประเทศ ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การดำเนินชีวิต สุขภาพอนามัย รวมถึงภาคการเกษตรก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวด้วย จึงได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดหาแนวทางและมาตรการที่จะสามารถช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั้งประเทศ จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 ไปได้อย่างแน่นอน" นายเฉลิมชัย กล่าว
อนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงชื่ออย่างต่อเนื่อง จากกระทรวงเกษตรพนิชการ มาเป็นกระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตรพาณิชยการ กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตร จนมาสู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบัน ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ “ภาคเกษตรก้าวไกลด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลาดนำการผลิต ชีวิตเกษตรกรมีคุณภาพ ทรัพยากรการเกษตรมีความสมดุลและยั่งยืน” โดยมุ่งส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความมั่นคง พัฒนาเศรษฐกิจการเกษตรให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรกรที่มีคุณภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งเสริมงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ตลอดทั้งบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีส่วนราชการในสังกัด จำนวน 22 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) และสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น