วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563

อาจารย์คณะวิศวฯ ม.เกษตรฯ พัฒนา หุ่นยนต์อารักขาพืช 24 ชม. เพื่อลดการใช้สารเคมี



           ปัจจุบันค่าจ้างแรงงานภาคการเกษตรมีราคาสูงและหายาก พืชเศรษฐกิจแต่ละชนิดของไทย ต้องการการดูแลที่แตกต่างกันทั้งการให้นํ้า ให้ปุ๋ย ให้ฮอร์โมน การกำจัดศัตรูพืช และกำจัดวัชพืชได้ในเวลาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ ลดความเสี่ยงจากสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการทำลายผลผลิต อาทิ สภาพอากาศ สภาพดิน โรคพืชและแมลง ขณะเดียวกันก็ต้องประหยัดต้นทุนโดยเฉพาะแรงงาน ดังนั้น ภาคเกษตรของไทยจึงเริ่มมีความต้องการเครื่องจักรกลที่มีความฉลาด ทำงานได้ตลอดเวลา แต่ต้องประหยัดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง


ด้วยเหตุนี้ ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนิสิต และอาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้คิดค้นหุ่นยนต์สำหรับงานอารักขาพืชขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อมาทำหน้าที่แทนคนได้ตลอด 24 ชั่วโมง และประสบผลสำเร็จในการนำไปใช้จริงจากเกษตรกร ผลงานการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์อารักขาพืช ครั้งแรกของประเทศ ของ ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ใช้ชื่อว่า หุ่นยนต์อารักขาพืช แบบ mobile robot” หรือ แบบเคลื่อนที่ ผ่านระบบ remote control ควบคุมจากระยะไกล มีความสามารถทำงานได้หลายอย่าง อาทิ ทำหน้าที่ตัดหญ้าได้ทุกระยะความสูง และการพรวนหญ้าทิ้ง โดยหัวตัดหญ้า สามารถทำงานได้พร้อมกัน 2 หัวตัด ซึ่งจะเร็วกว่ารถตัดหญ้าอื่น ๆ ที่มีแค่หัวตัดเดียวได้ถึง 2 เท่า สามารถเปลี่ยนใบมีดและปรับระดับความสูง-ตํ่า ของการตัดหญ้าได้ว่าจะให้เหลือหญ้าไว้กี่เซนติเมตร


นอกจากนี้ หุ่นยนต์อารักขาพืช แบบ mobile robot ยังสามารถนำมาชดเชยเพื่อลดการใช้สารเคมีได้อีกด้วย โดยจะมีแขนกลฉีดพ่นสาร 2 แขน กางทำมุมได้หลากหลาย ใช้ได้ทั้งไม้ผลทรงพุ่ม และ พืชไร่ พืชผักที่มีความสูงและขนาดที่แตกต่างกัน และสามารถทำภารกิจในการตัดหญ้าและฉีดพ่นไปพร้อ ๆ กันได้ โดยสามารถสั่งงานฉีดพ่นแบบต่อเนื่อง หรือแบบไม่ต่อเนื่อง (เฉพาะจุด) ได้
ความฉลาดของตัวหุ่นยนต์อารักขาพืช ก็คือ สามารถปรับระยะคร่อมร่องพืช โดยการเปลี่ยนแกนเหล็กของเพลาหุ่นยนต์ให้มีความกว้างยาวเพื่อรองรับพืชแต่ละชนิดที่มีระยะปลูกที่แตกต่างกันได้ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และพืชอื่น ๆ โดยการควบคุมหุ่นยนต์สามารถควบคุมผ่าน remote control และควบคุมจาก smart phone ทั้งนี้ สามารถติดตั้งกล้องในหุ่นยนต์ถ่ายทอดสดได้ ในกรณีที่หุ่นยนต์ติดหล่ม ตัวแขนที่ยึดกับหัวตัดหญ้าทั้ง 2 ข้าง สามารถยกขึ้น-ลง ได้อิสระ จะผลักดันตัวเองให้ขึ้นจากหล่มได้


          ผศ.ปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า หุ่นยนต์ตัวนี้ ใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน แต่กรณีหัวตัดหญ้าใช้พลังงานจากเครื่องยนต์ โดยมีถังนํ้ามันขนาดบรรจุ 270 ซีซี (ประมาณ 1 ใน 4 ของลิตร เปลี่ยนขนาดของถังนํ้ามันได้) ซึ่งจะได้กำลังสูงกว่าในการตัดหญ้า หรือ พรวนหญ้า โดยเครื่องยนต์สามารถปั่นไฟเพื่อชาร์จใส่แบตเตอรี่ได้ การเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์ จะเคลื่อนที่คล้าย ๆ รถถังสายพานตีนตะขาบ (แต่ใช้เป็นล้อยางหมุนแทน เพื่อการประหยัดต้นทุน) วิ่งได้ตรงมาก เหมาะสำหรับพืชที่ปลูกเป็นระเบียบ ระยะห่างเป็นแถวเป็นแนว
เกษตรกร ผู้ประกอบการและผู้สนใจ หุ่นยนต์อารักขาพืชสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์  0 – 2797 – 0999 ต่อ 1524

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

สวก.หนุนงานวิจัย “ไข่ผำ”...ขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต

  สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เดินหน้าพัฒนางานวิจัย      ขานรับนโยบาย รัฐบาล สร้างนวัตกรรมอาหารอนาคต ปฏิรูปภาค...